“เราดูแลพื้นที่ตรงนี้ให้มีศักยภาพ เป็นบ้านของสัตว์ป่าได้อย่างแท้จริง รวมถึงการที่คนในบ้าน คือสัตว์ป่าที่เขาสามารถเพิ่มประชากรของเขาได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเป็นพื้นที่แห่งความหวังในการอนุรักษ์ของคนทั่วโลก…เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน”
“ผมมองว่าโมเดลของมรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มันเป็นโมเดลที่ทำให้เห็นว่า นอกจากการที่เราจะรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญไว้ให้คนไทยทุกคนแล้ว เรายังทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ไว้ให้กับคนทั่วโลกได้อย่างแท้จริง”
“สถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย ค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในเรื่องของการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าที่มีความสำคัญในระบบนิเวศในประเทศไทยค่อนข้างสูง หลายๆ ประเทศใช้พื้นที่ของประเทศไทย เป็นพื้นที่เรียนรู้ ดูงาน…”
การฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า อาทิ เจ้าป่าอย่างเสือโคร่งนับ 200 ตัว โดยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถึง 100 กว่าตัว, สถานการณ์การฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าของพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และพื้นที่ป่าตะวันตกโดยรอบที่สำคัญ รวมถึงตัวอย่างในพื้นที่อื่นๆ การเพิ่มประชากรช้าง ควายป่า วัวแดง กระทิง ละมั่ง พญาแร้ง นกกระเรียนถูกบอกเล่าให้เห็นภาพความสำคัญของระบบนิเวศอันยิ่งใหญ่ของผืนป่า, การทำงานอย่างเป็นบูรณาการร่วมกับชุมชนที่อยู่โดยรอบป่า เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน สถาบันการศึกษา, การเป็นโมเดลต้นแบบของพื้นที่อนุรักษ์ ฟื้นฟูสัตว์ป่าที่ทั่วโลกให้การยอมรับ
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์ ‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้อุทิศชีวิตให้แก่การทำงานอนุรักษ์มาไม่น้อยกว่า 20 ปี บอกเล่าถึงประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างน่าสนใจและให้แง่คิดของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งฉายให้เห็นการทำงานที่ผ่านมาของมูลนิธิที่เผยแพร่องค์ความรู้ในการอนุรักษ์ สร้างความตระหนักในการร่วมรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า
ภาณุเดช เริ่มบทสนทนาว่าด้วยประเด็นการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า
“ในประเด็นภาพรวมของสถานการณ์สัตว์ป่าที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
สถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย ค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในเรื่องของการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศในประเทศไทยค่อนข้างสูง หลายๆ ประเทศใช้พื้นที่ของประเทศไทย เป็นพื้นที่เรียนรู้ ดูงาน รวมถึงปัจจุบัน มีประชากรสัตว์ป่าบางชนิดที่ประเทศไทยสามารถที่จะฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้ให้คืนกลับสู่ธรรมชาติได้ เช่น นกกระเรียน หรือในอนาคตก็มีพญาแร้ง ที่เราจะมีโครงการร่วมกับประเทศอิตาลี”
“ทางประเทศอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรในการทำงานร่วมกับเรา ก็มีการขอสัตว์ป่าเหล่านี้ กลับไปฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า ในประเทศของเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งผมมองว่า สถานการณ์ภาพรวมของสัตว์ป่าในบ้านเรา ค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จและเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศในเรื่องที่เราเป็นพื้นที่ในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าแหล่งสำคัญ”
เสือโคร่ง…คืนเจ้าป่าสู่ป่า
ภาณุเดชเล่าว่า ปีที่แล้ว ปี พ.ศ.2567 มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ที่ทั่วโลกถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จที่สามารถฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้เกินเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ 12 ปี
