“นิมิตร์ เทียนอุดม” โพสต์แจ้งข่าว “จอน อึ๊งภากรณ์” อดีต ส.ว. นักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้ก่อตั้ง iLaw และสำนักข่าวประชาไท เสียชีวิตแล้ว
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเลขาธิการชมรมพิทักษ์ผู้ประกันตน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งข่าวการเสียชีวิตของนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และสำนักข่าวประชาไท
นายนิมิตร์ระบุว่า “หนึ่งชีวิต ตายจาก ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวที่ได้ทำร่วมกัน ร่วมคิดงาน ถกเถียงกัน และช่วยกันดันจนงานนั้นสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เป็นธรรมดา
นายนิมิตร์เสริมว่า “แต่สิ่งที่แสนจะวิเศษและทำให้ผมเติบโตและกล้าที่จะผลักดันการงานต่างๆ ได้เพราะผมมี อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นเพื่อนร่วมทางตลอดมา...พวกเราจะช่วยกันจัดงานศพให้นะครับ ด้วยรักและเคารพครับ”
นายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ที่ทำงานด้านสังคมและการสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนมาโดยตลอด โดยนอกจากจะก่อตั้ง iLaw แล้ว ยังเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทด้วย
ด้านเฟซบุ๊กของสำนักข่าวประชาไท ได้โพสต์ประวัติของนายจอน โดยระบุว่า นายจอน อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2490 เป็นบุตรชายคนโตของป๋วย อึ๊งภากรณ์ และมาการ์เร็ต อึ๊งภากรณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Sussex ประเทศอังกฤษ
หลังจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จอน อึ๊งภากรณ์ ได้มาเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ให้นักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ 5 ปี
ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16, 6 ตุลาฯ 19 บรรยากาศการเมืองในประเทศอึมครึม นายจอนได้ไปอยู่ประเทศอังกฤษกับบิดา คือนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ และในช่วงนั้นเองตัวเขา บิดา น้องชาย และคนไทยในอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือ "มิตรไทย" เพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ในประเทศไทยให้กับคนไทยในต่างแดนและประชาคมโลก รวมทั้งให้การติดต่อช่วยเหลือนักศึกษาที่หลบหนีภัยการเมือง
หลังจากนั้นนายจอนกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งในตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) คนแรก ในสมัยเดียวกับที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองผู้อำนวยการ และใช้เวลาใน มอส.เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมทำงานกับชุมชนและชนบทเป็นเวลากว่า 10 ปี
ต่อมานายจอนผันตัวเองมาทำงานในโครงการเข้าถึงเอดส์ (ACCESS) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อในสังคมไทย และยกเรื่องเอดส์กับปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นจุดยืนในการทำงานเรื่อยมา และต่อมาเขาได้ร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ในปี 2534-2543
ในปี 2543 จอนได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และดำรงตำแหน่งอยู่ถึงปี 2549
ต่อมาในปี 2547 นายจอนและกลุ่มเพื่อนได้ร่วมกันก่อตั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท ต่อมายังร่วมก่อตั้งองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายองค์กร อาทิ iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ในปี 2552
ในปี 2548 จอนได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ ประจำปี 2548
ในปี 2550 นายจอนเคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาจากคณะรัฐประหาร คมช. เพราะเห็นว่าการเร่งรีบเกินกว่าเหตุและกฎหมายหลายฉบับที่ได้มีความพยายามผลักดันในเวลานั้นเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายต่างๆ และทำให้เขาถูกดำเนินคดีตามมาร่วมกับบุคคลอื่นๆ ที่รู้จักกันว่าคือ “คดีปีนสภา”
ด้านนายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "Chaiyan Chaiyaporn" แสดงความเสียใจต่อการจากไปของนายจอน พร้อมระบุว่า "อาจารย์เคยร่วมต่อต้านทักษิณในปี พ.ศ. 2549 ครับ……ในวันที่ 9 มีนาคม 2549 “จอน อึ๊งภากรณ์” ส.ว.เสียงข้างน้อยขึ้นเวทีเสวนาท้องสนามหลวง ชี้ “ระบอบทักษิณ” ปิดกั้นองค์กรอิสระใช้เงินบล็อกโหวตสภาสูง มีค่าตอบแทนในแบบต่างๆ ย้ำแนวทางไม่ใช่แค่ไล่ “ทักษิณ” ออกไป แต่ต้องกันไม่ให้ “คนอย่างทักษิณ” กลับเข้ามามีอำนาจอีก