xs
xsm
sm
md
lg

สุดเศร้า! เผยภาพถ่ายใบสุดท้ายของ จนท.ที่เคยไปเยี่ยมบ้าน “น้องเมย์” เหยื่อความรุนแรงของโจรใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบเผยภาพถ่ายจากที่เคยลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวเด็กหญิงวัย 9 ขวบ หนึ่งในเหยื่อความรุนแรงโจรใต้ถูกกราดยิงเสียชีวิตพร้อมปู่และญาติ เผยน้องพิการทางการได้ยินและการพูดมาตั้งแต่กำเนิด

วันนี้ (4 พ.ค.) เฟซบุ๊ก “Supachaj Yeewangkong Na Phatthalung” อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบ ได้โพสต์ภาพเหยื่อความรุนแรงของโจรใต้ เป็นภาพเด็กหญิงวัย 9 ขวบที่คนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้รถจักรยานยนต์ 3 คันเป็นพาหนะ บุกใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าไปภายในบ้านเลขที่ 1/3 หมู่ที่ 5 ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิตพร้อมครอบครัว 3 ศพ โดยระบุข้อความว่า “รอยยิ้มสุดท้ายของ “น้องเมย์” เช้าวันที่ 10 กันยายน 2567 เรายืนกันอยู่ใต้ชายคาบ้านเก่าๆ ในหมู่บ้านปลักปลา ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ ท่ามกลางสภาพบ้านที่ขัดสน แต่กลับมีรอยยิ้มเล็กๆ จากเด็กหญิงคนหนึ่ง

“น้องเมย์” เด็กหญิงผิวคล้ำ ใบหน้าน่ารัก และดวงตาใสแจ่ม (ยืนหันหลัง) เธอเอาแต่ยิ้มไม่พูดไม่ตอบ เพราะน้องพิการทางการได้ยินและการพูดมาตั้งแต่กำเนิด วันนั้นผมมีโอกาสติดตามไปกับคณะของท่าน ว่าที่ ร.ต.จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอตากใบในขณะนั้น (ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดปัตตานี) ไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านตามปกติ โดยมีหมอน็อต สาธารณสุขอำเภอตากใบ และทีม รพ.สต.โคกยาง เป็นผู้นำพาไป

ท่านนายอำเภอเห็นว่าเด็กคนนี้ไม่ควรตกหล่นจากระบบการศึกษา หมอน็อต และเจ้าหน้าที่พยายามพูดคุยกับครอบครัว ช่วยกันโน้มน้าว พูดเกลี้ยกล่อมด้วยความเมตตาและความหวังสุดท้าย “น้องเมย์” ได้ไปเข้าเรียนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษตากใบ ซึ่งอยู่ในพื้นที่โรงพยาบาลตากใบเอง ไม่นานนัก ครูประจำศูนย์ก็แจ้งข่าวดีว่าน้องมีพัฒนาการ เริ่มยิ้มมากขึ้น เริ่มรู้จักตอบสนอง และเรียนรู้มากขึ้น พวกเราเองก็ดีใจเงียบๆ มันเหมือนต้นกล้าเล็กๆ ที่เพิ่งได้รับแสงแดดแรกของชีวิต

แต่แล้ววันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลา 19.45 น. เสียงปืนจากคนใจร้ายได้พรากทุกอย่างไป “น้องเมย์” หรือ เด็กหญิงสสิดา จันทร์คง อายุ 9 ขวบ เสียชีวิตในบ้านของตนเอง พร้อมปู่และญาติอีกหนึ่งราย เธอกลายเป็นเหยื่อของเหตุความไม่สงบที่ไร้สำนึก ไม่มีเวลาแม้แต่จะร้องขอชีวิต เพราะเธอไม่อาจได้ยินเสียงปืนเลยด้วยซ้ำ

เด็กหญิงที่ไม่เคยพูด ถูกพรากไปก่อนที่จะได้พูดคำว่า “ครู” หรือ “แม่” ภาพถ่ายเมื่อวันนั้น วันที่เราเคยยืนอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน กลายเป็นภาพสุดท้ายของการพบกัน เด็กที่ไม่เคยทำร้ายใคร กลับต้องมารับเคราะห์จากความเชื่อที่บิดเบี้ยว ที่แยกคนออกจากกันด้วยเส้นแบ่งเขตของชาติพันธุ์ ศาสนา หรืออุดมการณ์ปลอมๆ หากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ หรืออุดมการณ์” กลับลงเอยด้วยการยิงใส่เด็กหญิงคนหนึ่งในบ้านของเธอเอง เราอาจต้องทบทวนแล้วว่า ”อัตลักษณ์ หรืออุดมการณ์” นั้นยังมีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ไหม”




กำลังโหลดความคิดเห็น