รอง ปธ.อาวุโส อิตาเลียนไทยฯ เผยแบบตึก สตง.ขัดแย้งกันเพียบ ทั้งแบบโครงสร้างขัดแย้งกับงานสถาปัตย์ แบบสถาปัตย์ขัดแย้งกับงานระบบ งานระบบขัดแย้งกับงานตกแต่งภายใน ต้องส่งเอกสารสอบถามถึง 700 ครั้ง ด้านตัวแทนไชน่าเรลเวย์ฯ รีบดึงแขนออกจากวงสื่อ
วันนี้ (9 พ.ค.) ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังมอบเงินให้กับผู้เสียหายจากกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม ในฐานะกิจการร่วมค้า ITD-CREC ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.ยืนยันว่า เราเป็นผู้รับเหมาเซ็นสัญญากับ สตง.แล้วทำงานตามแบบ ในกระบวนการของการทำงานก็มีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เอกสารการขออนุมัติจากทางผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจรับวัสดุเรามีครบถ้วนเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของเรา
ส่วนการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ รับทราบด้วยหรือไม่ นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้รับเหมาก็ได้ทำตามสัญญาการก่อสร้าง และเมื่อมีการแก้ไขแบบซึ่งก็มาจากทางผู้ออกแบบ และเจ้าของงานที่มีความประสงค์จะแก้ไข ดังนั้นบริษัทฯ ก็จะต้องทำตาม เพราะเขามีคำแนะนำมาให้ บริษัทมีหลักฐานทุกอย่าง ส่วนถ้าถามว่ารู้หรือเปล่า เราอยู่ในหน่วยงานเราก็รู้อยู่แล้ว ว่าเขาขอให้แก้ไขแบบ แล้วถ้าถามต่อว่า รู้หรือไม่ว่าแบบแข็งแรงหรือไม่ คือไม่ทราบ ต้องเข้าใจว่าตึกนี้ 30 ชั้น ถ้าแก้ไขอะไรสักอย่างต้องไปพิจารณาวิเคราะห์ตึกทั้งตึก จะมาดูแบบกันเฉยๆ แล้วมาบอกว่าได้หรือไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่ของผู้รับเหมาอยู่แล้ว และไม่มีความสามารถที่จะไปทำแบบนั้น
นายเกรียงศักดิ์ ย้ำว่า รับรู้การแก้ไขแบบทั้ง 9 ครั้ง เพราะเรื่องนี้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมทุกครั้ง และมีหนังสือสั่งการให้บริษัทตนเองทำ การแก้ไขแบบทุกครั้ง หากมีผลกระทบกับงบประมาณ เรื่องของการลดความหนาของผนังลิฟต์ เราก็ต้องทำเป็นงานลด ไม่ใช่เรื่องการฮั้วกันเพื่อลดงานแล้วผู้รับเหมาได้รับผลประโยชน์ตามที่เขียนข่าวกัน
ส่วน สตง.จะเป็นผู้ขอให้แก้ไขแบบหรือไม่ นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบ เมื่อได้รับแบบมาแล้ว แบบอาจจะเกิดความขัดแย้งกัน โครงการนี้มีแบบขัดแย้งกันจำนวนมาก เช่น แบบโครงสร้างไปขัดแย้งกับแบบงานสถาปัตยกรรม แบบสถาปัตยกรรมไปขัดแย้งกับงานระบบ แบบงานระบบไปขัดแย้งกับงานตกแต่งภายใน ซึ่งในเรื่องของแบบขัดแย้ง ตนเองได้ออกเอกสารสอบถามไปถึง 700 ฉบับ เพื่อสอบถามไปยังผู้ควบคุมงานว่าจะให้บริษัทเราทำอย่างไร จะให้ทำตามแบบโครงสร้างหรือให้ทำตามแบบสถาปัตย์ เนื่องจากแบบมันขัดแย้งกัน และถ้าตนเองทำตามแบบโครงสร้างก็ไปขัดแย้งกับแบบงานสถาปัตย์ ดังนั้นจึงต้องถาม ซึ่งเป็นหลักปกติที่จะต้องถาม เพราะทุกโครงการมีเรื่องแบบขัดแย้งกันอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงการแก้ไขปล่องลิฟต์ล่าสุดมีการชี้แจงในที่ประชุมอย่างไร นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนั้นทางเดินระหว่างปล่องลิฟต์ มีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่ประชุมจึงได้มีการสอบถามกันว่าควรทำอย่างไร และอาคาร สตง.เป็นตึกราชการ จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้างกับทาง กทม. เป็นการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้มีการแก้ไขแบบอยู่หลายครั้ง แต่ยังใช้สเปกวัสดุ ทั้งเหล็ก ปูน สเปกเดิม
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในความขัดแย้งกันยังมีหลายกรณี ในส่วนของปล่องลิฟต์ บริษัทฯ ได้เขียนเอกสารไปสอบถามผู้ควบคุมงาน ซึ่งผู้ควบคุมงานก็นำไปปรึกษาในที่ประชุมของคณะกรรมการตรวจการจ้าง จากนั้นหนึ่งในคณะกรรมการเสนอว่า ประเด็นนี้ควรไปสอบถามผู้ออกแบบ ซึ่งทางกิจการร่วมค้า PKW (ผู้ควบคุมงาน)ได้สอบถามไปทางผู้ออกแบบ โดยทางผู้ออกแบบได้ให้ความเห็นมาว่าจะทำอย่างไร ก่อนส่งเรื่องกลับมาให้ทาง PKW แล้ว PKW ก็นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมตรวจการจ้างอีกครั้ง หลังจากนั้น เมื่อที่ประชุมเห็นตรงกัน ว่าเอาตามที่ผู้ออกแบบเสนอมา ทาง PKW ก็จะส่งเรื่องมาให้บริษัท ซึ่งบริษัทก็ดำเนินการตามที่เขาสั่งมา
ส่วนเรื่องของการปลอมลายเซ็นวิศวกร นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า บริษัทไม่รู้ เพราะตนเองไม่ได้มีหน้าที่ไปตรวจลายเซ็นใคร
ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังถามประเด็นการทำเอกสารสอบถามไปถึง 700 ฉบับกรณีแบบแปลนมีความขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติหรือไม่นั้น ผู้แทนบริษัทไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เท็น(ประเทศไทย) จำกัด พันธมิตรในกิจการร่วมค้า ITD-CREC ได้เข้ามาพานายเกรียงศักดิ์ไปมอบเงินเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียหาย ซึ่งเป็นจังหวะที่นายเกรียงศักดิ์ ยังตอบคำถามไม่แล้วเสร็จ โดยมีการดึงแขนนายเกรียงศักดิ์ออกจากวงสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนทันทีแล้วอ้างว่ามีประชาชนรออยู่ ทำให้การให้สัมภาษณ์ต้องยุติลง