พ.ร.บ.กองทุน กยศ.ฉบับใหม่ที่ผ่อนปรนเงื่อนไขกว่าเดิม ใช้บังคับมาแล้ว 2 ปี แต่ลูกหนี้ กยศ.ยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ ล่าสุดพบกรณีกู้เงินมาเรียน 2 แสนเศษ ชำระคืนจนเหลือ 8 หมื่นกว่า แต่มีปัญหาการเงินจึงขอปรับโครงสร้างหนี้ ยอดหนี้กลับเพิ่มเป็นเกือบ 3 แสนบาท ต้องผ่อนชำระคืนอีก 15 ปี นี่แค่ตัวอย่างหนึ่ง คาดว่ายังมีอีกหลายเคส มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินประกาศเป็นเจ้าภาพช่วยลูกหนี้ กยศ.ที่ถูกเอาเปรียบ ฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องข้อหาทำผิด พ.ร.บ.กยศ.ฉบับที่ 2 นายกฯ ผู้รับผิดชอบสูงสุดเป็นจำเลยที่ 1 ตามด้วย รมว.-ปลัดคลัง และผู้จัดการกองทุน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจาก “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ กยศ. ซึ่งในช่วงหลายปีหลังมีการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้
แม้ว่าจะมีลูกหนี้ กยศ.ส่วนหนึ่งที่ขาดวินัยทางการเงิน ไม่ยอมชำระหนี้ หรือผิดนัดชำระก็ตาม แต่ที่ผ่านมาการออกแบบโครงสร้างวิธีคิดอัตราดอกเบี้ย วิธีการผ่อนชำระ รวมไปถึงปัญหาในการบริหารจัดการเพื่อทวงหนี้ และฟ้องร้องลูกหนี้นั้นทำไปด้วยจุดประสงค์ในการหากำไรเชิงพาณิชย์ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง “กองทุน กยศ.” อย่างสิ้นเชิง
ล่าสุด แม้ว่าเรื่องนี้ควรจะถูกแก้ไขไปเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังมี “ลูกหนี้ กยศ.” ที่ส่งเรื่องราวร้องเรียนมาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการบริหารงานไม่โปร่งใส และไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เนื่องจากยอดหนี้ กยศ.ในระบบต่างๆ ไม่ตรงกัน ทั้งที่อ้างคำนวณใหม่เสร็จเรียบร้อยมาแล้ว แถมเจ้าหน้าที่กองทุนก็ยังเร่งรัดให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยึดยอดหนี้เดิมแม้ว่าได้ชำระคืนไปจำนวนมากแล้วก็ตาม ซึ่งต้องใช้เวลาในการผ่อนชำระต่ออีกหลายสิบปี
พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 มีสาระสำคัญเพื่อแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ เช่น
- คิดดอกเบี้ย ไม่เกิน 1% ต่อปี (จากเดิมที่กำหนดอัตรา 1% ต่อปีเช่นกัน แต่มีเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมต่างๆ ยุบยับ)
- เบี้ยปรับ ลดจาก 7.5% ต่อปี เหลือ 0.5% ต่อปี
- ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
- เพิ่มให้กู้ยืมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill Upskill
- และอีกข้อที่สำคัญคือ เปลี่ยนลำดับตัดชำระ เป็นเริ่มจากตัดต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด > ค่อยไปตัดดอกเบี้ย > สุดท้ายค่อยไปตัดเบี้ยปรับ (จากเดิมต้อง จ่ายเบี้ยปรับก่อน > ค่อยไปตัดดอกเบี้ย และสุดท้ายจึงตัดเงินต้น)
แม้ว่า “พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ. 2566” ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 หรือ 2 ปีกว่าแล้ว แต่บรรดาลูกหนี้ยังต้องเจอกับปัญหายอดหนี้ที่ต้องคำนวณใหม่ทั้งหมดทำให้ไม่ทราบมูลหนี้ที่แท้จริง ขณะที่ กยศ.เองอ้างจำนวนลูกหนี้มีเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้เวลาจัดทำระบบและการคำนวณใหม่
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ อดีตผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เคยออกมาแถลงกับ คุณลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (ปัจจุบัน กยศ.ได้เปลี่ยนผู้จัดการกองทุนเป็น น.ส.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ แล้ว) อ้างว่า หลังจากแก้ พ.ร.บ.กยศ.เป็นฉบับที่ 2 กยศ.คำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) ให้แก่ผู้กู้ยืมกว่า 3.65 ล้านบัญชีเรียบร้อยแล้ว มีผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์จากการคำนวณยอดหนี้ใหม่จำนวนกว่า 2.98 ล้านราย ยอดหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาท
โดยลูกหนี้ กยศ.สามารถเข้าระบบตรวจสอบภาระหนี้ที่คำนวณใหม่ได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนฯ จะใช้ยอดหนี้ที่ได้คำนวณใหม่นี้ในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปลดภาระผู้ค้ำประกันให้พ้นจากความรับผิด
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ กยศ.กับ กระทรวงการคลังคุยโวโอ้อวดจนเกิดปัญหาเรื้อรัง
ณ วันนี้ก็ยังมี “ลูกหนี้ กยศ.” ที่ต้องเผชิญวิบากกรรม ประสบปัญหากับยอดหนี้ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ส่วนเจ้าหน้าที่ กยศ.ได้พยายามชักจูงให้ลูกหนี้ติดต่อเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว “ยอดหนี้ยังมีปัญหา สูงเกินความเป็นจริง” เมื่อสอบถามไปทาง กยศ.ก็ไม่ทราบที่มาที่ไป ไม่สามารถให้คำตอบแก่ลูกหนี้ได้
ล่าสุดรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ได้รับการร้องเรียนจาก น.ส.เอ (นามสมมติ) ลูกหนี้ กยศ.รายหนึ่ง ซึ่งได้กู้ยืมเงิน กยศ.มาเพื่อเรียนหนังสือ โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
- เงินต้นคิดเป็นจำนวน 209,900 บาท
- ต่อมา “น.ส.เอ” มีปัญหาในการชำระหนี้ ต้องขึ้นศาลทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลได้พิพากษาให้ ชำระเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าปรับ รวมทั้งสิ้น 395,298.52 ล้านบาท
- ศาลให้ทยอยชำระเดือนละ 4,200 บาท ระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ 5 มกราคม 2562 ถึง 4 ธันวาคม 2570 โดยการแจ้งไปยังสังกัดเพื่อหักเงินเดือน ซึ่ง “น.ส.เอ” ก็ทยอยชำระหนี้จำนวน 4,200 บาทมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีกว่า
- กระทั่งในปี 2565 “น.ส.เอ” ก็ประสบปัญหาการเงินอีก แต่ก็เข้าเจรจาโดยได้รับการผ่อนผัน และลดการผ่อนชำระเหลือเดือนละ 1,000 บาท ซึ่ง “น.ส.เอ” ก็มีวินัยในการชำระหนี้ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนถึง 25 มีนาคม 2568 ซึ่งตลอดระยะเวลาได้ชำระเงินคืน กยศ.ไปแล้ว เป็นจำนวน 172,785 บาท (จากเงินต้น 209,900 บาท)
กระทั่งเมื่อต้นปีนี้ วันที่ 23 มกราคม 2568 “น.ส.เอ” ได้รับแจ้งผ่านไลน์ของ กยศ.ว่า การคำนวณหนี้ใหม่ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ตนเองมียอดหนี้คงค้างใหม่เหลืออยู่เพียง 84,959.44 บาท (ณ วันที่ 30 กันยายน 67)
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรดีใจ เพราะเมื่อมีการคำนวณใหม่ให้ผู้กู้เงิน กยศ.ได้รับความเป็นธรรม หนี้ก็ลดลงอย่างที่มีการกล่าวอ้าง
แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะต่อมาเมื่อต้นเดือนเมษายน วันที่ 4 เมษายน 2568 “น.ส.เอ” ได้รับแจ้งจากฝ่ายบุคคลว่า ทาง กยศ.ได้ส่งยอดหักเงินเดือนเพิ่มอีกเดือนละ 3,000 บาท ทำให้ถูกหักเงินเดือนรวม 4,000 บาท พร้อมแนะนำให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ !?!
“น.ส.เอ” จึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ของ กยศ. กลับพบยอดหนี้ตั้งต้นสูงถึง 279,445.10 บาท ทำให้ต้องผ่อนชำระเดือนละ 1,620 บาท เป็นเวลา 180 เดือน หรืออีก 15 ปี รวมยอดชำระทั้งสิ้น 291,600 บาท !?!
คำถามที่ตามมา?
ทำไมตัวเลขยอดหนี้ที่แจ้งไม่ตรงกัน ทั้งที่มีการประกาศ กยศ.มีการคำนวณยอดหนี้ใหม่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2567 ทั้งที่เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี แต่กลับพยายามชักชวนให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างนี้
โดยลูกหนี้รายนี้มียอดเงินต้น 209,900 บาท ทยอยจ่ายคืนหนี้แล้ว 172,785 บาท ขณะที่ยอดหนี้คำนวณใหม่ที่แจ้งลูกหนี้คงเหลือ 84,959.44 บาท
แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ยอดเงินตั้งต้น (คงเหลือ) กลับดีดขึ้นไปสูงถึง 279,445.10 บาท ซึ่งหากยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องจ่ายหนี้อีก 291,600 บาท ไม่รวมที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้ว 172,785 บาท !?!
