xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันแบ่งปันประสบการณ์ 30 ปีหลักประกันสุขภาพ จับมือมุ่งสู่สุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บทความโดย นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย

สุขภาพที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน และเป็นค่านิยมสากลที่ไทยกับไต้หวันต่างยอมรับ การยกระดับสุขภาพไม่เพียงเกี่ยวข้องกับสวัสดิการและความผาสุขของประชาชน ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อพัฒนาการและการอยู่รอดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

การประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 77 ได้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอของ WHO ว่าด้วยแผนปฏิบัติงานฉบับที่ 14 ( General Program of work, GPW14) ปี ค.ศ.2025-2028 ซึ่งได้ครอบคลุมกลยุทธ์การคุ้มครองทางการเงินเพื่อความเท่าเทียมสุขภาพถ้วนหน้าของประชากร อันเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกประเทศปฏิบัติการตามหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) กำลังจะเปิดสมัยประชุมระหว่างวันที่ 19 ถึง 27 พฤษภาคมนี้ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ไต้หวันยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเวลา 30 ปีของตน เพื่อมุ่งสู่สุขภาพที่ดียิ่งขึ้นร่วมกับนานาประเทศในอนาคต ไต้หวันเริ่มมีหลักประกันสุขภาพประชาชนตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 เพื่อเป็นระบบประกันที่บูรณาการให้บุคคลต่างอาชีพต่างสถานะได้ใช้ร่วมกัน จนปัจจุบันครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 99.9 นับเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแท้จริง 30 ปีมานี้ระบบนี้ได้อำนวยหลักประกันสุขภาพที่ยุติธรรม เข้าถึงได้และการรักษาพยาบาลที่ทรงประสิทธิภาพแก่ประชาชนไต้หวัน จนเป็นแบบอย่างของชาวโลกและได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของ Health Care Index ของเดต้าเบสเว็บไซต์ Numbeo ติดต่อกัน 7 ปี

การดำเนินงานด้านการเงินหลักประกันสุขภาพของไต้หวัน ใช้โมเดลรับเรื่องจ่ายทันที และเลี้ยงตัวเองได้ อาศัยการปฏิรูปอัตราเบี้ยประกันและการอุดหนุนจากแหล่งที่มาทางการเงิน เช่น การเก็บภาษีสุขภาพสวัสดิการจากสินค้าประเภทยาสูบ ทำให้สามารถรับมืออย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายของต้นทุนการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอันสืบเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนในการพัฒนาของระบบอย่างมั่นคงสืบต่อไป

เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพของประชากรชาวไต้หวันให้ดียิ่งขึ้น ใน ปีค.ศ. 2024 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อจึงนำเสนอแนวนโยบาย “ไต้หวันสุขภาพดี” โดยยึดแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ถือครอบครัวเป็นแก่นและชุมชนเป็นพื้นฐาน เร่งขยายการส่งเสริมสุขภาพและการบริการเพื่อสุขภาพการป้องกัน ทั้งนี้โดยผ่าน “โครงการแพทย์ประจำครอบครัว” และ “โครงการชุมชนช่วยดูแลถ้วนทั่ว” อำนวยการบริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างครบวงจร อีกทั้งอาศัยเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยยกระดับการบริการรักษาพยาบาลไม่ว่าอยู่ใกล้ไกลเพียงใด ขณะเดียวกันก็ผลักดันการดูแลระยะยาวและการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต บรรลุซึ่งเป้าหมายให้คนชราได้รับความสุขสงบในที่ของตนเอง เป็นหลักประกันการดูแลสุขภาพถ้วนทั่วที่ยึดถือมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และนำมาซึ่งความเสมอภาคด้านสุขภาพที่แท้จริง

