xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวิน เลี้ยงลูกตามใจหมอ” ไม่เห็นด้วย ปมแม่ฝึกลูกน้อยนอนเอง จนสุดท้ายเสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หมอวิน กุมารแพทย์ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ โพสต์ไม่เห็นด้วยประเด็นคุณแม่รายหนึ่งฝึกลูกน้อยนอนเองจนสุดท้ายเสียชีวิต ชั้ไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทยที่นอนร่วมกันทั้งครอบครัว

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เพจ “เลี้ยงลูกตามใจหมอ” ของ ผศ. นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือหมอวิน กุมารแพทย์ ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ประเด็นเรื่อง “ฝึกลูกนอนเอง” ที่ก่อนหน้านี้มีคุณแม่รายหนึ่งปล่อยให้ลูกทารกน้อยนอนเองเพียงลำพังจนสุดท้ายเสียชีวิต

หมอวินระบุข้อความว่า “ข่าวที่กลับมาเป็นประเด็น

พาดหัว - แม่มือใหม่ทำตามแนวคิด “ฝึกลูกนอนเอง” จากคอร์สออนไลน์ เด็กทารกอายุเพียง 3 เดือนถูกปล่อยให้นอนคนเดียวในห้อง ขณะที่แม่ดูผ่านกล้องวงจรปิดนอกห้องตามคำแนะนำของ “ครู” ในกลุ่ม โดยระบุว่าเป็นช่วง “ปลดล็อกทักษะการนอนคว่ำ” ที่เด็กต้องผ่านให้ได้ ร้องไห้ไม่หยุด ก่อนเงียบหายไป สุดท้ายพบว่าเสียชีวิตแล้ว

เหตุการณ์นี้เกิดที่จีนหลายปีมาแล้ว … แต่กลับมาเป็นประเด็นกันไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่พ่อหมอรู้ก็เพราะมีคุณแม่คนหนึ่งถามเรื่องการฝึกลูกนอนหลับในห้องตรวจ เพราะคุณแม่กลัวว่าฝึกลูกนอนแล้วลูกจะตุย … แล้วตามข่าว คือ การฝึกลูกนอนคนเดียว ปล่อยให้ร้องไห้ ปลดล็อกทักษะ ว่าซั่น … จากข่าว อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่า นี่คือการฝึกลูกนอนหลับด้วยวิธี Cry it out

ซึ่งดูแล้วไม่น่าใช่ ปลดล็อกอะไร วิธีการตามหน้าข่าวน่าจะไม่ใช่วิธี Cry it out นะครับ

หากถามพ่อหมอว่า พ่อหมอมีความคิดเห็นอย่างไรกับการฝึกลูกนอนยาวด้วยวิธี Cry it out ถามร้อยทีก็ตอบร้อยทีแบบทันทีว่า ส่วนตัว ”ไม่ชอบ ไม่ใช่ ไม่เอาและไม่เวิร์ก“ มันไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทยที่เรานอนร่วมกันทั้งครอบครัว และมันไม่ดีต่อใจของพ่อหมอ การฟังเสียงลูกร้องตอนกลางคืน คือไม่ใช่แนวค่ะ มันบีบหัวใจเกินไป แถมคือบีบหัวใจตอนอีพ่อง่วงด้วย… ไม่เอานะ … มันมีวิธีที่เรียกว่า ไร้น้ำตา และแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่นะ พ่อหมอใช้แบบหลังสุดก็นอนยาวได้นะไม่มีปัญหา

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า วิธีการฝึกการนอนแบบ Cry it out จะไม่เวิร์กนะครับ หลายบ้านฝึกให้ลูกนอนยาวด้วยวิธีนี้แล้วมันก็เวิร์กจริงๆ เสียด้วย ใครมีประสบการณ์มาแชร์หน่อย ... โดยการฝึกมันมีหลักการและวิธีการของมันอยู่ มันไม่ใช่จะมาบอกว่า "อดทนหน่อยนะอีหล่า เดี๋ยวหนูจะปลดล็อกทักษะการนอนคว่ำ การนอนยาวแล้ว แม่จะรอคอยเจ้าอยู่ ณ ตรงนี้ กัดผ้ารอให้เจ้าหยุดร้องแล้วหลับไป" บ่ไจ้เน้อ มันบ่าไจ้ มันมีหลักการของมันอยู่ เตรียมการอย่างไรก่อนเริ่ม วันแรกที่เริ่มทำอย่างไร ทิ้งเวลานานเท่าไร มิใช่ปล่อยให้ร้องไปเรื่อย ๆ ก่อนลูกจะนอนยาวได้ พม. เข้าบ้านก่อน 555 นึกว่าทรมานเด็ก