“สำหรับเป้าหมายในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ที่เราไปทำสัญญาร่วมกัน โดยพื้นที่ที่มีการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งสำหรับประเทศไทย พื้นที่สำคัญ ก็คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แล้วก็พื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ
ที่เราเรียกว่าผืนป่าตะวันตก”
“ปัจจุบัน เรามีเสือโคร่งที่อยู่ในประเทศไทย ถ้าตีเป็นตัวเลขกลมๆ ก็เกือบ 200 ตัว ซึ่งประชากรเสือโคร่งเหล่านี้จะอยู่ในพื้นที่ของผืนป่าตะวันตก โดยเป็นทางห้วยขาแข้ง ประมาณ 100 ตัว แล้วก็พื้นที่อนุรักษ์โดยรอบอีก”
ภาณุเดชกล่าวว่า ณ วันนี้ เราเข้าสู่การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ระยะที่ 2 ซึ่งระยะหรือแผนที่ 2 นี้ มีระยะเวลาอีก 12 ปีต่อไปข้างหน้า โดยหวังว่า พื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกเหมือนกับห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร รวมถึงผืนป่าแก่งกระจาน ก็จะเริ่มดำเนินการฟื้นฟูเรื่องของประชากรเสือโคร่ง ให้เพิ่มขึ้นมา เหมือนที่ห้วยขาแข้งได้ทำประสบความสำเร็จไปแล้ว
“สำหรับสัตว์ป่าอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่ว่า วัวแดง ละมั่ง ที่มีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในตอนนี้ ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง สัตว์เหล่านี้สามารถที่จะเพิ่มประชากรได้อย่างชัดเจน เรามีวัวแดงไม่น้อยกว่า 300 ตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แล้ววัวแดงเหล่านี้ ออกมาใช้พื้นที่บริเวณทุ่งโล่ง ที่เราเรียกว่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับเสลา ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง”
การอยู่ร่วมกันของสัตว์ป่า กับชุมชนโดยรอบ
ภาณุเดชกล่าวว่า “แนวทางของการดูแลสัตว์ป่าเหล่านี้ ตอนนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูวัวแดงเหล่านี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งด้วยซ้ำ เพราะสามารถที่จะส่งเสริมให้ชุมชนทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวขึ้นในแนวพื้นที่รอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้ชุมชนเขาสามารถที่จะสร้างรายได้จากการนำเที่ยว นำชมสัตว์ป่าในบริเวณแนวขอบห้วยขาแข้งได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากจะนำเรียนว่าเราจะเห็นได้ว่าการฟื้นฟูสัตว์ป่าหรือการที่เราจะทำเรื่องอนุรักษ์สัตว์ป่า มันก่อประโยชน์ให้กับผู้คนที่อยู่แนวขอบป่า หรือว่าพื้นที่ป่าได้ยังไง ทางห้วยขาแข้งก็เป็นตัวอย่าง”
“เหมือนกับที่ทางกุยบุรี ก็มีไปดูช้างในพื้นที่แนวขอบอุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้ เหล่านี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่จะทำให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถดูแลคุ้มครองพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพได้ พอสัตว์ป่าฟื้นฟูคืนมา ตัวชุมชนก็จะได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์เหล่านี้ด้วยเช่นกันครับ นี่เป็นประเด็นที่ผมมองว่าประเทศไทย ค่อนข้างไปไกล ในเรื่องของการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่”
ภาณุเดชกล่าวว่ายังมีอีกประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องของการอนุรักษ์เช่นเดียวกัน ทำให้ประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่บางชนิด เริ่มมีการเพิ่มประชากรมากขึ้น จากการดูแลพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นช้าง กระทิง ลิง หมูป่า หลายๆ พื้นที่จะเริ่มเห็นว่า มีสัตว์ป่าที่เขาออกไปใช้ประโยชน์ในบริเวณแนวขอบพื้นที่ด้านนอก แล้วก็เข้าไปรบกวนพื้นที่ทำกินของชุมชน เช่น ไปกินพืชไร่ กินผลไม้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
กรณีนี้มีหลายพื้นที่ที่เริ่มปรากฏให้เห็นเช่น กลุ่มป่ารอยต่อภาคตะวันออก 5 จังหวัด ก็จะมีสถานการณ์ความขัดแย้งของคนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบกับช้างป่าที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างจะชัดเจน
“ประเด็นที่ต้องการจะบอกก็คือ การเคลื่อนที่ของช้างป่า จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้มองหรอกว่า ส่วนไหนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนไหนเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน เขาก็จะหากินไปตามรอบหมุนเวียนของแหล่งอาหารที่เขาคุ้นเคย หรือเขารับทราบได้จากผู้นำฝูงหรือจากประสบการณ์ที่เขาเคยไปกินบ้าง ก็ทำให้เกิดสถานการณ์ที่สัตว์ป่าออกไปหากินรอบนอกพื้นที่เพิ่มมากขึ้น”
