รู้จัก "หญ้าหวาน" ที่ "นายกเบี้ยว" อ้างว่าเป็นอาหารของชาวธัญบุรี หลังแห่ลงคะแนนให้ครองเทศบาลธัญบุรียกทีม กรมวิชาการเกษตรเผยหวานกว่าน้ำตาล 300 เท่า แคลอรีต่ำ แถมมีสรรพคุณทางการแพทย์เพียบ ทั้งช่วยย่อยอาหาร ลดน้ำตาลในเลือด ต้านความดัน และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความชรา แต่ก็มีข้อควรระวังในการบริโภคเช่นกัน
จากกรณี นายกเบี้ยวพา “ลูกพีช-แม่น้ำอ้อย” ประกาศชัยชนะครองเทศบาลธัญบุรียกทีม ขอบคุณชาวธัญบุรีที่ยังไว้วางใจ แม้เกิดกรณีดรามาของลูกชาย พร้อมปฏิเสธตนไม่ใช่บ้านใหญ่ แต่เป็นบ้านที่อบอุ่น ยอมรับชาวธัญบุรีกินหญ้า แต่เป็นหญ้าหวาน และจะกินตลอดไป โวยโดนบุคคลที่สามกีดกันลูกพีชไม่ให้เยียวยาสองตายาย
สำหรับ “หญ้าหวาน” ที่ “นายกเบี้ยว” ได้ระบุว่าเป็นอาหารของชาวธัญบุรีนั้น จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni จัดอยู่ในวงศ์ Astcraceac เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือต้นแมงลัก มีสาร Stevioside ซึ่งเป็นสารให้ความหวานคล้ายคลึงกับน้ำตาลทรายมาก และมีความหวานประมาณ 300 เท่าของน้ำตาลซูโครส นอกจากนี้ ยังเป็นสารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย เนื่องจากไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงานในร่างกาย
จากคุณสมบัติของสารหวานดังกล่าว “ในปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นสารที่ให้ความหวานสำหรับอาหาร และเครื่องดื่มบางประเภท โดยใช้แทนน้ำตาลทรายบางส่วนหรือทั้งหมด” ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญคือลดปริมาณแคลอรีในอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
สรรพคุณ แพทย์ผู้ใช้หลายคนยอมรับว่าหญ้าหวานช่วยย่อยอาหาร ป้องกันฟันผุและปริทนต์ รักษาบาดแผล มีดัชนีไกลซีมิกเท่ากับศูนย์ ดังนั้นจะไม่มีผลต่อระบบน้ำตาลในเลือดหลังจากบริโภคและยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อหิวาตกโรค และโรคท้องร่วงอื่นๆ และลดคอเลสเตอรอล
สารสำคัญที่ทำให้มีรสหวานในหญ้าหวาน : เป็นสารประกอบพวกไดเทอร์พีนกลัยโคไซด์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด คือ steviol, steviolbioside, stevioside, rebaudioside A-F และ dulcoside A โดยพบว่า stevioside เป็นสารที่พบในปริมาณมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 2.0-7.7 รองลงมาคือ rebaudioside ประมาณร้อยละ 0.8-2.9 ส่วนสารตัวอื่นจะพบในปริมาณน้อยกว่า นอกจากหญ้าหวานจะเป็นสารปรุงรสหวานอาหารและเครื่องดื่มที่มาจากธรรมชาติ มีรสขมเล็กน้อย ไม่ให้พลังงานและไขมัน ไม่เกิดการสะสมในร่างกายผู้บริโภค รวมทั้งไม่เกิดการดูดซึมในระบบการย่อย
ทำให้มีผลดีต่อผู้บริโภคที่ต้องการลดน้ำหนักและที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ทนต่อภาวะความเป็นกรด-เบส ในช่วง 3-9 ให้ความหวานคงตัวตลอดกระบวนการผลิต ป้องกันการหมักท้าให้ไม่เกิดการเน่าบูด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความแก่แล้ว ยังจัดเป็นโภชนาการบ้าบัดที่ดี เนื่องจากไม่มีความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังต่อสัตว์ทดลอง ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งทางระบาดวิทยายังไม่เคยมีรายงานการป่วยหรือปัญหาต่อสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคหญ้าหวานเป็นประจำแต่อย่างใด
ข้อควรระวัง ถึงแม้สารสตีเวียจะไม่ตกค้างในร่างกายก็ตาม การบริโภคใบหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นจำนวนมาก จะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำตาลกลูโคส และอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นควรบริโภคหญ้าหวานในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ สำหรับปริมาณสารปรุงรสหวานในหญ้าหวานที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน ได้แก่ 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเป็นกิโลกรัมของผู้บริโภค