กระทรวงศึกษาธิการเร่งปรับการศึกษารองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ชูการเรียนการสอนไม่จำกัดแค่ห้องเรียน แต่ทุกคนต้องสามารถเรียนรู้ไปจนตลอดชีวิต สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ผนึกความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนจัดงาน didacta asia 2025 มั่นใจช่วยหนุนนโยบายการศึกษา เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง สร้างศักยภาพการศึกษาไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้น
นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการศึกษาในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทาย และโอกาสใหม่ๆ อันเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การศึกษาไทยจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อกระแสของโลกยุคสมัยนี้ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องรวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ และเทคโนโลยี โดยครูผู้สอนก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกเล่าความรู้มาเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียน นอกจากนี้เทคโนโลยี AI ก็กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในสร้างการเรียนให้เกิดรู้ให้เกิดขึ้นตลอดชีวิตได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินนโยบายเพื่อปรับตัวด้านการศึกษา ทั้งการพัฒนาการเรียน การสอน ให้ความสำคัญต่อระบบการเรียนที่ให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรู้ และลดภาระของนักเรียนและครู อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ เช่น การจัดหาอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลให้กับโรงเรียน เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างเท่าเทียมกัน
“กระทรวงศึกษาธิการยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางภาษา ไม่เพียงแค่ภาษาอังกฤษ แต่รวมถึงภาษาจีน ญี่ปุ่น และภาษาอื่นๆ ด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรสำหรับการทำงานในยุคโลกาภิวัตน์ และยังส่งเสริมทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากใบปริญญา เพื่อให้บุคคลสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดชีวิต นอกจากการพัฒนาภายในระบบการศึกษาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญมาสนับสนุนการศึกษาในโรงเรียน โดยเฉพาะการสร้างพันธมิตรกับบริษัทเอกชนและภาคอุตสาหกรรมเพื่อจัดหาแหล่งการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น” นายพิเชฐกล่าว
ล่าสุด ศธ.พร้อมเดินหน้าเป็นส่วนหนึ่งร่วมจัดงาน didacta asia 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. 2568 เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายพันธมิตรนานาชาติทางการศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีบทบาทในอนาคตด้วย ภายใต้ 6 ความท้าทาย ดังนี้ 1. การเรียน การสอน ในทุกที่ทุกเวลา ผ่านสื่อสมัยใหม่, 2. บทบาทครูผู้สอนจะเปลี่ยนเป็นผู้กระตุ้นและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดความต้องการเรียนรู้ จากเดิมที่เป็นผู้บอกเล่าถ่ายทอดความรู้, 3. การเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทในระบบการศึกษามากขึ้น
4. แนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกกลุ่มวัย, 5. ทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาจีน, ภาษาอังกฤษ และ ภาษาสเปน ที่จะมีความเข้มข้นในระบบการศึกษาไทยมากขึ้น, 6. การเปลี่ยนผ่านสู่การเรียนการสอนที่ยั่งยืน หรือกรีน เอ็ดดูเคชัน ที่ทั้งผู้เรียน และผู้สอนให้ความสำคัญด้านจริยธรรม และคุณธรรมไปพร้อมกัน การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนนโยบายการศึกษา โดยการเชื่อมโยงข้อมูลและความรู้เพื่อให้การศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง การใช้ข้อมูลเชิงลึกจาก didacta asia จะช่วยให้การจัดการศึกษาไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น