“สำหรับป่าตะวันออกเราก็พบว่าสัตว์ป่าหลายๆ ชนิด ก็เริ่มมีการไปออกลูก ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้รู้สึกว่า บ้านของเขามันอยู่ในจุดที่ไม่ได้เป็นสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์ ก็กลายมาเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ด้านนอกไป และทำให้มีผลกระทบกับชุมชนด้วย ซึ่งก็ต้องมีการจัดการร่วมกันระหว่างตัวชุมชน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะทำทั้งเรื่องของการช่วยเหลือและการจัดการระยะยาว ว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงให้สัตว์เหล่านี้กลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้มากขึ้น และลดความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับคนได้ เหล่านี้ก็เป็นความท้าทายของการอนุรักษ์ในอนาคตครับ” ภาณุเดชระบุ
ทำงานร่วมกับชุมชน
ถามว่า บทบาทของมูลนิธิสืบฯ ในการเข้าไปทำงานกับชุมชนเพื่อแก้ปัญหานี้ ทำอย่างไร
ประธานมูลนิธิสืบฯ ตอบว่า “ต้องบอกว่า บทบาทการทำงานของมูลนิธิสืบฯ มุ่งเน้นไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร แล้วก็ผืนป่าที่อยู่รอบบริเวณนั้น คือผืนป่าตะวันตก บาบาทการทำงานของมูลนิธิทำในเรื่องของการทำงานกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีบทบาทร่วมในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยเราทำมาเกือบ 20 ปีแล้วนะครับ”
“ก่อนหน้านี้เราทำโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อที่จะดึงศักยภาพของชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งในป่าตะวันตกจะมีอยู่ทั้งหมด 129 ชุมชน ให้เขาเข้ามามีบทบาทในการดูแล ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกันกับทางเจ้าหน้าที่ แล้วปัจจุบันมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่มีเรื่องของการที่จะให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างถูกต้อง ภายใต้มาตรา 64 ของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และมาตรา 121 ของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาชุมชนในป่า ทำให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่ที่อยู่มาแต่เดิมได้อย่างถูกต้อง"
"และในปัจจุบันนี้ก็กำลังจะทำในเรื่องออกแบบการจัดการพื้นที่หรือโซนนิ่งพื้นที่ภายในชุมชนร่วมกันระหว่างตัวชุมชน กับเจ้าหน้าที่ว่าโซนไหนเราจะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น สาธารณูปโภคพื้นฐาน โซนไหนที่เราจะทำเป็นเรื่องของการกันพื้นที่จากการใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ ให้มีความยั่งยืน โซนไหนจะดูแลเรื่องการพัฒนาอาชีพ เช่นเรื่องของวนเกษตร หรือการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับผืนป่าโดยรอบ เหล่านี้เป็นงานที่มูลนิธิกำลังดำเนินงานอย่ในปัจจุบันนี้” ภาณุเดชอธิบายรายละเอียด และกล่าวเพิ่มเติมว่า
ส่วนการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ออกมารบกวนประชาชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่โดยรอบ มูลนิธิก็เข้าไปหนุนเสริมกับหน่วยงานทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ รวมถึงพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีหน่วยงานของกรมป่าไม้เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ ให้มีการจัดทำแผนเพื่อจัดการสัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่นี้ร่วมกัน รวมถึงการเข้าไปติดตามข้อมูล เป็นกึ่งๆ งานวิจัย คือเข้าไปเก็บข้อมูลว่าสัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณไหน ยังไงบ้าง แล้วเราก็มีการออกแบบในเรื่องของการบริหารจัดการ รวมถึงการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ คณะวนศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันนี้ คณะวนศาสตร์ ก็เป็นเจ้าภาพหลักในการเข้ามาหนุนเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้มีการท่องเที่ยวในแนวขอบห้วยขาแข้งให้เกิดความยั่งยืน และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับรัฐ เพื่อให้ตัวชุมชนได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ นี่ก็เป็นการพัฒนาร่วมกันที่อยู่ในพื้นที่
