xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมหากาพย์แห่งการโกง “รัฐสภาหมื่นล้าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดมหากาพย์ทุจริตสร้างตึกรัฐสภาใหม่ บริษัทนักการเมืองประมูลได้ จัดซื้อจัดจ้างแพงเกินจริง งบ 1.2 หมื่นล้านบานปลายเกือบเท่าตัวเป็น 2.3 หมื่นล้าน ขยายเวลาก่อสร้างให้เกือบ 2 พันวันยังไม่เสร็จ บริษัทผู้รับเหมาต้องถูกปรับกว่า 1.1 หมื่นล้าน แต่สุดท้ายไม่ต้องจ่ายสักบาทเพราะอ้างสถานการณ์โควิด แถมสร้างเสร็จปัญหาเพียบ คุณภาพงานสุดห่วย เปิดใช้ไม่ทันไรของบปรับปรุงอีกกว่า 2 พันล้าน แถมจะสร้างที่จอดรถอีกเกือบ 5 พันล้าน



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการคอร์รัปชันในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย ที่มีชื่อว่า "สัปปายะสภาสถาน" อันหมายถึง สถานที่ประกอบกรรมดี แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นศูนย์รวมของนักการเมือง และนักกินเมือง จนน่าจะได้ชื่อว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งการคอร์รัปชันเสียมากกว่า


อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกเรียกว่า “มหากาพย์แห่งการโกง-ประพฤติมิชอบ” เพราะไม่ว่าจะแตะไปตรงไหนก็มีแต่ปัญหา ทั้งการก่อสร้างที่ล่าช้า จากที่ควรจะเสร็จสิ้นภายใน 3-4 ปี ก็ยืดเยื้อมานานกว่าสิบปี (เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ส่งมอบงานก่อสร้าง 100% เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 พร้อมเงื่อนไขในการแก้ไขข้อบกพร่องชำรุดอีก 2 ปี)

- การก่อสร้างไร้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการก่อสร้าง, ปัญหารั่วซึมตามจุดต่างๆ, ฝ้าเพดานถล่ม, สระมรกตกลายเป็นแหล่งน้ำเน่า, ป้ายบอกทางภายในอาคารไม่มีหรือไม่ชัดเจน และสภาพห้องอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่ทรุดโทรม โดยปัญหาเหล่านี้บ่งชี้ถึงคุณภาพงานก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและการควบคุมงานที่ไม่เข้มงวด ทำให้เกิดคำถามถึงการตรวจรับงานและการใช้วัสดุตามสัญญา


- การจัดซื้อจัดจ้างที่แพงเกินจริง ด้วยงบประมาณในการก่อสร้างมากกว่า 12,280 ล้านบาท และบานปลายอีกหมื่นกว่าล้านไปเป็น 23,000 ล้านบาท

- งบประมาณบานปลาย ระยะเวลาการก่อสร้างยาวนาน รวมไปถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพ ก็เพราะมีการขยายสัญญาการก่อสร้างถึง 4 รอบ กล่าวคือ

ครั้งที่ 1 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ถึง 15 ธันวาคม 2559 รวม 387 วัน
ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ธันวาคม 2559 ถึง 9 กุมภาพันธ์ 2561 รวม 421 วัน
ครั้งที่ 3 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ถึง 15 ธันวาคม 2562 รวม 674 วัน
ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2563 รวม 382 วัน

จนถึงยุค นายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงไม่ยินยอมขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 5 พร้อมเรียกค่าปรับจาก บริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด คู่สัญญารับเหมาก่อสร้าง วันละ 12.28 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ!


เท่ากับว่าค่าปรับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นับจนถึงส่งมอบงาน 100% ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 จำนวน 914 วัน บริษัทรับเหมาก่อสร้างต้องจ่ายค่าปรับมากถึง 11,200 ล้านบาท!!!

แต่ถามว่าได้ปรับเงินจริงหรือเปล่า หรือมีความพยายามในการหาทุกวิถีทางเพื่อช่วยผู้รับเหมา?

นี่เองจึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้รับเหมาก่อสร้างในการก่อสร้างรัฐสภานั้น คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งอยู่ภายใต้ “กลุ่มทุนการเมือง” ของ “ตระกูลชาญวีรกูล” โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ชนะประมูล และมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2556 และลงเสาเข็มเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 สมัยนายชัย ชิดชอบ บิดาของ นายเนวิน ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา

แต่ที่ตลกร้ายยิ่งกว่าคือ นอกจาก ซิโน-ไทยฯ จะไม่ต้องจ่ายค่าก่อสร้างล่าช้าให้กับสภาฯ สักสตางค์แดงเดียว เพราะความพยายามในการขยายสัญญาสำเร็จมาตั้ง 4 ครั้ง รวมถึงการที่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมติมาอุ้มผู้รับเหมาก่อสร้างจากพิษโควิด-19 โดยอ้างว่าเพราะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทำให้ซิโน-ไทย ใช้เป็นข้ออ้างในการยืดระยะเวลาก่อสร้างมาได้อีกเกือบปี!!!


นอกจากได้รับการขยายสัญญา-ไม่ต้องเสียค่าปรับ ซิโน-ไทยฯ ยังฟ้องร้องสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการรัฐสภาเรียกค่าเสียหาย 1,590 ล้านบาท โดยอ้างว่าส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้การก่อสร้างเกินกำหนดเวลาอีกต่างหาก

โชคยังดีที่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ศาลปกครองกลางตัดสินยกฟ้องการจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวของซิโน-ไทยฯ เพราะในเงื่อนไขสัญญาเขียนว่าหากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ผู้รับจ้างไม่อาจเรียกค่าเสียหายใดๆ จากผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างได้ขยายสัญญาก่อสร้างให้แล้ว 4 ครั้ง รวม 1,864 วัน เรียกว่านอกจากงานจะเสร็จช้ายังหวิดเสียค่าโง่อีกด้วย


ล่าสุดโครงการรัฐสภาแห่งใหม่นี้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อ และประชาชนอีกครั้งหลังจากที่รัฐสภาทำเรื่องของบประมาณเพิ่มเติมอีก 2,700 ล้านบาทเพื่อใช้ในการรีโนเวต ทั้งๆ ที่เพิ่งมีการรับมอบครบ 100% ได้ไม่ถึงปี และใช้งานบางส่วนไปเพียง 5 ปีเท่านั้น!

ซึ่งพอสื่อต่างๆ เผยแพร่เรื่องการของบประมาณเพิ่มเติมในการรีโนเวตรัฐสภา ประชาชนก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน จนนายอนุทิน ชาญวีรกูล อดรนทนไม่ไหว แม้ตัวเองจะอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับซิโน-ไทยฯ นานแล้วเพราะมาทำงานการเมือง ก็ไม่วายต้องมาออกตัวแทน


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐสภาผ่านการใช้งานมาแค่ 6 ปี อาคารรัฐสภามีความเสื่อมโทรมจนถึงขั้นต้องปรับปรุงแล้วใช่หรือไม่? นายอนุทินตอบว่า “มีผู้มาใช้งานเป็นหมื่นคน ก็ต้องเสื่อมโทรมเป็นธรรมดา ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งานหนักมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ สมาชิกรัฐสภา และประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการและร่วมกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่อาคารแบบนี้จะต้องซ่อมบำรุง รีโนเวต ปรับปรุง เช่น ลิฟต์ ที่มีการใช้เป็นหมื่นๆ เที่ยวต่อวัน”

เมื่อถามนักข่าวถามต่อว่า แต่บริษัทที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาเป็นบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่? นายอนุทินตอบกลับทันทีว่า “ผมเกี่ยวอะไร ไม่รู้จัก ออกมานานแล้ว!?!”

“คุณอ้างแบบหน้าด้านๆ อ้างแบบข้างๆ คูๆ ว่ารัฐสภาแห่งใหม่มีคนใช้งานเป็นหมื่นคน ลิฟต์ใช้งานวันละหมื่นเที่ยว เปิดมา 4-5 ปี รับมอบงาน 100% มาไม่ถึงปี จำเป็นต้องซ่อมใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ทั้งๆ ที่บริษัทที่ก่อสร้างคุณอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องมานานแล้ว ยังมีสัญญารับประกันหลังก่อสร้างอีกตั้ง 2 ปี ก็ต้องมีแก้ไขสิครับ ไม่ใช่ของบประมาณใหม่