หลักการของ Cry it out มีหลายข้อ น่าจะเคยเขียนให้ ThaiPBS Kids ไปแล้ว ลองหาอ่านได้ที่นั่นก็แล้วกัน สำหรับวิธีการฝึกลูกนอนยาวด้วยวิธีอีก 2 วิธีที่เหลือ พ่อหมอเขียนไว้ในหนังสือ The Parent's Guide to The First Year เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับพ่อแม่มือใหม่ ไว้แล้ว ไปพรีฯ กันได้ตามช่องทางด้านล่าง แบบนี้ได้เหรอ ... ได้สิ เพราะเรามีเรื่องจะเขียนต่ออีกมาก

ตัดภาพกลับไปที่เคสนี้ ที่เด็กน้อยวัย 3 เดือนเชื่อตามโค้ชออนไลน์ฝึกลูกนอนเองแล้วนอนยาวแบบไม่ลืมตาตื่นอีกเลย มันเกิดอะไรขึ้น

คำตอบก็คือ "ไม่รู้" เพราะไม่ได้ทราบผลชันสูตร ตอบแบบนี้ตามข้อเท็จจริง แต่หากจะลองวิเคราะห์ดู เราจะพบว่าตามทักษะของกล้ามเนื้อของเด็กอ่อนวัยนี้ที่คอเพิ่งเริ่มแข็งนั้นยังพลิกคว่ำหงายเองไม่ได้ ดังนั้นหากเกิดจังหวะมันได้เกิดพลิกคว่ำหน้ากดฟูกไปแล้วล่ะก็ เขาพลิกหงายเองไม่ได้ ก็อาจอุดทางเดินหายใจเสียชีวิตได้เลยนะ ... นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราย้ำเตือนเสมอว่า ที่นอนของเด็กเล็กไม่ควรนุ่มยวบ ควรเป็นฟูกแน่น พื้นเรียบ ไม่ควรมีเครื่องนอนมาก เพราะไม่ได้ไปเดินงาน Met Gala ไม่ต้องเครื่องเยอะ หมอนก็ไม่จำเป็น ผ้าห่ม ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาไม่ควรมี ใช้วิธีการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและปรับสิ่งแวดล้อมให้สบายตัวไม่ร้อนไม่เย็นเกินไปแทน

อีกเรื่องก็คือ ภาวะไหลตายในเด็ก หรือ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) ที่ตุยแบบไม่ทราบสาเหตุ เกิดในเด็กขวบปีแรก ข้อมูลรวบรวมไว้ว่า การนอนคว่ำเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะนี้ รวมถึงการสูบบุหรี่ของพ่อแม่ การดื่มสุราของแม่ การนอนบนฟูกที่นุ่มยวบ การเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย การนอนบนที่นอนที่ร้อนเกินไป (ต่างประเทศเขาจะใช้ฟูกหรือผ้าห่มไฟฟ้า) ... เคสนี้ใกล้เคียงกับภาวะ SIDS นะ แต่ก็คือ ดูแล้วไม่น่าไม่ทราบสาเหตุ หน้าคว่ำ ขาติดซี่เตียงขนาดนั้น

แล้วอะไรบ้างที่ป้องกันการเกิด SIDS --- กลองรัวมา แถ่นแท้น .... การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั่นเอง เอ้า ปรบมือครับ ... รวมถึงการใช้จุกหลอก การนอนร่วมกับพ่อแม่ พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่ สุขลักษณะการนอนที่ดี การนอนหงาย และเด็กที่รับวัคซีนครบตามกำหนด ...

ขอให้เด็กทุกคนนอนหลับยาวอย่างปลอดภัยกันนะครับ เวลานอนหลับ นอนหงาย Back to Bed
หลักการง่ายๆ เท่านี้เอง”

คลิก>>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น