xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิกร้องสภาวิศวกรกล่าวโทษวิศวกรตึก สตง.ผิดจรรยาบรรณ ชี้อาคารถล่มทำคนตาย-ทรัพย์สินเสียหาย ประจักษ์ชัดว่าทำผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาชิกสภาวิศวกรทำหนังสือถึงนายกสภาฯ และกรรมการจรรยาบรรณเรียกร้องให้กล่าวโทษวิศวกรผู้เกี่ยวข้องตึก สตง.ถล่ม ชี้ทรัพย์สินเสียหาย-ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นความผิดของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเป็นที่ประจักษ์ กรรมการฯ มีอำนาจกล่าวโทษได้เลยโดยไม่ต้องให้มีผู้ร้องเรียน

นายธํารงค์ สมพฤกษ์ สามัญสมาชิกสภาวิศวกร เลขที่ 10238 ทำหนังสือลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 เรียนนายกสภาวิศวกร ประธานกรรมการจรรยาบรรณสภาวิศวกร เรื่อง ให้กรรมการสภาวิศวกรพิจารณาดําเนินการ "กล่าวโทษ" วิศวกรทําผิดจรรยาบรรณ กรณีอาคาร สตง.ถล่ม โดยอ้างถึงการแถลงข่าวเรื่อง “กรณีอาคาร สตง.ถล่ม กับบทบาทของสภาวิศวกร ผ่าน Facebook : สภาวิศวกร เมื่อวันที่ 9 พ.ค. เวลา 16.00 น.

เนื้อความในหนังสือระบุว่า จากที่อ้างถึงการแถลงข่าวของสภาวิศวกร โดย ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร รศ.ดร.ขวัญชัย ลี เผ่าพันธุ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 2 รศ.ดร.การุญ จันทรางศุ ประธานกรรมการจรรยาบรรณ และนายประสงค์ นรจิตร์ ประธานอนุกรรมการกฎหมาย ต่อกรณีอาคาร สตง.ถล่ม จนมีผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจํานวนมากนั้น

ในฐานะสมาชิกสภาวิศวกร ขอแสดงความห่วงใยและใคร่ขอเสนอแนะให้นายกสภาวิศวกร และกรรมการจรรยาบรรณสภาวิศวกร ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายวิศวกร ได้ศึกษารายละเอียดของบทบัญญัติใน พ.ร.บ.วิศวกร 2542 ให้เข้าใจเจตนารมณ์และเหตุผลในท้ายประกาศใช้ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 คือการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมอาจส่งผลต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนได้มาก จึงต้องมีการควบคุมเพื่อกลั่นกรองความรู้ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและเพื่อติดตามดูแลการประกอบวิชาชีพให้ใกล้ชิดกว่าที่เป็นมาแต่เดิม รวมถึงบทบาท อํานาจหน้าที่ของสภาวิศวกรให้ชัดเจน เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความสับสนในอํานาจหน้าที่ของสภาวิศวกร อันจะส่งผลกระทบในความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนต่อสภาวิศวกรและวิศวกรทั่วประเทศ

กรณีอาคาร สตง.ถล่มจนทรัพย์สินเสียหายและมีผู้เสียชีวิตมากมายนั้น เป็นความผิดของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมที่ประจักษ์แก่สายตาสาธารณชน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายวิศวกร สมควรที่นายกสภาวิศวกร และกรรมการจรรยาบรรณสภาวิศวกร จะต้องดําเนินการตามมาตรา 51 วรรค 2 คือการดําเนินการไต่สวนคดีจรรยาบรรณ โดยไม่จําเป็นต้องรอให้มีผู้ร้องเรียนก่อน ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.วิศวกร 2542 มาตรา 33 (2) และมาตรา 51 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า

- มาตรา 33 (2) ให้คณะกรรมการสภาวิศวกรมีอํานาจหน้าที่สอดส่องดูแลและดําเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทําการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้

- มาตรา 51 วรรค 2 กรรมการหรือบุคคลอื่น “มีสิทธิกล่าวโทษ” ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมว่าผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยแจ้งเรื่องต่อสภาวิศวกร

ดังนั้น “กรรมการ” ตาม พ.ร.บ.วิศวกร 2542 หมายถึง “กรรมการสภาวิศวกร” จะต้องดําเนินการ “กล่าวโทษ” การทําผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมกับวิศวกรผู้มีรายชื่อรับผิดชอบงานก่อสร้างอาคาร สตง. ที่ถล่มจนทําให้มีผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตจํานวนมากตามปรากฏเป็นข่าวทางสื่อ โดยแจ้งเรื่องต่อสภาวิศวกรเพื่อดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น