ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ไทยทั้งไก่เนื้อและสุกร ยืนยันมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์และการแปรรูปเนื้อสัตว์ของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับโลกด้านคุณภาพและความปลอดภัย สามารถผลิตเนื้อสัตว์ได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ โดยไม่เกิดการขาดแคลนและยังรักษาราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมหนุนความมั่นคงทางอาหารโลก
ในช่วงที่โลกต้องเผชิญกับการระบาดของโรคในสัตว์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF), โรค PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) ในสุกร, โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก รวมถึงโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ในโค และโรคระบาดในกุ้ง การระบาดเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ แต่ยังสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างชัดเจน
ล่าสุด การระบาดของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่เชิงพาณิชย์ทางตอนใต้ของบราซิล นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ทำให้ประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่รายใหญ่อย่างจีนและสหภาพยุโรป ตัดสินใจระงับการนำเข้าเนื้อไก่จากบราซิลเป็นเวลา 60 วัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพและการจัดการฟาร์มที่มีมาตรฐานสูง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายสำคัญของโลก โดยยกระดับการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity Management) ผ่านการนำระบบ "คอมพาร์ทเม้นต์" (Compartment System) มาใช้ในการจัดการฟาร์มปิดที่มีมาตรการป้องกันโรคเข้มงวดตั้งแต่ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ โรงฟักไข่ ฟาร์มไก่เนื้อ ไปจนถึงโรงงานชำแหละและแปรรูป
ระบบดังกล่าวยังมุ่งเน้นการคัดเลือกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ควบคู่ไปกับการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ประเทศไทยปลอดโรคไข้หวัดนกมากว่า 15 ปี และสามารถรักษาสถานะนี้ได้อย่างยั่งยืน
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อและเนื้อไก่ของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งในด้านการจัดการฟาร์มและคุณภาพความปลอดภัยของเนื้อไก่ ตามแนวทางการผลิตอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment Social Governance : ESG)
ประเทศไทยได้ยกระดับการจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์บกและสัตว์ปีกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Blockchain และระบบเซนเซอร์ที่สามารถตรวจสอบสถานะภายในฟาร์มได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น และสุขภาพสัตว์ นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยให้กระบวนการเลี้ยงและการผลิตมีความโปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและประเทศผู้นำเข้า
ด้านอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเลี้ยงสุกรในไทยได้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด โดยเปลี่ยนจากการเลี้ยงแบบฟาร์มเปิดเป็นระบบฟาร์มปิดเพื่อลดความเสี่ยงจากโรค ASF (African Swine Fever) และ PRRS ที่เป็นภัยคุกคามใหญ่ต่ออุตสาหกรรมทั่วโลก โดยนำเทคโนโลยีเข้าไปติดตั้งในฟาร์มเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์ และวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล ช่วยในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการฟาร์มได้ตรงเป้าหมาย ช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนการผลิต ปัจจุบัน ไทยสามารถจำกัดการระบาดของโรค PRRS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีช่วยในการการตรวจสอบย้อนกลับและการเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ไทยยังคงสถานะปลอดโรคระบาดในสุกร แม้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและจีนจะยังมีการระบาดของโรคนี้อย่างต่อเนื่อง
“การพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ของไทยไม่เพียงสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ แต่ยังส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตเนื้อสัตว์ที่น่าเชื่อถือ พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดภัยระดับโลก” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิล ยังเป็นโอกาสสำคัญให้ไทยจะขยายส่วนแบ่งตลาดส่งออก ด้วยมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดภัยและยั่งยืน ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานนี้ต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลกและเสริมความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน