ปลาถือเป็นอาหารหลักของคนไทย และอยู่ในวิถีชีวิตของไทยมาช้านาน และปลาหมอคางดำจากปลาเอเลียนสปีชีส์ก็เป็นหนึ่งในฐานะวัตถุดิบที่สามารถแปรรูปเป็นเมนูอร่อยๆ บนโต๊ะอาหารได้หลากหลายและให้คุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้ปลาน้ำจืดชนิดอื่น นอกจากนำมาบริโภคได้ ยังช่วยสร้างโอกาสในการแปรรูปสู่อาหารจานอร่อยบนโต๊ะอาหาร และช่วยกู้ระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทย สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน
ด้วยภูมิปัญญาของคนไทยสามารถนำปลาหมอคางดำที่มีจุดมาสร้างเป็นจุดแข็งเป็นเมนูง่ายๆ ประจำบ้าน เช่น “ปลาแดดเดียว” ที่ได้รับความนิยมในหลายจังหวัด อย่างในจังหวัดนนทบุรีใช้เป็นกลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ โดยจังหวัดแจก “ข่าย” เป็นเครื่องมือดักจับปลาให้แก่บ้านที่อยู่ริมคลองได้ใช้จับปลาหมอคางดำขึ้นมาทำอาหารบริโภคภายในครัวเรือน ช่วยประหยัดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และปัจจุบันมีชาวบ้านได้ขายปลาแดดเดียวเป็นอาชีพที่สร้างรายได้
นอกจากนี้ บางชุมชนได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งพัฒนาเป็นเมนูใหม่ๆ เช่น ปลาหมอคางดำทอดเกลือ และน้ำปลา ภายใต้การนำของเกษตรกรที่มีความชำนาญ การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้ปลาหมอคางดำ แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ในด้านรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร ชาวบ้าน และวิสาหกิจชุมชน
การแปรรูปหมักเป็น “ปลาร้า” ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมทั่วประเทศ ทำให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีส่วนร่วมในการผลิต โดยใช้เทคนิคการหมักที่ทำให้รสชาติถูกปาก เป็นอีกสินค้าที่ช่วยสร้างเม็ดเงินได้ และในระหว่างที่รอการหมักเป็นปลาร้าเข้มข้นประมาณ 8 เดือน ชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังได้นำมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ปลาหมอแดดเดียว น้ำพริกแจ่วบอง น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง เป็นต้น ส่วนหัวปลายังนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพสำหรับใช้ใส่แปลงผักที่สามารถนำมาจำหน่ายเป็นรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย
นอกจากปลาร้าแล้ว เกษตรกรจากจังหวัดเพชรบุรียังริเริ่มนำปลาหมอคางดำมาหมักเป็น “น้ำปลา” จากทำกินเองภายในครอบครัว และปรับสูตรทั้งปริมาณเกลือที่ปริมาณเนื้อปลาเพื่อให้ได้รสชาติที่ถูกปากคนไทย สามารถผลิตออกมาจำหน่ายเป็น “น้ำปลา” ตราชาววัง เป็นสินค้าประจำจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย
ด้านกรมราชทัณฑ์ยังใช้ปลาหมอคางดำเป็นโอกาสให้ผู้ต้องขัง ไม่เพียงการส่งเสริมการทำงานสาธารณะในกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำที่จัดขึ้นโดยกรมประมง ขณะเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ยังนำปลาที่จับได้มาทำเป็นอาหารสวัสดิการสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังอีกด้วย และยังร่วมมือกับกรมประมงและกรมราชทัณฑ์ถ่ายทอดความรู้การหมักน้ำปลาให้ผู้ต้องขังได้ฝึกเป็นทักษะอาชีพในอนาคต ได้เป็นน้ำปลาแบรนด์ต่างๆ เช่น น้ำปลา ตราหับเผย แม่กลอง ของเรือนจำสมุทรสงคราม ขยายมาที่เรือนจำกลางเพชรบุรี ผลิตเป็นน้ำปลา “ตราหับเผย เขากลิ้ง” และล่าสุดสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงครามให้ความสนใจนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาสอนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและแม่บ้านได้ฝึกหมักน้ำปลาเพื่อบริโภคในบ้าน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัวต่อไป
การนำปลาหมอคางดำมาสร้างสรรค์เมนูที่หลากหลายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้เห็นแล้วว่าปลาหมอคางดำมีประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านโภชนาการและเศรษฐกิจที่ใช้เปลี่ยนปัญหาเป็นเมนูอาหารที่จะช่วยกู้แหล่งน้ำ จัดการการแพร่ระบาดประชากรปลาหมอคางดำแบบครบวงจร และประยุกต์ใช้ได้กับทุกพื้นที่