วิกฤตแล้ว พบสารหนูปริมาณสูงต่อเนื่องในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ล่าสุด สคพ. 1 เผยผลตรวจใหม่ พบการปนเปื้อนน่ากังวลหลายจุด หวั่นกระทบสุขภาพประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง หลังก่อนหน้าก็พบสารหนูเกินมาตรฐานมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่กลางปี 67
จากกรณีพบการปนเปื้อนสารเคมีในลำน้ำกก โดยจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยกองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา สำนักงานบริหารและพัฒนาคุณภาพการจัดการน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ พบปริมาณสารหนูเกินค่ามาตรฐานในหลายช่วงเวลาตั้งแต่กลางปี 2567 ถึงต้นปี 2568 ในแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย ช่วงเดือนกรกฎาคมและกันยายน 2567 และบริเวณอำเภอเชียงแสน (แม่น้ำโขง) ในเดือนสิงหาคม และธันวาคม 2567 รวมถึงช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2568
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. มีรายงานจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ (สคพ.) ที่ 1 เชียงใหม่ เผยผลการตรวจคุณภาพน้ำผิวดินแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาย พบการปนเปื้อนของสารหนูเกินมาตรฐานในหลายจุดที่น่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณก่อนและหลังแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำสายตลอดสาย
จากการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินจำนวน 8 จุด เมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลการตรวจวิเคราะห์โลหะหนักในแม่น้ำกรณ์ แม่น้ำลาว และแม่น้ำสรวย ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจวัดในแม่น้ำกกบริเวณก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน พบค่าสารหนูสูงถึง 0.031 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/l) และเมื่อตรวจซ้ำบริเวณแม่น้ำกกไหลลงแม่น้ำโขง บริเวณสบกก บ้านแซว ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน พบค่าสารหนูสูงขึ้นเป็น 0.036 mg/l ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 mg/l อย่างมาก
สถานการณ์ในแม่น้ำสายยิ่งน่าเป็นห่วง เมื่อผลการตรวจวัดใน 3 จุดหลัก ตั้งแต่บ้านหัวฝาย ตำบลแม่สาย ไปจนถึงบริเวณบ้านป่าซางงาม ตำบลเกาะช้าง พบการปนเปื้อนของโลหะหนักเกินมาตรฐานถึง 2 พารามิเตอร์ คือ ตะกั่ว และสารหนู โดยมีรายละเอียดดังนี้:
* บ้านหัวฝาย ตำบลแม่สาย: ตะกั่ว 0.058 mg/l (มาตรฐาน 0.05 mg/l), สารหนู 0.44 mg/l
* สะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ตำบลแม่สาย: ตะกั่ว 0.063 mg/l, สารหนู 0.45 mg/l
* บ้านป่าซางงาม หมู่ 6 ตำบลเกาะช้าง: ตะกั่ว 0.066 mg/l, สารหนู 0.49 mg/l