“เราก็หวังว่าในเรื่องของพื้นที่อนุรักษ์เอง ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เอง ทางมูลนิธิก็เข้าไปสนับสนุนภายใต้กองทุนผู้พิทักษ์ป่า ไม่ว่าจะสนับสนุนงานลาดตระเวน หรือเรื่องของการสนับสนุนบ้านพักหรืออาคาร สถานที่ ให้เขามีความพร้อมในการทำงาน ส่วนด้านนอกก็เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนนี่แหละครับ ให้เขารู้ว่า การมีสัตว์ป่าที่ออกมา ประเด็นแรก เราไม่ทอดทิ้งชุมชนนะครับ แต่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากกิจกรรมที่พัฒนาร่วมกันได้ จากการที่สัตว์ป่าออกมานอกพื้นที่”
“รวมถึงพื้นที่ไหน ที่เป็นพื้นที่ทำกินที่เขาถูกรบกวนหรือได้รับผลกระทบ มูลนิธิก็จะเป็นตัวกลางในการประสานในเรื่องของการช่วยเหลือ หรือว่าการผลักดันสัตว์ป่าเหล่านี้กลับคืนพื้นที่” ประธานมูลนิธิสืบฯ ระบุ
ถามว่า เมื่อมีการฟื้นฟูสัตว์ป่าได้มากมาย แล้วมีข้อกังวลเรื่องการลักลอบล่าสัตว์หรือไม่
ภาณุเดชตอบว่า “สำหรับในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ผมมองว่าเรื่องการล่าสัตว์ในพื้นที่ ลดลงค่อนข้างชัดเจน แต่ประเด็นที่ยังมีข้อกังวลอยู่ก็คือเรื่องของการที่ยังมีพรานที่เป็นพรานร่วมระหว่างต่างชาติ กับพรานที่อยู่ในพื้นที่บริเวณ ใกล้ๆป่า มีการเข้าไปล่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่เช่น เสือโคร่ง รวมถึงการพยายามไปทำไม้กฤษณา ซึ่งอยู่กลางห้วยขาแข้งด้วย ซึ่งเหล่านี้ สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ก็คือ เราพยายามให้ชุมชนเป็นแนวรั้วมีชีวิต คนในชุมชนช่วยกันดูแล สอดส่อง แล้วก็ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่”
“ประเด็นที่ 2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีการลาดตระเวนที่เข้มข้นอยู่แล้วนะครับ อันนี้ก็สามารถติดตามในเรื่องของการเข้ามาตัดไม้หรือมาล่าสัตว์ในพื้นที่ได้”
การฟื้นฟูสัตว์ป่าอื่นๆ
ภาณุเดชกล่าวว่า “การฟื้นฟูสัตว์ป่าอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันแต่ลดน้อยลง เช่น พญาแร้งหรือว่าควายป่า ที่อยู่เฉพาะที่ห้วยขาแข้ง มูลนิธิก็มีโครงการร่วมกับกรมอุทยานเข้าไปฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง และตอนนี้ก็ทำร่วมกับองค์การสวนสัตว์ฯ พยายามเพาะแล้วก็ขยายพันธุ์ เมื่อได้จำนวนมากพอ เราก็จะปล่อยคืนสู่ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นบ้านเดิมที่เขาเคยอยู่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ส่วนควายป่าเหลืออยู่ ประมาณ 50-60 ตัว ในห้วยขาแข้ง เราก็มีโครงการเข้าไปฟื้นฟูประชากร ดูแลพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของเขาให้เขาเพิ่มประชากรขึ้นมา”
“แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องไปทำงานกับชุมชนที่อยู่แนวรอบด้วย เพราะว่าส่วนหนึ่ง ปศุสัตว์ที่ชุมชนเลี้ยงมันอาจมีผลกระทบกับสัตว์ป่า เช่น ควายบ้าน อาจจะมีผลกับควายป่าที่อยู่ในพื้นที่ จากการใช้พื้นที่ร่วมกัน และมีการนำโรคจากควายบ้าน จากในเมืองเข้าไปสู่ควายป่า เราก็มีโครงการที่พยายามจะฉีดวัคซีน, ตรวจสอบในเรื่องของโรคอุบัติใหม่ โรคที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์บ้านและสัตว์ป่า รวมถึงความพยายามที่จะทำแนวเขต ในเรื่องของการเลี้ยงปศุสัตว์ให้มันมีความชัดเจน นี่คืองานที่เราทำร่วมกับพื้นที่”
ณ ที่แห่งนี้ คือ มรดกโลก
ภาณุเดชกล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน ร่วมกับทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและตะวันออก หรือเรียกรวมๆ ว่า มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ถ้าเป็นปี 2534 ก็ 30 กว่าปีแล้ว ที่ได้รับการประกาศ หลังคุณสืบ นาคะเสถียร เสียชีวิตไป 1 ปี ก็ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก
“ต้องบอกว่า เรื่องของตัวพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ระบบของการดูแลพื้นที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด ทำให้พื้นที่บริเวณทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ค่อนข้างที่จะนิ่ง ในเรื่องของภัยคุกคาม หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ ส่วนหนึ่งก็เป็นที่รู้จักด้วย ถ้าจะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ สาธารณชนก็จะร่วมกันออกมาคัดค้าน”