นอกจากนี้ ในปี 2021 WHO ยังได้แถลงข้อมูลสุขภาพระดับยุทธศาสตร์ ปี ค.ศ. 2020-2025 ระบุให้พัฒนาและดำเนินการแผนงานเดต้าสุขภาพบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Person-centric) สร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพยากรณ์โรคและการรับมือโรคติดต่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความผาสุขของประชากร ไต้หวันได้พยายามใช้ความโดดเด่นด้านสารสนเทศในการสร้างระบบสาธารณสุขที่มีต้นทุนสูงและประสิทธิภาพสูงมาบริการ ประกอบด้วยระบบประวัติการรักษาคลาวด์ที่เชื่อมต่อกันได้ และอาศัยทรัพยากรการทำงานร่วมกันของการดูแลสุขภาพที่รวดเร็ว (Fast Healthcare Interoperability Resource, FHIR) ทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษากับระหว่างประเทศ อาศัยเทคโนโลยี AI ผลักดันการพัฒนารักษาพยาบาลอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมีการใช้ APP ในการเก็บและดูแลข้อมูลสุขภาพอย่างทันท่วงที ทำให้ประชาชนเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลสุขภาพของบุคคลสะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ตั้งแต่ ปี ค.ศ.2023 เป็นต้นมา ไต้หวันได้บรรจุเวชภัณฑ์บำบัดด้วยยีนและเซลล์ (Cellular and gene therapies) ไว้ในระบบหลักประกันสุขภาพนำร่องการใช้งานการแพทย์แม่นยำ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษา ขณะเดียวกันก็ใช้วิทยาการสมัยใหม่ในการปรับปรุงการแวดล้อมการรักษาพยาบาล พัฒนาการรักษาดูแลอัจฉริยะ ยกระดับการให้บริการ การรักษาพยาบาลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณให้กับประชาชน

นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย
แม้ไต้หวันจะเผชิญหน้ากับความท้าทายทางการเมือง แต่ไต้หวันยังคงพยายามมีส่วนร่วมกิจกรรมสาธารณสุขทั่วโลก มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนระบบสุขภาพสากล และเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้สำหรับนานาประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ประสบการณ์ด้านประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไต้หวันสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงอันมีค่าแก่ทั่วโลกได้ ไต้หวันจะแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจัดการทางการเงิน และระบบสุขภาพดิจิทัลให้กับประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ประเทศอื่นบรรลุเป้าหมายครอบคลุมสุขภาพถ้วนหน้าทั่วโลกที่ประกาศโดย WHO มากยิ่งขึ้น

ความท้าทายด้านสุขภาพไร้พรมแดน ความร่วมมือกันทั่วโลกได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการรับมือวิกฤตสุขภาพ ทว่าเนื่องจากมติสหประชาชาติเลขที่ 2758 และมติ WHA25.1 ได้ถูกบิดเบือนมาโดยตลอด จึงทำให้ไต้หวันไม่สามารถเข้าร่วม WHO ซึ่งเป็นระบบการร่วมมือสำคัญที่สุดของโลก และที่พึงสังเกตคือ มติทั้งสองดังกล่าวมิได้ระบุว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และมิได้ให้อำนาจสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสิทธิ์เป็นตัวแทนไต้หวันใน WHO แต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เป็นไปตามค่านิยมหลัก ความเป็นสากลและความหลากหลายขององค์การสหประชาชาติ เราจึงขอเรียกร้องต่อ WHO และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โปรดคำนึงถึงคุณูปการที่ไต้หวันมีต่อระบบสาธารณสุขของโลกอย่างยาวนานมาตลอด และช่วยกันเรียกร้องให้ WHO เปิดกว้างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ยึดมั่นในหลักการความเป็นมืออาชีพ และความเอื้ออารีอิงตามความเป็นจริง โดยเชื้อเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วม WHA และการประชุมกิจกรรมตลอดจนกลไกต่างๆ ที่จัดโดย WHO รวมทั้งประสานงานความตกลงด้านการระบาดใหญ่ (Pandemic Agreement)  ที่ WHO กำลังหารือกันอยู่

ไต้หวันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้จับมือกับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่มีสุขภาพดีของโลกไร้พรมแดน ร่วมกันทำให้ “สุขภาพคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ตามธรรมนูญของ WHO ให้เป็นจริง และบรรลุเป้าประสงค์ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ.


กำลังโหลดความคิดเห็น