xs
xsm
sm
md
lg

โฟกัสเรื่องกุ้งให้ถูกทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย อนุชา ภควัฒน์

หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้านโยบายเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ ก็เรียกว่าสร้างความสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจไปทั้งโลก ประเทศไทยเองก็ถูกวางตัวเลขภาษีที่จะเรียกเก็บสูงถึง 36% แม้จะยืดระยะเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน (นับตั้งแต่ 9 เมษายน 2568) ก็ไม่ได้ทำให้ความกังวลใจของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมที่ถูกพาดพิงลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง หากไม่พลิกเกมส์ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส เค้าลางของหายนะก็ยิ่งชัดเจน

ปี 2567 ไทยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปตลาดสหรัฐ 27,287 ตัน มูลค่า 10,813 ล้านบาท ภาษีนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์จากไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 0 โดยในรายการนี้เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (2565-2567) พบว่ามีสัดส่วนถึง 30.46% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไปยังตลาดสหรัฐ รองลงไปสหรัฐนำเข้ากุ้งจากอินเดีย 37.04%, เอกวาดอร์ 21.24%, อินโดนีเซีย 16.91% และเวียดนาม 11.40%

อย่าลืมว่ากุ้งไทย มีคู่แข่งสำคัญอย่าง “อินโดนีเซีย-อินเดีย” เมื่อถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีสูงขนาดนั้น ย่อมถึงขั้นแข่งขันไม่ได้ และเสียตลาดให้คู่แข่งไปอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะกุ้งจากอินเดีย ที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีต่ำกว่าไทย 10% หรือกุ้งจากเอกวาดอร์ถูกเรียกเก็บภาษีต่ำกว่าไทยถึง 26% ส่งผลทำให้กุ้งไทยไม่สามารถแข่งขันกับกุ้งจากทั้ง 2 ประเทศนี้ได้ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ไทยต้องหันกลับมาพัฒนาตัวเอง และหาทางแก้เกมส์อย่างเป็นรูปธรรม

อันที่จริง เมื่อสิบกว่าปีก่อน กุ้งไทยเคยเป็นสินค้าฮีโร่ทำรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท และมีตลาดสหรัฐเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญ ปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไปสหรัฐ ในสัดส่วนประมาณ 20% หรือราว 50,000 ตัน รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 20% จีน 20% และกระจายไปในหลายตลาด อะไรคือสาเหตุที่ผลผลิตกุ้งไทยออกสู่ตลาดลดลง

ทางแก้เกมส์ที่ดีที่สุดคือการแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อน เนื่องจากผลผลิตกุ้งไทยหายไปจากระบบจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) รวมถึงโรคระบาดอื่น ๆ แต่ผ่านมากว่า 10 ปี ก็ยังแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ เมื่อเจอปัญหาภาษีของสหรัฐทับถมเข้ามาอีก ผนวกกับการไหลเข้ามาของสินค้าประมงจากเวียดนามเพื่อเลี่ยงภาษีทรัมป์ (ที่ถูกเรียกเก็บถึง 46% หรือ “สูงกว่า” ไทย10%) ... เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อห่วงโซ่การผลิตกุ้งทั้งระบบ และคนเจ็บตัวที่สุดคงหนีไม่พ้น “เกษตรกรไทยผู้เลี้ยงกุ้ง”

ก่อนหน้านี้ ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีข้อเสนอเพื่อช่วยต่ออายุคนในวงการเลี้ยงกุ้งให้รอดหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการแก้ปัญหาโรคระบาดในฟาร์มกุ้ง ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมายาวนาน แต่ไม่สามารถแก้ไขได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังไม่มีแผนส่งเสริมการตลาดอย่างชัดเจนในการรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเดิมเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเร่งขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง อาทิ จีน และอาเซียน ข้อถัดมาคือ รัฐควรเร่งต้องผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย–สหภาพยุโรป (Thailand-EU Free Trade Agreement) หลังสินค้ากุ้งของไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากอียูในปี 2557 ซึ่งทำให้การส่งออกกุ้งไปอียูลดลงอย่างรุนแรงจาก 60,000 ตัน เหลือไม่ถึง 1,000 ตันต่อปี ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทวงคืนส่วนแบ่งตลาดยุโรปคืนมา และสุดท้าย รัฐบาลไทยต้องมีมาตรการและแนวทางต่อรองที่ชัดเจนกับสหรัฐในกรณีภาษีนำเข้ากุ้ง 36% เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของกุ้งไทย

น้ำหนักสำคัญที่สุดที่ดูเหมือนทุกฝ่ายจะตระหนักรู้แล้ว ก็คือ “โรคระบาด” เป็นสาเหตุหลักทำให้ผลผลิตกุ้งไทยเสียหาย การจะแก้เรื่องผลผลิตไม่ควรมองข้ามผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กับภาวะโลกร้อน ตลอดจนคุณภาพน้ำที่ไม่เหมือนเดิม เพราะเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน ทางแก้ไขจึงต้องพิจารณาดำเนินการให้ครบถ้วนรอบด้าน โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ เอกชน เกษตรกร ตลอดห่วงโซ่นี้ต้องหาทางออกร่วมกันและร่วมมือแก้ไขกันอย่างจริงจัง ... อย่ามัวโฟกัสผิดจุดกับบางปัญหาที่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตกุ้งเสียหาย เพราะนั่นจะทำให้หนทางข้างหน้ามืดมน และจะพากุ้งไทยถอยหลังเข้าคลองลึกลงไปอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น