“เช่น กรณีที่จะมีเขื่อนแม่วงก์ไปก่อสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งติดกับ ห้วยขาแข้ง ประชาชนคนไทยในประเทศก็พยายามออกมาคัดค้าน ก็ทำให้โครงการเขื่อนนี้ระงับไปได้ ก็เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น ก็ทำให้ มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการดูแลที่ดี ก็นำมาสู่เรื่องสัตว์ป่าที่ผมได้นำเรียนไป”
“ส่วนพื้นที่มรดกโลก ทางดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องของตัวกิจกรรมที่จะมีผลกระทบกับพื้นที่ที่คณะกรรมการมรดกโลกเขาจับตาดูอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อที่จะจัดสรรเป็นพื้นที่ทำกินให้ประชาชน, เรื่องที่จะมี 7 เขื่อนใหญ่ในการเข้าไปสร้างในพื้นที่มรดกโลกทางดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ทางกรมชลประทานเสนออยู่ รวมถึงเรื่องของการล่า การเข้าไปทำไม้กฤษณา ก็ยังอยู่ในขั้นของการเฝ้าระวังอยู่ สถานะของการเป็นพื้นที่มรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ก็ยังต้องจับตาดูอยู่กับประเด็นเหล่านี้”
“ส่วนอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับการประกาศก็คือ มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่ได้รับการประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นน้องหลังสุด แล้วก็พยายามที่จะเดินตามการจัดการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ เดินตามรอยทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่ได้ดำเนินการอยู่”
คือพื้นที่แห่งความหวัง สืบต่อการอนุรักษ์
ภาณุเดช กล่าวทิ้งท้ายถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่า
“ในภาพรวมของประเทศ ที่มีการฟื้นฟูสัตว์ป่าสำคัญๆ ในห้วยขาแข้ง ผมต้องเรียนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่เราดูแลพื้นที่ตรงนี้ให้มีศักยภาพ เป็นบ้านของสัตว์ป่าได้อย่างแท้จริง รวมถึงการที่คนในบ้าน คือสัตว์ป่า ที่เขาสามารถเพิ่มประชากรของเขาได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเป็นพื้นที่แห่งความหวังในการอนุรักษ์ของคนทั่วโลก ผมยอมรับว่ามันเป็นพลังที่สาธารณชนคนไทยด้วยกันนี่แหละที่ช่วยกันเฝ้าระวัง ดูแล รวมถึงช่วยกันสนับสนุน การทำงานเพื่อการคุ้มครอง เพื่อการดูแล เพื่อการพิทักษ์รักษาผืนป่าตรงนี้เอาไว้ จริงๆ แล้ว ผมอยากจะบอกว่า เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน”
“ประเด็นต่อมาก็คือ ในวันนี้ทั่วโลกยอมรับว่า พื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งคือ โรงเรียนของการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า ปัจจุบันเรามีศูนย์ฝึกอบรมการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอยู่ในห้วยขาแข้ง แล้วก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนจากทั่วโลก ที่เขาเข้ามาที่ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้เพื่อเรียนรู้ในเรื่องของการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง”
“ผมมองว่าโมเดลของมรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มันเป็นโมเดลที่ทำให้เห็นว่า นอกจากการที่เราจะรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญไว้ให้คนไทยทุกคนแล้ว เรายังทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ไว้ให้กับคนทั่วโลกได้อย่างแท้จริง
เพราะยังมีเรื่องของการเรียนรู้ การที่เขาเข้ามาศึกษาแล้วเอากลับไปฟื้นฟูดูแลสัตว์ป่าในบ้านของเขาเองด้วยและเป็นความภาคภูมิใจของเราทุกคน ก็อยากจะฝากเอาไว้ครับ”
คือคำบอกกล่าวจากประธานมูลนิธิสืบฯ ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นภาพชัดเจนของการอนุรักษ์ ฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในระดับสากล
…………….
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ภาณุเดช เกิดมะลิ, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร https://www.seub.or.th
และ Facebook : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร