xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะของ “รัสเซีย” จากสงครามโลกถึงยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online: Victory day หรือ วันแห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ “รัสเซีย” มีจุดยืนด้านภูมิรัฐศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ และก็เป็นเบื้องหลังของ “สงครามยูเครน” โดยปีนี้เป็นวาระครบรอบ 80 ปี ที่เรียกว่า “ชัยชนะของโซเวียต ในมหาสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิ”

รัสเซียให้ความสำคัญกับ Victory day มากกว่าวันชาติรัสเซีย ในวันที่12 มิถุนายนของทุกปีเสียอีก สาเหตุเพราะว่า “สหภาพโซเวียต เป็นชาติที่สูญเสียมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีทหาร และประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 26 ล้านคน หรือพูดได้ว่า ทุกครอบครัวได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ มีทั้งคนที่เป็นทหารที่ร่วมรบในสงคราม, คนที่ต้องทำงานในคลังอาวุธ เพื่อให้กองทัพมีกระสุน และเสบียงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีชาวโซเวียต ที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานอยู่ในค่ายกักกันแรงงานอีกด้วย

นายเยฟกินี โทมินคิน ทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ระบุว่า ในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่า 70% เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพนาซีเยอรมัน กับกองทัพโซเวียต ซึ่งถ้าเทียบกับเรื่องอาวุธแล้ว กองทัพโซเวียตสู้เยอรมันไม่ได้เลย แต่ทหารโซเวียตได้ยืนหยัดต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว จนได้รับฉายาว่า “กองทหารอมตะ”
แต่ผลที่ได้รับคือ ชาวโซเวียตสูญเสียชีวิตไปมากที่สุดถึง 26 ล้านคน บ้านเมืองและสาธารณูปโภคย่อยยับ เศรษฐกิจสูญเสียเป็นจำนวนมหาศาล


ในทัศนะของชาวรัสเซีย สงครามครั้งนั้นถูกเรียกว่า “มหาสงครามแห่งความรักชาติ” หรือGreat Patriotic war ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยปกป้องบ้านเกิดเมืองนอน คือ สหภาพโซเวียต แต่ยังช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ให้รอดพ้นจากการคุกคามของนาซีเยอรมันด้วย

แต่ดูเหมือน ชาติยุโรปจะไม่คิดแบบนั้น เพราะหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย แตกออกเป็นประเทศต่าง ๆ หลายประเทศก็ไปเข้ากับสหภาพยุโรป และหันกลับมาเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซีย นี่ก็คือ สิ่งที่รัสเซียเจ็บปวด ที่หลายประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยากลำบากร่วมกันในสงคราม กลับพยายามที่จะลบเลือนความทรงจำในประวัติศาสตร์ ที่เคยมีร่วมกันมา

มีเรื่องเล็ก ๆ ที่สะท้อนความแตกต่างในเรื่องนี้ ก็คือ วันที่เยอรมนียอมแพ้ในยุโรป คือ 8 พฤษภาคม แต่เมื่อเทียบเป็นเวลาในโซเวียต ก็จะข้ามวันใหม่ มาเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม ดังนั้น ชาติยุโรปจึงรำลึก Victory Day ในวันที่ 8 พฤษภาคม ส่วนรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียต จะรำลึก Victory Day ในวันที่ 9 พฤษภาคม

ยูเครน ในอดีตก็รำลึก Victory Day วันที่ 9 พฤษภาคม เหมือนกับรัสเซีย และประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แต่ต่อมาในยุคของประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่8 พฤษภาคม ก็เพราะว่า....อยากเป็นยุโรป

นอกจากนี้ ยูเครน ยังพยายามลบความเกี่ยวพันกับรัสเซียให้หมดสิ้น เช่น ยกเลิกการเรียกสงครามโลกว่าเป็น “สงครามปกป้องมาตุภูมิ”, ทุบอนุสาวรีย์ เปลี่ยนชื่อถนน ชื่อสถานที่ที่เกี่ยวกับโซเวียต รวมถึง ยกเลิกการเรียนภาษารัสเซีย

บรรดาประเทศยุโรปยังกล่าวหาด้วยว่า รัสเซียหมกมุ่นอยู่กับ “ลัทธิทหาร” ใช้ประวัติศาสตร์เพื่อรองรับการรุกรานในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังออกคำเตือนให้ผู้นำของประเทศในยุโรปด้วยว่า อย่าไปร่วมงาน Victory Day ที่รัสเซียจัดขึ้น


ผศ.ดร.จิราพร ร่วมพงษ์พัฒนะ ซึ่งได้ไปเรียน และใช้ชีวิตในรัสเซียนานหลายปี บอกว่า สิ่งที่ยูเครนและยุโรปทำ คือ การถอดถอนความทรงจำ ที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย

“เรื่องของการเฉลิมฉลองชัยในวันที่ 9 พฤษภาคม มันก็เป็นเครื่องมือ ถ้าจะบอกว่าเป็นเครื่องมือของรัฐได้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ความรู้สึกนึกคิดของความเป็นปัจเจกแต่ละครอบครัวก็ได้ ยกตัวอย่าง ยูเครน ที่ทุกวันนี้หลังเกิดสงครามกับรัสเซีย ยูเครนได้หันหลังให้รัสเซีย แต่สิ่งที่หนึ่งปฏิเสธไม่ได้ในภาคประชาชน หรือระดับชาวบ้านคือ บุคคลที่อยู่ในครอบครัวของชาวยูเครนก็มีความผูกพันหรือผูกโยงกับเรื่องของสงคราม ที่เรียกว่า สงครามกอบกู้มาตุภูมิ”

ฝ่ายตะวันตกพยายามปั่นกระแสเรื่องการรุกรานยูเครนว่า ปูตินเจ็บปวดกับการล่มสลายของโซเวียต ต้องการจะฟื้นฟูรัสเซียให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความหวาดกลัวรัสเซีย โดยบอกว่า รัสเซียจะไม่หยุดแค่ยูเครน แต่จะรุกรานยุโรปด้วย แต่ดร.จิราพร มองว่า รัสเซียทำไปเพื่อปกป้องความมั่นคงของตัวเองมากกว่า เพราะสิ่งที่รัสเซียกลัวที่สุดก็คือ การแตกออกของรัสเซีย ซึ่งเป็นดินแดนที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก


รัสเซียเคยเผชิญกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาหลายครั้ง ที่รุนแรงที่สุดคือ “กบฏเชชเนีย” ที่เคยก่อการร้าย, บุกยึดสถานที่ต่าง ๆ และสังหารชาวรัสเซียไปมากมาย และเมื่อ รัสเซีย เห็นว่ากลุ่มนาโต้กำลังขยายตัวใหญ่ขึ้น รับสมาชิกเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาประชิดกับพรมแดนของรัสเซีย ก็เลยต้องมีปฏิบัติการตอบโต้

ดร.อดุลย์ กำไลทอง บอกว่า รัสเซียได้ใช้ประวัติศาสตร์ในอดีต เพื่อสร้างความชอบธรรม ให้กับปฏิบัติการในยูเครน

“เหตุผลหลักที่ปูตินจะอ้างตลอดเลย ก็คือว่าเข้าไปเพื่อปราบปราม และก็ทำลายกลุ่มนีโอนาซี ปูตินมองว่า พฤติกรรมของกลุ่มนีโอนาซีที่เกิดขึ้นในบริเวณยูเครนตะวันออก ในดอนบาส ลูฮัน โดเนสก์ ทำพฤติกรรมคล้ายๆ กับที่นาซีเคยทำเมื่อ 80 ปีที่แล้ว พอจุดประเด็นนี้ขึ้นมา เลยทำให้คนรัสเซียรู้สึกว่ามีอารมณ์ร่วม มีความรู้สึกร่วมว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่ชอบธรรม เพราะว่าเป็นการขจัดสิ่งชั่วร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต”

ดร.อดุลย์ กำไลทอง ที่เรียนหนังสือ และใช้ชีวิตในรัสเซียนานหลายปี กล่าวว่า victory day ไม่ใช่แค่เรื่องของการรำลึกถึงอดีต แต่หมายถึงการตอกย้ำว่า สิ่งที่ปูตินทำ หรือรัสเซียทำในวันนี้เนี่ยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็มีข่าวดีรออยู่ก็คือ ทางรัสเซียก็มั่นใจว่า เขาจะชนะแน่ๆ

ผศ.ดร. จิราพร ร่วมพงษ์พัฒนะ ก็คิดเหมือนกันว่า สิ่งที่ปูตินต้องการคือสร้างบทบาทนำของรัสเซีย ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

“รัสเซียต้องการสร้างศูนย์กลางอำนาจนิยมเชิงชาติพันธุ์และชาตินิยม ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรัสเซียอย่างเดียว แต่รวมถึงคนที่เคยมีประวัติศาสตร์ร่วม ความทรงจำร่วมกัน เช่น ไม่ว่าคุณจะเป็นคาซัค อุชเบก อาร์เมเนีย จอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน หรือแม้แต่ ยูเครน เบราลุส ก็ถือว่าเราเคยเจ็บปวดร่วมกันมาก่อน เคยร่วมรบ เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน”.


กำลังโหลดความคิดเห็น