ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลงานวิจัย สถานการณ์ พฤติกรรมการใช้สื่อ และประสบการณ์การถูกหลอกลวงของผู้สูงอายุไทย ปี 2567 พบผู้สูงอายุไทยใช้สื่อออนไลน์มากที่สุด โดยใช้มากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลบวกทั้ง 4 มิติสุขภาวะ ทั้งการบริหารร่างกาย การทำงานจิตอาสา การเข้าร่วมสังคม และการใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่า เข้าใจชีวิต ด้านความเสี่ยงจากมิจฉาชีพพบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มถูกหลอกผ่านสื่อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ถูกหลอกให้ซื้อของคุณภาพไม่สมราคามากที่สุด โดยมีจุดอ่อนคือแม้จะมีการคิดก่อนแต่มักจะ “ไม่ถาม” คือไม่หาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายก่อนตัดสินใจ ส่วนไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุไทย กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ “เกษียณสุขใจ” มีสุขภาพดีพอควร รายได้เพียงพอ เปิดรับสื่อออนไลน์ มองหาความสุขในช่วงชีวิตที่เกษียณ ให้ความสำคัญต่อความสุขในครอบครัว และการมองหาความหมายในชีวิต เผย 4 ฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า หากขาดความร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อจากสังคมในระดับโครงสร้าง ผู้สูงอายุอาจตกอยู่ในความเสี่ยงระดับสูงถึงสูงสุด
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. กล่าวว่า “สสส.ให้ความสำคัญต่อการจัดทำองค์ความรู้ และงานวิชาการ โดยสนับสนุนการจัดตั้ง “ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ” ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการ (knowledge hub) ด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ภายใต้การดูแลหลักของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ผลวิจัยในวันนี้เป็นหนึ่งในงานสำคัญที่ศูนย์วิชาการฯ ได้ดำเนินการศึกษา ‘สถานการณ์การใช้สื่อ ไลฟ์สไตล์ และฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทย’ ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ทั้งเรื่องการใช้สื่อ การรู้เท่าทันสื่อ ความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ จากข้อมูลเราจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุที่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าผู้สูงอายุไทยตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยประเด็นที่ถูกหลอกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือหลอกให้ซื้อของคุณภาพไม่สมราคา ร้อยละ 72.91 และหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ร้อยละ18.39 ในขณะที่เรื่องการหลอกให้ทำบุญก็เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึงเกือบร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 38.80 ในปี 2567 ดังนั้น การสร้างทักษะเท่าทันสื่อ ข้อมูลและดิจิทัลจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ในการรับมือและเท่าทันกับความเสี่ยงที่มากับสื่อและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบให้ประชาชนผู้ใช้สื่อ
ขณะที่ผลประเมินด้านพฤติกรรมรู้เท่าทันสื่อตามแนวคิด ‘หยุด คิด ถาม ทำ’ ซึ่งอยู่ในหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อที่ สสส.ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ ก็พบว่าผู้สูงอายุยังมีระดับการรู้เท่าทันสื่อในระดับปานกลาง โดยมีจุดอ่อนหลักคือ ไม่ถาม (ไม่หาข้อมูลจากหลายแหล่ง) และไม่หยุด (ไม่ยั้งคิดก่อนเชื่อหรือแชร์) ซึ่งเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงผ่านสื่อ ข้อมูลในงานวิจัยยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มของฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้เราสามารถเตรียมความพร้อมและกำหนดทิศทางการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถวางนโยบายเชิงรุกที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมสูงวัยได้”
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การทำงานของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุในปีนี้ มุ่งจัดการและยกระดับความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงสำรวจสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อ และการรู้เท่าทันสื่อ ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 การศึกษาจัดกลุ่มวิถีชีวิตของผู้สูงอายุไทย การวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อและผลิตสื่อด้วยตนเองของผู้สูงอายุ และการศึกษาปัจจัยภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง นโยบาย กฎหมาย จริยธรรม และประชากรในปัจจุบัน เพื่อสังเคราะห์คาดการณ์ (Foresight) ความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุไทย ตามแนวทางของอนาคตศาสตร์ (Future studies) และนำเสนอออกมาเป็นฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทยในสังคมสารสนเทศในอนาคตในปี 2578 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า
ฉากทัศน์ทั้ง 4 แบบที่นำเสนอในวันนี้ ล้วนเป็นภาพสะท้อนอนาคตของสังคมสูงวัยไทยที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางการพัฒนาและการเลือกตัดสินใจร่วมกันของคนในสังคมไทยว่าต้องการให้สังคมสูงวัยไทยเป็นแบบใด ในฉากทัศน์ที่ดีที่สุด เช่น ‘เท่าเทียมและเท่าทัน’ เราจะเห็นว่าการปรับนโยบายเชิงระบบ เช่น การขยายอายุเกษียณ การส่งเสริมทักษะดิจิทัล การมีสื่อที่มีความรับผิดชอบ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในสังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และยังคงเป็นทรัพยากรของชาติ ขณะเดียวกัน ฉากทัศน์เชิงลบ เช่น ‘ห่างเหิน ห่างไกล ขาดความเชื่อใจถ้วนหน้า’ สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น หากสังคมละเลย ไม่เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาข้อมูลเท็จลุกลามโดยไม่มีมาตรการรองรับ ดังนั้น อนาคตของผู้สูงอายุไทยจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่ขึ้นอยู่กับ ‘การเลือกของเราในวันนี้ หากสังคมไทยต้องการให้เกิดฉากทัศน์เชิงบวก จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาว มีนโยบายสอดคล้องกับบริบทจริง และที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และรัฐ ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน”