สัตวแพทย์ยืนยันว่า เนื้อหมูปลอดภัยสำหรับการบริโภค และไม่ใช่พาหะของโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ผู้บริโภคควรปรุงสุกทุกเมนูและเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่ถูกสุขอนามัยได้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อความมั่นใจ
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่มีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) สมาคมฯ ขอชี้แจงว่า แอนแทรกซ์เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย Bacillus anthracis สามารถพบได้ในดินและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เชื้อดังกล่าวมักจะส่งผลกระทบต่อสัตว์กินพืชและเคี้ยวเอื้อง สัตว์พาหะหลัก เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และอูฐ แต่ ไม่แพร่ระบาดในหมู
“ประชาชนสามารถบริโภคเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย หากปรุงสุกอย่างทั่วถึงที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งจะสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ควรรับประทานเนื้อหมูที่ ดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อน” นายสัตวแพทย์วรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ถูกสุขลักษณะและได้รับการรับรองคุณภาพ เช่น กรมปศุสัตว์ หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน การบริโภคเนื้อหมูจากร้านที่มีมาตรฐานและสุขลักษณะที่ดี จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเนื้อหมูมีความสะอาดและปลอดภัย ที่สำคัญการปรุงสุกที่อุณหภูมิดังกล่าวข้างต้นเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อาจตกค้างได้
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ กล่าวย้ำว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ติดเชื้อหรือซากสัตว์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติการระบาด หากจำเป็นต้องสัมผัสเนื้อสัตว์ ควรสวมถุงมือ หน้ากาก และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือเมนูที่ปรุงไม่สุกทั่วถึง เช่น ลาบดิบ ก้อย หรือต้มสุก ๆ ดิบ ๆ
นอกจากนี้ การรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Streptococcus Suis ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ (Streptococcal meningitis) ที่ทำให้เกิดอาการไข้สูง ปวดเมื่อย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการได้ยินถาวร หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น การปรุงสุกอย่างทั่วถึงจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด”
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอเน้นย้ำว่า ประชาชนไม่ต้องตระหนกกับข่าวสาร แต่ควรศึกษาข้อเท็จจริงและปรุงสุกเนื้อหมูก่อนบริโภคทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของทุกคน