xs
xsm
sm
md
lg

แฉแก๊งเหลือบใน กยศ.บีบปรับโครงสร้างหนี้-ฟ้องคดี - "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ประกาศเป็นตัวแทนลูกหนี้ฟ้องกลับสุดซอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดปมหนี้ กยศ.ที่กลายเป็น NPL ถึง 60-70% เพราะการบริหารงานที่เละเทะ จนขาดสภาพคล่อง ต้องไปรีดเอาจากลูกหนี้ที่ยังพอมีแรงชำระได้ ทั้งเพิ่มการหักเงินเดือน บีบให้ปรับโครงสร้างหนี้ คิดยอดหนี้ใหม่เพิ่มจากเดิมอีกกว่าเท่าตัว ท่ามกลางข้อสงสัยว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้สำนักงานกฎหมายเอกชนที่มารับจ้างฟ้องหรือไม่ ด้าน “สนธิ” ลั่นพร้อมใช้มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน เป็นหัวหอกลุยฟ้องทวงความเป็นธรรมให้ลูกหนี้โดยไม่คิดค่าทนาย



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงปัญหาและความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของ “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ กยศ. ที่คาราคาซังมาหลายปี และมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนรายย่อยมากกว่า 6,400,000 คน แบ่งเป็น ผู้กู้3,600,000 คน ผู้ค้ำประกัน 2,800,000 คน ยอดหนี้ รวม 483,000 ล้านบาท

โดยหนี้ กยศ.มีสัดส่วนหนี้เสีย หรือ NPL สูงถึง 60-70% หรือประมาณ 2.3 ล้านคน จากจำนวนผู้กู้รวม 3.6 ล้านคน โดยต้องนับว่าเป็น “สินเชื่อ” ที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL สูงสุดในบรรดาหนี้ทั้งหมด

ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นที่มีหนี้เสีย NPL สูงมาก แต่สูงสุดก็อยู่ที่เพียง 47% เท่านั้น

หากมองผิวเผินแล้ว หนี้ NPL ที่สูงมากนั้น อาจจะมาจากลูกหนี้ กยศ. ผิดนัดชำระหนี้ หรือ เจตนาไม่ยอมจ่ายคืนหนี้ ไม่มีวินัยทางการเงิน หรือ มีเจตนาเบี้ยวหนี้ แต่หากพิจารณาลึกลงไปแล้ว โดยที่ไม่มีใครคาดคิด คือ ความผิดพลาดจากข้อกำหนดและเงื่อนไขการชำระคืนที่กำหนดให้คืนเงินในอัตราต่ำในปีแรกเพียง 1.5% ของยอดเงินต้น แต่จะเพิ่มสูงขึ้นไปปีต่อๆ ไป จนช่วงงวดท้าย ๆ อาจจะสูงถึง 4 - 5 หมื่นบาท

ในที่สุด เมื่อค่างวดที่เพิ่มขึ้น บวกกับลูกหนี้ส่วนมากประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ เมื่อไม่สามารถผ่อนค่างวดได้ ทำให้ลูกหนี้ ต้องเจอกับค่าปรับสุดโหดในอัตราสูงถึง 18%

สุดท้ายลูกหนี้ กยศ.ที่ไม่สามารถชำระคืนได้อยู่แล้ว ต้องเจอกับเบี้ยปรับจำนวนมหาศาล แล้วลูกหนี้จะมีปัญญาหาเงินที่ไหนมาจ่าย เมื่อค่าปรับสมทบเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้ กลับต้องเจอปัญหาซ้ำเติม เมื่อกฎหมายกำหนดให้เงินที่ผ่อนชำระต้องนำมาหักค่าปรับก่อนเป็นลำดับแรก ตามด้วยดอกเบี้ย และเงินต้นที่มาเป็นลำดับสุดท้าย

จาก “ลำดับการตัดหนี้” ข้างต้น ทำให้ลูกหนี้หลายราย เมื่อจ่ายหนี้ จะถูกนำมาตัดเฉพาะค่าปรับ หรือดอกเบี้ยเท่านั้น ทั้งที่เงินต้นไม่ลดลงเลย บางรายถึงกับท้อ เมื่อชำระหนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เห็นอนาคต ยอดหนี้ไม่ลด ทำให้ไม่จ่ายหนี้ต่อ


ยกตัวอย่าง ลูกหนี้รายหนึ่ง กู้หนี้ กยศ. จำนวน 270,000 บาท ผ่อนชำระมาแล้ว 18 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 362,385 บาท กลับมียอดปิดบัญชีเหลืออยู่ 433,114 บาท แบ่งเป็น เงินต้นคงค้าง 266,500 บาท ดอกเบี้ยคงค้าง 167,333 บาท เบี้ยปรับ 9,311 บาท

เมื่อดูจากยอดปิดบัญชีทำให้พบว่า เงินที่ลูกหนี้นำไปชำระหนี้เอาไปตัดค่าปรับเกือบทั้งจำนวน

เมื่อคำนวณดูแล้ว พบว่า เงินที่ชำระแล้วกว่า 360,000 บาท นำไปตัดเงินต้นเพียง 500 บาทเท่านั้น โดยเงินจำนวน 360,000 บาท คิดเป็นเงินกว่า 134% ของเงินต้นที่กู้มา 270,000 บาท

ถ้าหากลูกหนี้ต้องจ่ายเงินตามยอดปิดบัญชีอีก 443,114 บาาท ลูกหนี้ กยศ.รายนี้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมด 805,499 บาท หรือคิดเป็น 298.33% ของเงินต้น 270,000 บาท !!!

จากปมปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลจึงได้แก้ไข พ.ร.บ.กยศ. โดยมีประเด็นหลัก 2 ประเด็นคือ ลดอัตราค่าปรับจาก 18% เหลือ 0.5% และ ลำดับการตัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้จ่ายชำระจะต้องนำไปตัด "เงินต้น" เป็นอันดับแรกสุด และให้กฎหมายมีผลบังคับย้อนหลังอีกด้วย โดย พ.ร.บ. กยศ. มีผลตั้งแต่ วันที่ 20 มีนาคม 2566


จาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลให้ กยศ. จะต้อง “คำนวณหนี้ใหม่” ให้ลูกหนี้ทั้งหมดเป็นการด่วน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งลูกหนี้ กยศ.จะได้รับผลประโยชน์ และบรรเทาความเดือดร้อนได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กยศ. เมื่อครั้ง นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ยังดำรงตำแหน่งผู้จัดการ กยศ. กลับปล่อยเวลาให้เนิ่นนานกินเวลาเป็นปี โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ และจำนวนลูกหนี้ กยศ. มีจำนวนมาก ทำให้การคำนวณหนี้เป็นไปด้วยความล่าช้า แต่ในระหว่างนั้นกลับบีบให้ลูกหนี้ กยศ. เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ปิดยอด หรือแม้กระทั่งมีการนำเรื่องส่งฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาคดีถึงขึ้นลูกหนี้บางรายถูกยึดทรัพย์

จนกระทั่งเมื่อ วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ได้ออกมาแถลงว่า กยศ. ได้คำนวณยอดหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 3.65 ล้านบัญชีเสร็จแล้ว มีผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์กว่า 2.98 ล้านราย ภาระหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาทโดยผู้กู้ยืมส่วนใหญ่มียอดหนี้ลดลง บางรายสามารถปิดบัญชีได้ และบางรายได้รับเงินคืน ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่คำนวณใหม่ได้ที่หน้าเว็บไซต์ กยศ. ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป หากผู้กู้ต้องการปรับโครงสร้างหนี้จะใช้ยอดหนี้ที่ได้คำนวณใหม่ในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์
ปัญหาที่ดูเหมือนจะจบลงด้วยดี กลับไม่จบ และ กลายเป็นการสร้างความสับสนให้กับลูกหนี้ กยศ. เพิ่มมากขึ้น เมื่อยอดหนี้จากแต่ละที่ไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบ “กยศ. Connect” เว็บไซต์ www.studentloan.or.th และ Loan Statement Report 
เมื่อสอบถามไปยัง กยศ. กลับไม่ได้รับคำอธิบายใด ๆ ไม่ทราบแหล่งที่มา ไม่รู้จะยึดยอดหนี้ไหนเป็นตัวหลัก

ขณะที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข กยศ. ได้พยามยามให้ลูกหนี้เร่งเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดทำระบบอำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้สามารถปรับโครงสร้างผ่านระบบออนไลน์

นอกจากนี้ ยังได้บีบลูกหนี้ ด้วยการส่งหนังสือแจ้งฝ่ายบุคคลของหน่วยงานที่ลูกหนี้ทำงานอยู่ให้หักเงินเพิ่มอีก 3,000 บาท เพิ่มจากเงินค่างวดที่เคยหักเดิมอยู่แล้ว เริ่มจากเดือนเมษายน 2568 ยิ่งทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อน และขาดสภาพคล่องหนักเข้าไปอีก หากไม่ต้องการถูกหักเงินเพิ่ม หรือเจอปัญหา ให้เจรจาและปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. นี้ถือว่าเป็นการบีบให้ลูกหนี้เร่งเข้าสู่กระบวนการหรือไม่?

น.ส.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการ กยศ. คนปัจจุบัน
ล่าสุด น.ส.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการ กยศ. คนปัจจุบัน ได้ออกมาย้ำว่า กยศ. ยังต้องแจ้งหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี ในเดือนพฤษภาคม 2568 และเดือนต่อไปจนกว่าจะไม่มียอดค้างชำระ

ดังนั้น กยศ. ขอให้ผู้กู้ยืมชำระยอดหนี้ที่ค้างหรือติดต่อขอทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์โดยเร็ว ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระของงวดปี 2568 แต่ลูกหนี้ที่อยู่ในระหว่างรอการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ให้นายจ้างสามารถลดจำนวนการหักเงินเดือนให้กับผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบด้านการดำรงชีพในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2568 ได้

นี่มันคืออะไรกัน ผู้จัดการ กยศ. ยังกล้าออกมาตอกย้ำ และ บีบให้ลูกหนี้ กยศ. ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ภายในเดือนกรกฎาคม นี้อีกหรือ?

ทั้ง ๆ ที่ บรรดา “ลูกหนี้” ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนอะไรเลยสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น -เรื่องของยอดหนี้ที่ไม่ตรง
-แหล่งที่มาของยอดหนี้แต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็น ยอดหนี้คงค้าง-ดอกเบี้ย และค่าปรับ
-กยศ.ไม่ได้ให้รายละเอียดถึงแหล่งที่มา และวิธีการคำนวณ แต่อย่างใด? โทรไปก็ตอบไม่ได้ บุกไปถึงสำนักงาน เจ้าหน้าที่ก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เร่งรัดให้ผู้กู้ “ปรับโครงสร้างหนี้” เพื่อให้เป็นหนี้ไปอีก 180 เดือน หรือ 15 ปีอย่างเดียว !?!

ใช่หรือไม่ว่า มันเป็นการบีบลูกหนี้ให้ยอมรับสภาพหนี้ ในจำนวนที่สูงเกินจริง ทั้งที่กฎหมายเองก็มีผลบังคับใช้แล้ว แบบนี้ลูกหนี้จะต้องทำอย่างไร หากเกิดความเสียหาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ใครจะรับผิดชอบ ???


ขณะเดียวกัน รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ ได้รับการติดต่อจากลูกหนี้ กยศ. ที่ได้รับความเดือดร้อน ร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของยอดหนี้ที่ไม่ตรง และความเดือนร้อนจากการหักเพิ่มอีก 3,000 บาท จากงวดที่จ่ายปกติอยู่แล้ว แบบหลั่งไหลกันเข้ามา ไม่หยุด เหมือนเขื่อนแตก เช่น

"Supawadee Singmat" ร้องเรียนเรื่อง กยศ หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท ปกติก็หักผ่านบัญชีอยู่แล้ว ลูกกำลังจะเปิดเทอม หักเพิ่มแบบนี้จะอยู่ยังไง

"เสือ ยังไงก็เป็นเสือ ช่วยหนูด้วยน่ะค่ะทำงาน แลกกับการหักเงินแบบนี้ก็แย่พอแล้ว แทบไม่เหลืออะไรเลยค่ะ หักเพิ่ม 3,000 จาก 1,000 เท่ากับจ่าย 4,000 บาทเลยค่ะ เดือดร้อนจริงๆค่ะ

"นั่ง งง ในวงเหล้า" เรื่องหัก กยศ. เราค้างยอดจริงครับ แต่หัก 3,000 มันเยอะไปภาระของแต่ละคนไม่เท่ากัน จากเดิมหัก 513 บาท เดือนเมษาโดนไป 3,513 บาท ก่อนหักไม่มีการแจ้งอะไรใดๆ ทั้งสิ้น จากเดิมทีหักรอบแรกก็ไม่มีการแจ้งเราก็ยินยอมให้หักทุกเดือน. แต่ครั้งนี้มาหักทีเดียว 3,000 มันหนักไปจริงๆ ครับ

"Nichar TheBest" ร้องเรียนเรื่อง โดนยึดทรัพย์ จาก กยศ. ทำเรื่องระงับที่บังคับคดี ปี 67 พอจะขอถอนบังคับ บอกต้องชำระให้หมด ปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว เป็นหนี้ 470,000 ชำระไป 3 แสนกว่าบาท ตอนนี้กลับมาเป็นหนี้ใหม่ 5 แสนกว่า ตายคงชำระไม่หมด เเน่ๆ กยศ. หักผ่านบริษัท

"Jongjit Sutjaarywat" หลังจากมี พรบ.ปรับลดเบี้ยปรับ กยศ. มีเงินส่วนเกินที่จ่ายแล้ว กยศ.ต้องคืนเงิน ทวงถามมาตลอดไม่ได้รับเงินคืน อ้างว่ายังคำนวณยอดหนี้ใหม่ไม่เสร็จ แต่กลับออกข่าวแจ้งข่าวว่าคำนวณเสร็จแล้วพร้อมจ่าย ออกข่าวกับการกระทำสวนทางกัน ไม่เป็นความจริงคะ ล่าสุดเข้าไปทวงถามเงินที่จ่ายเกินก็บอกว่ายังคำนวณยอดหนี้ใหม่ไม่แล้วเสร็จค่ะ

อันนี้เป็นแค่คำร้องเรียนบางส่วน จากที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องรายการสนธิคุยทุกเรื่อง และมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน จะเดินหน้าฟ้องเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รมว.คลัง ปลัดกระทรวงไปจนถึงผู้จัดการกองทุน เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ลูกหนี้กยศ. เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม

กระชากหน้ากากไอ้โม่งหากินบนความทุกข์ยากของลูกหนี้ กยศ.

ประการสำคัญข้อสังเกตที่ตามมา คือ เรื่องของ การนำเรื่องส่งฟ้องศาล รวมถึงการบังคับคดีตามยึดทรัพย์ ทุก ๆ ขั้นตอนมีผลประโยชน์แอบแฝง หากินบนความลำบากของลูกหนี้

จากข้อมูลที่ได้รับมา การเข้าไปตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ระบุว่า มีขบวนการหากินเปอร์เซ็นต์จากลูกหนี้ กยศ. อย่างไม่ปราณีปราศัย

โดย การส่งเรื่องฟ้องศาล ที่ต้องจ้าง “บริษัทกฎหมายเอกชน” เข้ามารับดำเนินการนั้นมีค่าใช้จ่าย 7,500 บาทต่อ 1 สำนวน


ถ้าตามข้อมูลเมื่อ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผู้จัดการกองทุน กยศ. ได้ออกมาให้ข่าวว่า กำลังจะส่งลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีอีกประมาณ 31,000 ราย ทุนทรัพย์ (มูลหนี้) กว่า 2,800 ล้านบาท พร้อมกับระบุว่า จากการตรวจสอบพบลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายจะถูกฟ้องได้ประมาณ 400,000 ราย ให้รีบติดต่อชำระหนี้หรือเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หากไม่ดำเนินการ กยศ. จะส่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป

ลองเอา 7,500 บาทไปคูณ 31,000 คดี ดูก็จะอยู่ที่ 232.5 ล้านบาท

"นอกจากนี้ ถ้ารวมกรณีจ่อคิวจะฟ้องอีก 4 แสนราย คิดเป็นค่าฟ้องที่ กยศ. จ่ายให้สำนักงานกฎหมายเป็นจำนวนถึง 3 พันล้านบาท นี่เป็นรายได้สำนักงานกฎหมายที่มารับจ้างฟ้องคดี กยศ. ซึ่งเป็นคดีที่ง่าย ง่ายมาก เหมือนคดีเช็คเด้ง ไม่ต้องสืบอะไรมากเลย จำเลยได้ออกเช็คใบนี้ ใช่หรือไม่ ? ใช่ แล้วเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินใช่ไหม ? ใช่ ไม่ต้องสืบพยานแล้ว จบ ศาลก็พิพากษาไปตามหลักฐาน" นายสนธิกล่าว

นี่เป็นรายได้ของสำนักงานกฎหมายที่มารับจ้างฟ้องคดีให้ กยศ. จะได้รับ เพราะฉะนั้น ขบวนการนี้จะร่ำรวยอู้ฟู่แค่ไหนคงไม่ต้องให้บอก !?!

"สมัยนายชัยณรงค์ อยู่เป็นผู้จัดการ กยศ. นั้น กยศ. ได้ใช้ทีมกฎหมายของธนาคารกรุงไทยมาลุยฟ้องแล้วก็รับเงินรับทองไป เยอะแยะไปหมด ใจเย็นๆ ท่านผู้ชม กรุงไทยยังมีอีกดอกหนึ่ง เดี๋ยวผมจะล่อให้ หลังจาก กยศ. ซาลงสักนิดหนึ่ง ก็คือสินเชื่อธนวัฏ ที่คุณปล่อยให้กับข้าราชการกู้ ซ่อนเงื่อนซ่อนงำ เลวระยำต่ำช้ามาก แล้วผมจะมาฉีกหน้ากากออกให้ฟัง" นายสนธิกล่าว


นอกจากนี้ ยังมีรายได้ที่เกิดจากกระบวนการ การพิทักษ์ ยึดทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่จะได้ค่าธรรมเนียมกรณีละ 2,500 บาทอีกต่างหาก

หากคดีไปถึงการบังคับคดี ลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีแล้ว มักจะถูกสำนักกฎหมายบีบบังคับให้หาเงินมาปิดบัญชี โดยไม่ให้มีการผ่อนชำระอีก ทำให้ลูกหนี้ต้องหาทางกู้หนี้ยืมสิน มาคืนเป็นเงินก้อน โดยสำนักงานกฎหมาย จะได้รับผลตอบแทน (INCENTIVE) อีก 9% จากยอดปิดบัญชี

ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาปิดบัญชีได้ สำนักงานกฎหมายจะทำการพิทักษ์ทรัพย์ ยึดทรัพย์สิน ซึ่งสำนักกฎหมาย จะได้รับผลตอบแทนเป็นรายกรณี กรณีอสังหาริมทรัพย์ 2% จากเงินที่ได้รับจากการขายทรัพย์สิน กรณีสังหาริมทรัพย์ 5% ของเงินที่ยึดมาชำระหนี้ได้

"และนี่คือเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในระบบ กยศ. ที่ไม่มีใครกล้าพูด และนี่ครับ คุณนันทวัน ท่านปลัดคลัง ทำไม กยศ. ถึงไม่หยุดฟ้อง เคยชะลอการฟ้องไปครั้งหนึ่งหลังจากที่ผมทำหนังสือร้องเรียนไปยังคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรียุคนั้น ทำไมถึงขยันทำเรื่องฟ้องศาล สิ่งที่น่ากังวลคือสถิติตัวเลขลูกหนี้ กยศ. จะถูกฟ้องคดี คาดว่าจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

"เท่าที่ทราบมา เงินกองทุนฯ ร่อยหรอ เงินหมุนเวียนจะปล่อยกู้ใหม่ต้องขอจากรัฐบาล ไหนจะเงินที่ต้องคืนให้ลูกหนี้ตามกฎหมายใหม่อีก บรรดาผู้บริหารจึงเดินหน้านโยบายทำทุกอย่างให้ได้เงินคืนมาจากลูกหนี้ ทั้งฟ้องและเรียกเก็บค่างวดเพิ่ม ดังที่ลูกหนี้หลายรายประสบนั่นเอง ประกอบกับมีผลตอบแทนมาเกี่ยวข้องทุกขั้นตอนดังที่ดีเอสไอเขาไปตรวจสอบ เจอว่ายิ่งฟ้องมากยิ่งจะได้รายได้มากขึ้น" นายสนธิ กล่าว


ประเด็นสำคัญที่ DSI พบอีกประการก็คือ สำนักงานกฎหมายเหล่านี้ไม่มีการกำหนดขั้นต่ำของมูลหนี้ที่ส่งฟ้อง เรียกว่า ลูกหนี้ติดหนี้ กยศ. ตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ถ้าเข้าเกณฑ์ฟ้องได้ พวกนี้จะฟ้องหมด

ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐ ยกตัวอย่าง ธนาคารออมสิน เขากำหนดขั้นต่ำคดีที่ส่งฟ้องจะมีมูลหนี้ตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากเดิม 30,000 บาท

หากใช้เกณฑ์เดียวกัน จะมีลูกหนี้ กยศ. จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีมูลหนี้น้อยไม่จำเป็นต้องถูกฟ้อง และ กยศ. ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากในการฟ้องร้องคดี หรือนี่จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์แก่บริษัทกฎหมายที่ดำเนินการฟ้อง? ซ้ำเติมทุกข์ให้แก่ผู้เป็นหนี้ กยศ.

ลำพังด้วยระบบการทำงานของ กยศ.ที่ไร้ประสิทธิภาพทำให้ลูกหนี้ไม่ได้รับความยุติธรรมก็ทุกข์หนักหนาแล้วมาเจอกับขบวนการฝูงอีแร้งที่รุมทึ้งกองหนี้นี้อีก

กลายเป็นใครที่กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาโดยหวังว่าการศึกษาคือการลงทุนเพื่อจะมีอนาคตที่ดี แต่ชีวิตจริงจบมาหลายปีแล้วมาทำงานได้เงินเดือนก็ยังผ่อนชำระให้ กยศ. ไม่จบไม่สิ้น ได้รับการคิดคำนวณยอดหนี้กับดอกเบี้ย และเบี้ยปรับหากผิดนัดชำระหนี้อย่างไม่แฟร์ อับจนปัญญาไม่สามารถผ่อนชำระได้อีกต่อไปก็ยอมจำนน มูลหนี้ก็พอกพูนขึ้นล้นพ้นตัว สุดท้ายถูกฟ้อง ถูกบังคับคดีให้ไม่มีทางออก จำเป็นต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้ กยศ. เป็นแบบนี้วนเป็นวงจรอุบาทว์


ดังที่เคยวิเคราะห์ให้ฟังไปก่อนหน้านี้แล้วว่า สาเหตุของปัญหาหนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่มาจากคนที่เป็นหนี้ในระบบนี่เองที่ถูกบีบบังคับเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้จนต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ

เพราะฉะนั้น ลูกหนี้ กยศ. หรือ ลูกหนี้คนไทยหลายล้านคน หลายล้านครัวเรือน จึงเป็นลูกหนี้ที่ผ่อนหนี้ทั้งชาติก็ไม่จบไม่สิ้น

“เป็นคนไทยนี่มันน่าทุเรศ น่าสมเพช น่าอดสูใจไหม ที่ผมพูดมาเนี่ย ผมเข้าใจดีว่ามีคนที่เบี้ยวหนี้ กยศ. อยู่ ไม่เป็นไร ก็ว่ากันไปตามการณ์ แต่ที่ กยศ. ไม่เคยตอบคำถามได้ ยอดหนี้ที่มึงไปคิดเขา ตัวเลขตัวไหนเป็นตัวที่ถูกต้อง แล้วคุณคิดเขาอย่างไร เปิดเผยหน่อยได้ไหม มุบมิบทำกัน

“ลูกหนี้คือคนที่เคยกู้ กยศ. เรียนหนังสือหนังหามา เพิ่งจบ ไม่มีคนที่นำทางให้ ไม่มีคนที่ให้คำปรึกษา ตอนนี้เขามีที่ปรึกษาแล้ว ทนายไม่ต้องเสียเงิน มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน จะเป็นหัวหอกลุยฟ้องให้หมด ไม่ว่าจะเป็นศาลทุจริตประพฤติมิชอบ ศาลแพ่ง หรือ ศาลปกครอง ผมให้สัจจะวาจากับพี่น้องที่ติดตามเรื่องนี้ และได้รับทุกข์ แล้วถูกกลั่นแกล้งรังแก ว่าผมและอาจารย์ปานเทพ จะเรียกร้องความยุติธรรมคืนมาให้พี่น้องประชาชนที่ถูกแกล้งและรังแก ที่รัฐบาลไม่สนใจเลยแม้แต่นิดเดียว มาเถอะ ผมมีแรงเท่าไร ผมจะทำให้เต็มที่”
นายสนธิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น