สัมมนาวิชาการหัวข้อ "ย้อนมอง 10 ปี นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าไทยกับแลไปข้างหน้า" เผยตลาดบุหรี่ไฟฟ้าโตปีละ 100% เสนอรัฐออกมาตรการควบคุมให้ถูกกฎหมาย เน้นปกป้องเด็ก และเก็บรายได้เข้ารัฐ ด้านทนายชื่อดังชี้กฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าสับสนแถมระบุโทษรุนแรงเกิน สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้ ย้ำการไล่จับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มปัญหาคอร์รัปชัน
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ประจำปี 2568 ในหัวข้อ "Entertainment Complex และ บุหรี่ไฟฟ้า : ทางหลายแพร่ง?" โดยในหัวข้อ "ย้อนมอง 10 ปี นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าไทยกับแลไปข้างหน้า" มีผู้ร่วมสัมมนา ได้แก่ รศ.อุ่นกัง แซ่ลิ้ม อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายมาริษ กรัณยวัฒน์ แอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” และ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิทนายเกิดผลเพื่อประชาชน โดยมีคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าร่วมเข้าฟังสัมมนาในครั้งนี้
รศ.อุ่นกัง แซ่ลิ้ม กล่าวว่า ตนทำวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในมิติด้านเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2557 และพบว่ามูลค่าตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2-3 พันล้านบาท และอัตราการเติบโตอยู่ที่ 100% ทุกปี นอกจากนี้ยังได้ทำวิจัยสอบถามความคิดเห็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกลุ่มตัวอย่างระบุว่าทราบดีว่าทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย แต่บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าและเป็นสิ่งทดแทนการสูบบุหรี่มวนได้ พร้อมกับเสนอให้มีการควบคุมการผลิต และจำหน่าย โดยไม่ได้เปิดเสรี สนับสนุนให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก เพราะมองว่าตนเองมีสิทธิ์ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า
สำหรับมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ รศ.อุ่นกังกล่าวว่า การเก็บภาษีจะทำให้ราคาบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้น เด็กและเยาวชนเข้าถึงยากขึ้น หากมีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและมีการจัดเก็บภาษี รายได้ภาษีจะอยู่ที่ 7-15% ของมูลค่าตลาด
"ผมเข้าใจมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์ ที่พอมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา สิ่งที่ง่ายที่สุดคือทำให้มันผิดกฎหมายไว้ก่อน โดยไม่มีการศึกษาข้อดีข้อเสีย แต่การแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดลง เราก็เห็นว่ามันสามารถหาซื้อได้โดยง่าย โดยเฉพาะทางออนไลน์ ทําให้ผู้ปกครองและสังคมมีความกังวล รัฐจึงควรควบคุมการผลิตและจำหน่าย ผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปี 2560 ซึ่งสามารถเอาบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในกฎหมายนี้เลย และหากมีอะไรที่ยังขัดกฎหมายอยู่ รัฐก็ออกฎหมายเพิ่มเติมได้" รศ.อุ่นกังกล่าว
ด้านวิทยากรรับเชิญ นายมาริษ กรัณยวัฒน์ กล่าวว่า ตนทำเพจบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไรมาสิบกว่าปี ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 100,000 ราย จากเดิมที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ใช้ จนเมื่อมีการแบนในปี 2557 จึงเปลี่ยนเป็นการเรียกร้องสิทธิ์ของผู้ใช้ ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีการควบคุมการใช้งานอย่างถูกกฎหมาย โดยมิได้มุ่งหวังให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ แต่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่เด็กและเยาวชน และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ตนจึงได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ
"ใน กมธ.เองก็มีความคิดเห็นหลากหลาย ซึ่ง 26 เสียงจากกรรมาธิการทั้งหมด 35 ท่านสนับสนุนให้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย ล่าสุดสภาฯ ได้รับทราบรายงานของ กมธ.ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา และตอนนี้รายงานฉบับนี้อยู่ในมือของ ครม. อยากให้ ครม.รีบตัดสินใจ อย่าปล่อยให้ฝุ่นตลบอย่างทุกวันนี้ ควรเร่งทําให้ถูกกฎหมาย อย่างน้อยเราจัดเก็บภาษีได้ ออกมาตรการควบคุมคุณภาพ ควบคุมสถานที่จำหน่าย กำหนดสถานที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องคนไม่สูบบุหรี่ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ดีกว่าปล่อยให้มันอยู่ใต้ดินไปเรื่อยๆ แล้วไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย" นายมาริษกล่าว
สำหรับมิติทางด้านกฎหมาย ทนายเกิดผล แก้วเกิด กล่าวว่า ข้อกฎหมายในการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีความชัดเจน มีข้อบกพร่องมาก "พ.ร.บ.ศุลกากรระบุว่าห้ามนำเข้า พอมาถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีการระบุว่าผู้ครอบครองหรือผู้ใช้ผิดกฎหมาย แต่กลับมีการจับกุมผู้ครอบครอง โดยเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าผู้ครอบครองช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย การกล่าวหาแบบนี้ไม่มีความยุติธรรมกับผู้ครอบครอง" นายเกิดผลกล่าว
นอกจากนี้ นายเกิดผลกล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ไม่อยากขึ้นศาล เกิดปัญหาการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตามมา ในเมื่อยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าผู้ครอบครอบบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายอะไร การบังคับใช้กฎหมายจึงยังสับสน เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ระบุว่า "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" ในเมื่อไม่มีกำหนดไว้ชัดแจ้ง ผู้ครอบครองจึงไม่ควรถูกตั้งข้อหา
"เมื่อตัวกฎหมายสับสน การบังคับใช้กฎหมายจึงไม่ชัดเจน แต่กลับกำหนดอัตราโทษผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงมาก มีโทษเท่ากับเป็นอาชญากร ในขณะที่ยาเสพติดบางชนิด เช่น กัญชาก็ทำให้ถูกกฎหมายได้ ส่วนผู้เสพยาบ้าหรือครอบครองในปริมาณน้อย 5 เม็ด ก็ไม่ผิดกฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้ป่วย ผมอยากเห็นกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความชัดเจน ในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่มีมาตรการควบคุมอย่างถูกต้อง" นายเกิดผลกล่าวทิ้งท้าย