“นอกจากนี้ การที่อ้างว่าอาคารรัฐสภามีคนใช้งานเป็นหมื่นๆ คนต่อวัน เปิดมาไม่กี่ปี ต้องใช้เงินซ่อมหลายพันล้าน เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ถ้าใช้ตรรกะอย่างคุณอย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว สยามพารากอน เอ็มโพเรียม เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศไทยที่มีคนใช้งานวันละหลายหมื่นหลายแสนคน เขาไม่เจ๊งกะบ๊งกันหมดหรือ เพราะวันๆ มีคนใช้งานเยอะกว่ารัฐสภา อภิมหาคอร์รัปชัน ที่บริษัทที่คุณเคยเกี่ยวข้องอยู่ แล้วคุณอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว ได้สัมปทานไป ถ้าเป็นอย่างที่คุณพูดจริง ห้างต่างๆ ที่มีคนใช้งานมากกว่ารัฐสภาสิบเท่า เขาไม่ต้องเตรียมเงินรีโนเวตกันจนเจ๊งกันหมดหรือ” นายสนธิกล่าว


ทั้งนี้ ความไม่ชอบมาพากลของการจัดสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ 5 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง เงื่อนงำเรื่องการล็อกสเปก และกำหนดเงื่อนไข TOR เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาทำให้จากงบเดิม 11,000 ล้าน (ขนาดมีการตัดบางรายการ สาธารณูปโภค ไอซีทีต่างๆ ออก) บานปลายไปเป็น 12,000 กว่าล้านบาท โดยเมื่อประกวดราคาออกมา บริษัทยื่นซองจริงๆ 8 ราย ผ่านคุณสมบัติ 4 ราย ปรากฏว่าซิโน-ไทยฯ เสนอต่ำสุด ได้ราคา 12,280 ล้าน

สอง การเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา ด้วยการขยายสัญญาการก่อสร้างให้ถึง 4 ครั้ง โดยข้ออ้างต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นอ้างว่าส่งมอบพื้นที่ล่าช้า, การอ้างผู้รับเหมาในส่วนอื่นๆ เช่น ช่างระบบไอซีที และระบบแอร์ มาทำงานทำให้การก่อสร้างในภาพรวมล่าช้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณเอามาอ้างไม่ได้ เพราะในสัญญามีข้อที่ระบุชัดเจนว่า “จะอ้างสัญญาอื่นมาขอขยายสัญญาก่อสร้างไม่ได้!”

มีการฉวยโอกาสในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยการ “ยกเว้นค่าปรับจากการก่อสร้างที่ล่าช้า”

ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับซิโน-ไทยฯ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐและภาษีของประชาชน คิดเป็นจำนวนเงินกว่าหมื่นล้านบาท!

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าปรับวันละ 12.28 ล้านบาท เพราะก่อสร้างรัฐสภาล่าช้าแล้ว ซิโน-ไทยฯ ยังทำให้รัฐสภา และประเทศชาติต้องสูญเสียเงินภาษีประชาชนไปอีกวันละ 332,140 บาท โดยเงินจำนวนนี้นั้นเป็นค่าใช้จ่ายใน “การจ้างผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ” ของรัฐสภา เนื่องจากมีการขยายเวลาก่อสร้าง

เอกสารแจ้งเรียกค่าปรับจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถึง กรรมการผู้จัดการ บ.ซิโน-ไทยฯ ลงวันที่ 4 มกราคม 2564
เฉพาะฉะนั้น รวมๆ แล้ว ทุกๆ วันที่ซิโน-ไทยฯ สร้างรัฐสภาล่าช้าออกไปต้องจ่ายเงินคืนให้รัฐสภา และประเทศชาติอีกวันละ 12.6 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคูณ 914 วันเข้าไปก็คือประมาณ 11,500 ล้านบาท!!!

สาม งบประมาณบานปลายมหาศาล แต่งานที่ออกมาบกพร่อง-ห่วยแตก ความล่าช้าดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เริ่มต้นด้วยงบประมาณ 12,280 ล้านบาทแต่กลับบานปลายไปถึง 22,987 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยสาเหตุของการบานปลายนี้มาจากการแก้ไขแบบ การเพิ่มงาน และความล่าช้าในการก่อสร้าง ส่งผลให้ระยะเวลาก่อสร้างยังยาวนานกว่า 11 ปี

ที่น่าสมเพชยิ่งกว่าก็คือ แม้จะบอกว่าเสร็จเรียบร้อยส่งมอบ 100% แล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาการก่อสร้างและข้อบกพร่องในการก่อสร้างอีกบานตะไท แม้เพิ่งเปิดใช้งานเต็มรูปแบบได้เพียง 5 ปี ไม่ว่าจะเป็น

- ปัญหาโครงสร้างในหลากหลายจุด โดยบางจุดนั้นมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดอันตรายอาจถึงแก่ชีวิต เช่น การฝังท่อร้อยสายไฟไว้ตื้นกว่าที่กำหนด


- ปัญหาน้ำรั่วซึมตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องทำงาน ห้องประชุม ลานจอดรถ เวลาฝนตกมาทีน้ำก็ไหลลงมาอย่างกับน้ำตก โดยเฉพาะในช่วงนี้พอเข้าหน้าฝน “แม่บ้านสภา” ก็ต้องมาโกยน้ำ ไม่ให้ไหลเข้าไปในอาคาร

- ฝ้าเพดานถล่ม

- สระมรกตกลายเป็นแหล่งน้ำเน่า

- ป้ายบอกทางภายในอาคารไม่มีหรือไม่ชัดเจน

- สภาพสิ่งก่อสร้างรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทรุดโทรมอย่างรวดเร็วผิดปกติ


ปัญหาเหล่านี้บ่งชี้ถึงคุณภาพงานก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และการควบคุมงานที่ไม่เข้มงวด ทำให้เกิดคำถามถึงการตรวจรับงานและการใช้วัสดุที่ไม่เป็นไปตามสัญญา


สี่ การของบประมาณเพิ่มเติมที่น่าสงสัย พอสร้างเสร็จแล้ว 100% เปิดใช้งานจริงก็มีปัญหาเป็นร้อยเป็นพันจุดต้องซ่อมแซมแก้ไข สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต้องของบประมาณปี 2569 เพิ่มเติมอีกกว่า 956 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน หรือไม่คุ้มค่า ตัวอย่างเช่น

- โครงการพัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D สำหรับห้องบรรยายใหญ่ มูลค่า 180 ล้านบาท

- การปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลังที่ไม่เคยถูกใช้งานมาก่อนด้วยงบ 123 ล้านบาท


- การปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณอีก 118 ล้านบาท ทั้งที่ห้องดังกล่าวก็ใช้งานได้ตามปกติ

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มเติม ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 4,588 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มเติม ทั้งที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ควรจะมีพื้นที่จอดรถเพียงพออยู่แล้วโดยอาคารที่จอดรถใหม่นี้ สามารถจอดรถได้ 4,000 กว่าคัน เท่ากับว่าที่จอดรถ 1 คันมีค่าก่อสร้างสูงถึง 1 ล้านกว่าบาทเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น “พื้นที่จอดรถเดิม” กลับยังมีปัญหาเรื่องน้ำรั่วซึมในที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การผลักดันโครงการใหม่โดยที่ปัญหาเก่ายังคาราคาซัง ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงการวางแผนและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่ รวมถึงความจำเป็นที่แท้จริงของ “อาคารจอดรถขนาดใหญ่แห่งใหม่” มูลค่า 4,600 ล้านบาทว่า ทำไปเพื่ออะไร?

ห้า การร้องเรียน และการตรวจสอบที่อืดเป็นเรือเกลือ แม้มีคนติดตามมาเยอะแล้ว ทั้งสื่อมวลชน ส.ส.-ส.ว. และผู้คนอีกจำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐสภาก็รู้เรื่อง และหลายเรื่องก็มีการร้องเรียนไปแล้วถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.


ทั้งนี้ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. 7 สมัยตั้งแต่ในยุคพรรคพลังธรรม มาจนถึงพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกคนที่รู้เรื่องการก่อสร้างรัฐสภานี้ดีที่สุด และส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึง ป.ป.ช.มากที่สุด ซึ่งมีเรื่องนับเป็นร้อยๆ เรื่องที่นายวิลาศเคยแถลงข่าว และร้องเรียนต่อสื่อมวลชน

นายวิลาศได้ร้องเรียนไปถึง ป.ป.ช.แล้ว 56 เรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรายการที่มีมูลค่าการก่อสร้างและจัดซื้อจัดจ้างมากกว่า 10 ล้านบาททั้งสิ้น แต่การตรวจสอบกลับเดินหน้าไปอย่างเชื่องช้ามาก

วิลาศ จันทร์พิทักษ์
จนกระทั่งบริษัท ซิโน-ไทยฯ พยายามฟ้องปิดปากนายวิลาศถึง 4 คดี ซึ่งนายวิลาศยืนยันว่าไม่ไกล่เกลี่ย และจะเดินสุดซอยทุกคดี เพราะถือเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ยกตัวอย่างคือ

คดีที่ 1 และคดีที่ 2 วันไกล่เกลี่ย ซิโน-ไทย ขอให้นายวิลาศขอโทษและหยุดให้สัมภาษณ์ แต่นายวิลาศไม่ขอโทษ และไม่ไกล่เกลี่ยด้วย เพื่อเรียกเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองออกมาเปิดเผย ซึ่งในที่สุดศาลก็ยกฟ้อง ตอนแรกซิโน-ไทยยื่นอุธรณ์

คดีที่ 3 พอศาลนัดจะตัดสินในช่วงปลายปี 2565 ปรากฏว่า บ.ซิโน-ไทยฯ กลับไปถอนฟ้องหมดทั้ง 4 คดี รวมคดีที่อุทธรณ์ด้วย แต่นายวิลาศทำหนังสือค้านศาลใน 2 คดีท้าย ว่าไม่เห็นด้วยที่จำหน่ายคดี ศาลก็เลยเอากลับไปใหม่ แต่สุดท้ายคดีที่ 3 ก็ยกฟ้อง

คดีที่ 4 โจทก์คือ บ.ซิโน-ไทยฯ ทำหนังสือว่าสละสิทธิ์ที่จะสืบ ศาลก็เลยยกฟ้องเช่นกัน


ทั้งนี้ นายวิลาศจะขึ้นเวที “ความจริงมีหนึ่งเดียว” ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ค.นี้ เพื่อเปิดโปงเงื่อนงำการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่แบบจัดเต็มด้วย

“ท่านผู้ชมครับ เรื่องการก่อสร้างรัฐสภานั้น ด้วยงบหนึ่งหมื่นสองพันกว่าล้านบาท และบานปลายถึงสองหมื่นล้านบาทนั้น เป็นเรื่องที่เลวทรามต่ำช้า นักการเมืองใช้อำนาจทางการเมือง ร่วมกับคนบางคนที่มีตำแหน่งสูงในสภา ยกสัมปทานนี้ให้กับบริษัท ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นบริษัทของนักการเมืองคนไหน คอร์รัปชันกันมาตลอด แล้วนักการเมืองคนนี้ก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ ครม. ซึ่งตัวเองอาจจะนั่งอยู่ในนั้น เพื่อขอให้ยกเลิกค่าปรับที่จะต้องปรับบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างนี้เป็นจำนวนเงินเบ็ดเสร็จหมื่นกว่าล้านบาท

“เปรียบเทียบตึก สตง. กับอาคารรัฐสภาสัปปายะ ท่านผู้ชมว่าใครเลวกว่าใคร จริงๆ มันเลวด้วยกันทั้งคู่ แต่ถ้าดูกรณีนี้ที่เกี่่ยวข้องกับนักการเมือง สตง.นั้นเกี่ยวข้องกับบรรดาผู้ที่ทำงานอยู่ใน สตง. ผู้ใหญ่ใน สตง. แต่รัฐสภานั้นเกี่ยวข้องกับนักการเมือง สตง. เมื่อเทียบกับอาคารรัฐสภาแล้ว สตง. เป็นเด็กเกิดใหม่อย่างแท้จริงเลย ความเลวมีอยู่แล้ว แต่อาคารรัฐสภามันเลวบัดซบมากกว่า สตง.เยอะ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะปล่อย สตง. ไปนะครับ สตง.ก็เลวบัดซบเช่นกัน”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น