ทำให้รวมๆ แล้ว จากเงินต้น “น.ส.เอ” กู้เงินมาเรียน 209,900 บาท สรุปแล้วผ่อนไปผ่อนมา ต้องจ่ายเงินคืน กยศ.มากถึง 464,385 บาท หรือเกือบ 500,000 บาท !!!!
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 หลังจากที่ได้รับแจ้งยอดหนี้ที่คำนวณใหม่จาก กยศ. ลูกหนี้ได้เดินทางไปยังสำนักงาน กยศ.เพื่อขอปิดบัญชีตามยอดที่ได้รับแจ้ง 84,959.44 บาท แต่ กยศ.กลับปฏิเสธ ไม่สามารถปิดบัญชียอดดังกล่าวได้ โดยยืนยันต้องปิดตามยอดในแอปพลิเคชัน “กยศ.connect” จำนวน 280,228.90 บาท หรือยอดตาม Loan Statement Report ณ วันที่ 29 มกราคม 2568 จำนวน 279,024 บาท แล้วค่อยทำเรื่องขอคืนภายหลัง
ขณะเดียวกัน ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ถึงวิธีการและที่มาของยอดหนี้ที่คำนวณ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถชี้แจงหรือเปิดเผยรายละเอียดแต่อย่างใด !?!
ถามว่าทำอย่างนี้ เจ้าหน้าที่ กยศ. เรื่อยไปจนถึงผู้จัดการกองทุน อาจจะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่และบริหารจัดการไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้หรือไม่ ?
นี่เป็นเพียงลูกหนี้ กยศ.บางส่วนที่ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ จากการบริหารจัดการของ กยศ.ที่ไม่เป็นระบบ ไม่โปร่งใส ซึ่งคาดจะมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้แสดงตัว หรือบางรายอาจจะไม่ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ น.ส.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการ กยศ.คนใหม่ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งแทนนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่โดยด่วน
“ท่านผู้ชมครับ ลูกหนี้ กยศ.ครับ ผมให้สัจจะวาจา ให้คำมั่นสัญญากับลูกหนี้ กยศ.ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ถูกขี้โกงโดยแอปพลิเคชัน โดยการทำงานโดยประพฤติมิชอบของ กยศ. เจ้าหนี้ และเจ้านาย คุณติดต่อผ่าน inbox เข้ามาเลยในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ส่งเข้ามาเลย ข้อมูล ตอนนี้ผมทราบอยู่ว่าตอนนี้ดีเอสไอกำลังดำเนินคดี สืบเสาะ ค้นพบเรื่องที่ กยศ.ทำกับลูกหนี้อย่างไร และเขาได้ข้อมูลหมดแล้ว ส่งมาเถอะครับ มูลนิธิ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" โดยผม ได้ปรึกษาหารือกับอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แล้ว เราจะเป็นเจ้าภาพให้พวกคุณ กยศ. และจำเลยที่เราคิดอยู่ ตอนนี้มีอยู่ 4 คนที่เราจะฟ้อง เมื่อเราได้หลักฐานจากพวกคุณแล้ว
“จำเลยที่ 1 คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะ กยศ.ขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 คือ คุณพิชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 3 คือปลัดกระทรวงการคลัง คุณลวรณ แสงสนิท ซึ่งดูแล กยศ.อยู่ จำเลยที่ 4 คือ คุณนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผมฟ้องคุณ ผมจะฟ้องพวกคุณคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หลังจากผมรวบรวมหลักฐานได้หมดแล้วว่านี่คือการกระทำของพวกคุณ ซึ่งขัดต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติ กยศ.ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 พวกคุณเตรียมรับงานเอาไว้
“และผมจะบอกคุณนะ คุณไม่รู้จักผมดี คุณไปเช็กเรื่องทนายตั้มให้ดีๆ ผมจะเดินสุดซอยกับพวกคุณ ผมจะเอาพวกคุณให้ติดคุกให้ได้ หรืออย่างน้อยเสื่อมเสียชื่อเสียง พวกคุณปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้ อาทิตย์หน้าผมจะเอาเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ ? เพราะมันมีขบวนการรับจ้างฟ้องร้อง รับจ้างประนอมหนี้ ผมอ่านดูแล้ว ดูข้อมูลแล้ว มันบัดสีบัดเถลิง อัปยศอดสู นึกไม่ถึงว่ามันจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ท่านผู้ชมครับ อะไรที่มันเลวร้ายกว่าความชั่วนั้น ผมคิดไม่ออก แต่มันชั่วยิ่งกว่าชั่วอีก” นายสนธิกล่าว