xs
xsm
sm
md
lg

สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน เนื่องในวันลดโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนื่องในวันลดโลกร้อน วันที่ 22 เมษายนของทุกปี สภาองค์กรของผู้บริโภคแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การจัดการพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร โดยชี้ว่า ปัญหาการลดลงของพื้นที่สีเขียวในผังเมืองไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงช่องโหว่ของระบบการวางแผนเมือง และการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่ไม่เข้มแข็งพอ

นายก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ที่กำหนดให้เป็น "ชนบทและเกษตรกรรม" ตามผังเมืองหลายแห่งในเขตชานเมือง กลับถูกใช้ประโยชน์ในลักษณะเบี่ยงเบน เช่น การก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร โรงงาน และสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ก่อนที่จะมีการแก้ไขผังเมืองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้นในภายหลัง ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดทอนพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และเป็นการลดโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี
 
นายก้องศักดิ์กล่าวต่อไปว่า การอนุญาตให้มีสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้าน โรงแรม หรือโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่สีเขียว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อกำหนดในผังเมือง ซึ่งนำไปสู่ภาระด้านมลพิษ น้ำเสีย และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในเขตเกษตรกรรมและชนบท อันเป็นสิ่งที่สวนทางกับเป้าหมายการลดโลกร้อน ขณะเดียวกัน พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่เป็นพื้นที่รับน้ำหรือ “แก้มลิง” ตามธรรมชาติในผังเมืองเดิม กลับถูกลดทอนลงอย่างน่ากังวล ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับน้ำหลากและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
จากเอกสารรายงานโครงการ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของเมืองและชุมชน ภายใต้คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (AWGESC)” โดยสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มาตรฐานพื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการสำหรับประเทศไทย ชุมชนเมืองทุกแห่งในประเทศไทยควรมีพื้นที่สีเขียวเพื่อบริการที่มีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 20,000 ตารางเมตร และสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้อย่างน้อย 2,000 คนในแต่ละพื้นที่บริการ (หรือคิดเป็นขนาดไม่น้อยกว่า 5 ตารางเมตรต่อคน ในพื้นที่บริการ) ในระยะการเดินทางของผู้ใช้ประมาณ 500 เมตร หรือไม่เกิน 10 นาทีโดยการเดินจากที่พักอาศัย แต่ในร่างผังเมือง กทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นั้น นำพื้นที่สีเขียวไปอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเมืองโดยไม่คำนึงถึงความหนาแน่นของพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน
 
สำหรับข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคโดยอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ คือการให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาทบทวนบทบาทของพื้นที่ว่างรกร้างที่อยู่ภายใต้ครอบครองของหน่วยงานรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ท่าเรือ กองทัพ และสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อนำมาจัดสรรเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ สวนสาธารณะ ที่อยู่อาศัยราคาถูก หรือพื้นที่นันทนาการ ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันแก่ประชาชนในวงกว้าง และเนื่องในวันลดโลกร้อนปีนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่จะให้ภาครัฐทุกระดับ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนร่วมกันทบทวนแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศ และสร้างเมืองที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน
 
“การวางผังเมืองไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะการสนับสนุนการเติบโตของทุนเอกชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมด้านพื้นที่สำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม มาตรฐานพื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการสำหรับประเทศไทย” นายก้องศักดิ์ย้ำ
 
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคได้ติดตามการร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานคร และพบว่ามีปัญหาหลายประเด็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เช่น เรื่องของน้ำท่วม ความแออัด สภาพจราจร และพื้นที่สีเขียว เนื่องจากกรุงเทพฯ มีประชากรเกือบ 5 ล้านคน การอยู่อาศัยร่วมกันจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ดังนั้น การร่างผังเมืองรวมต้องให้ประชาชนมีสิทธิ และมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น เนื่องจากการวางผังเมือง’ เปรียบเสมือนการชี้นำการใช้ประโยชน์พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เมืองเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเรื่องคมนาคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย การปรับเปลี่ยนผังเมืองต้องคำนึงถึงบริบทของสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และต้องถามความคิดเห็นจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ผังเมืองนั้นเหมาะสมและสอดรับกับการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง






กำลังโหลดความคิดเห็น