xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ จี้สอบเอาผิดทางวิชาชีพวิศวกรเอี่ยวตึก สตง.ถล่ม อย่าอ้างรอคดีอาญา คนตายเป็น 100 พ.ร.บ.ฯ ให้อำนาจทำได้เลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจสภาวิศวกรออกจดหมายเปิดผนึก จี้สภาวิศวกรเรียกสอบวิศวกรผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม เพื่อเอาผิดทางวิชาชีพ กู้วิกฤตศรัทธาที่มีต่อวิชาชีพวิศวกรกลับคืน ชี้ประธานจรรยาบรรณฯ ยังเข้าใจผิด อ้างต้องรอให้คดีอาญามีคำพิพากษาสิ้นสุดก่อน ทั้งที่ พ.ร.บ.วิศวกรฯ ให้อำนาจทำได้เลย เพื่อกู้ภาพลักษณ์กลับคืนมาโดยเร็วแต่กลับไม่ทำ

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ดร.ไกร ตั้งสง่า ผู้ตรวจสภาวิศวกร ทำหนังสือเปิดผนึกถึงสภาวิศวกร มีเนื้อหาดังนี้:

บทบาทและการดําเนินการของสภาวิศวกรต่อกรณีตึก สตง.ถล่ม

อาคารถล่มของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ก่อให้เกิดคําถามมากมายต่อบทบาทและความรับผิดชอบของสภาวิศวกรในฐานะองค์กรกํากับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม จากข้อมูลที่ทางสื่อเปิดเผยออกมา สามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

1. การชี้แจงและแถลงการณ์ : สภาวิศวกรได้ออกมาชี้แจงและแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในหลายโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 เพื่ออธิบายบทบาทของสภาฯ เหตุการณ์ดังกล่าว และเน้นย้ำว่าการแสดงความคิดเห็นของกรรมการสภาฯ บางท่านก่อนหน้านี้ว่าเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล โดยการสื่อสารในนามสภาวิศวกรจะกระทําผ่านช่องทางและบุคคลที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการเท่านั้น

2. การตรวจสอบจรรยาบรรณ: ผู้ตรวจสภาวิศวกรได้ยื่นหนังสือถึงนายกสภาวิศวกร เพื่อขอให้ดําเนินการเอาผิดทางจรรยาบรรณกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับกรณีตึก สตง.ถล่ม ตามมาตรา 33(2) แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ซึ่งนำไปสู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาโทษทางวิชาชีพต่อไป มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบวิศวกรใน 4 ส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สตง. (ในฐานะเจ้าของโครงการ), วิศกรออกแบบ,วิศวกรควบคุมงาน และบริษัทผู้รับเหมา ประเด็นเรื่อง “วิศวกรขายลายเซ็น” หรือการที่วิศวกรลงนามรับรองงานโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อสังเกตศวกรผู้ควบคุมงาน

3. วิกฤตศรัทธาต่อวิชาชีพ : เหตุการณ์อาคาร สตง.ถล่ม สะท้อนถึงวิกฤตศรัทธาต่อวิชาชีพวิศวกรรม เมื่อสภาวิศวกรออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รับรองความรู้ความสามารถแก่วิศวกรทั่วประเทศ เมื่อตึก สตง.ถล่มจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตผู้คน และทรัพย์สินราชการมากมาย จากการปฏิบัติงานของวิศวกรที่สภาวิศวกรให้การรับรองมาตรฐาน

สภาวิศวกรกำลังเผชิญกับการท้าทายครั้งสำคัญในการแสดงบทบาทผู้นำและผู้กำกับดูแลวิชาชีพวิศวกรรมท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความคาดหวังจากสังคมให้ดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ไม่ล่าช้า การลงโทษผู้กระทําผิดอย่างจริงจัง รวมถึงการออกมาตรการป้องกันปัญหาในระยะยาว จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของสภาวิศวกร รวมถึงคณะกรรมการสภาวิศวกร (สมัยที่ 8) จะต้องแสดง “ภาระความรับผิด (Accountability )” เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ความศรัทธาของสังคมส่วนรวมกลับคืนมา


ดร.สง่าให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อวานมีการแถลงข่าวสภาวิศวกรเรื่องตึก สตง.กลายเป็นว่าประธานจรรยาบรรณ ประธานอนุญาต กฎหมาย นายกสภา พูดขัดกันเอง ความเห็นต่างกัน ไม่ทราบหลายท่านบนเวทีเข้าใจความต่างระหว่างกฎหมายปกครองกับกฎหมายอาญาหรือไม่

กฎหมายปกครอง เช่น จรรยาบรรณของสภาวิศวกร ใช้กับสมาชิกผู้มีใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม กฎหมายอาญาเช่น ตำรวจใช้แจ้งความผิดในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมทำให้เกิดมีผู้เสียชีวิต

ประธานจรรยาบรรณเข้าใจผิดว่าต้องรอให้ศาลพิพากษาอันที่สิ้นสุด ถึงจะมาต่อคดีจรรยาบรรณได้ ซึ่งไม่ใช่ จรรยาบรรณวิศวกรมีผลบังคับใช้คือตักเตือน พักใช้ใบ หรือเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น แล้วไปต่อคดีอาญาหรือคดีแพ่งจากนี้

กรณีประธานจรรยาบรรณบอกว่าต้องมีผู้มาร้องแจ้งทุกกล่าวโทษ ถึงจะดำเนินการต่อ พิจารณาว่าจะดำเนินคดีจรรยาบรรณหรือไม่ ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น กรรมการสภามีหน้าที่ตามมาตรา 33 วงเล็บสอง กล่าวว่า สอดส่องดูแลผู้ละเมิดกฎหมายพระราชบัญญัติฉบับนี้

กรรมการสภาทำได้เลยด้วยเหตุผลตึก สตง.ถล่ม มีคนเสียชีวิตกว่า 100 คน เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

กรรมการสามารถเรียกวิศวกร สตง. วิศวกรออกแบบ วิศวกรคุมงาน และวิศวกรของผู้รับเหมามาไต่สวน เพื่อหาความจริง และลงโทษ ปล่อยเวลารวดเร็ว เพื่อกู้ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของอาชีพวิศวกรให้กับคืนมาโดยเร็ว แต่สภากลับไม่ทำ


กำลังโหลดความคิดเห็น