นิด้าโพลเผยผลสำรวจ “วิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3-4” พบส่วนใหญ่เผชิญวิกฤต ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ชี้ต้องแจกเงินตามนโยบายในปีนี้ แต่ไม่โกรธเลยถ้าเลิกแจก
วันนี้ (25 พ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 และ เฟส 4” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค. 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 83.66 ระบุว่าเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน รองลงมร้อยละ 9.70 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่เร่งด่วนร้อยละ 4.20 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใดๆและร้อยละ 2.44 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ
สำหรับการเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 47.17 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 29.47 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง ร้อยละ 15.80 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 7.56 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจใดๆ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 ของรัฐบาลให้กับประชาชนกลุ่มอายุ 16-20 ปี ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 57.25 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ รองลงมา ร้อยละ 33.90 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว ร้อยละ 7.63 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2569 และร้อยละ 1.22 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2570
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 4 ของรัฐบาลให้กับประชาชนกลุ่มอายุ 21-59 ปี ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 62.98 ระบุว่าดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ รองลงมา ร้อยละ 26.95 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว ร้อยละ 8.47 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2569 และร้อยละ 1.60 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2570
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหากนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.12 ระบุว่า ไม่โกรธเลย รองลงมา ร้อยละ 17.41 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ ร้อยละ 15.27 ระบุว่า โกรธมาก ร้อยละ 13.05 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