xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลเสวนาวิศวกรรมสถานฯ พบแบบตึก สตง.ไม่ตรงกฎกระทรวง-ตกมาตรฐานต้านทานแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิศวกรรมสถานฯ เสวนา ตึก สตง.พบการก่อสร้างบางประการไม่สอดคล้องกฎกระทรวงและมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ส่วนเหล็ก-ปูนซีเมนต์ที่ผลิตในไทยยังไม่พบที่ใดต่ำกว่ามาตรฐาน หนุนยกเลิกเตาหลอม IF แต่ต้องรอบคอบ ไม่ให้เกิความระส่ำระสายในวงการก่อสร้าง และกระทบข้อตกลงค้าเสรี พร้อมเห็นด้วยกับจัดการโรงงานต่างๆ แบบเด็ดขาดในการควบคุมคุณภาพและดําเนินการตามมาตรการสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะประธานมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ว่า วันนี้มาบรรยายร่วมเสวนาตามคำเชิญของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สรุปสาระสำคัญ

1. เบื้องต้นการ “ออกแบบ” อาคาร สตง.ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง

2.มาตรฐานและคุณสมบัติเหล็กข้ออ้อย มอก.ของประเทศไทยใช้มาตรฐานการควบคุณภาพและการตรวจสอบมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตใด หรือไม่ว่าจะเป็นเตาชนิดใดก็ตาม

3. มาตรฐานของเหล็กและคอนกรีตประเทศไทย สำหรับออกแบบการคำนวณเผื่อเอาไว้หลายเท่าตัว จึงไม่พบอาคารอื่นใดที่ถล่มพังทลายเหมือนตึก สตง.ประกอบกับเมื่อสอบถามการทดสอบเหล็กและคอนกรีตตามสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ ยังไม่พบว่ามาตรฐานเหล็กและคอนกรีตของประเทศไทยต่ำกว่าเกณฑ์


4. การยกเลิกโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กจากต่างประเทศที่ใช้เตาแบบ IF จำเป็นจะต้องทำด้วยความรัดกุมและรอบคอบ โดยเฉพาะประเทศไทยได้มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับจีนในเรื่องเหล็ก และการที่ไทยยอมให้อุตสาหกรรมจีนมาลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กที่ใช้เตา IF ในประเทศไทยมา 9 ปีแล้ว หากจะยกเลิกอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องมีผลสำรวจและเหตุผลน้ำหนักที่เพียงพอในการเปรียบเทียบทุกมิติระหว่างเตา EAF และ เตา IF รวมถึงขั้นตอนการยกเลิก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคต รวมถึงไม่ส่งกระทบต่อสต๊อกและการใช้งานอยู่ในปัจจุบันของประเทศไทย เช่น การทยอยยกระดับมาตรฐานโรงงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดภาวะโลกร้อน และภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ยอมรับได้

5. ปัญหาการทุ่มตลาดของอุตสาหกรรมเหล็กจีนในภูมิภาคอาเซียน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยอย่างหนักและต่อเนื่อง และทำให้ปริมาณการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้ผลิตเหล็กในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ มิได้มีความได้เปรียบอุตสาหกรรมเหมืองเหล็กต้นน้ำสำหรับประเทศไทยที่จะสามารถแข่งขันกับจีนได้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องแสวงหายุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย

6. เห็นด้วยกับการตรวจสอบคุณภาพโรงงานเหล็กในประเทศไทยทุกระบบ และดำเนินการอย่างเข้มงวดและเคร่งครัดต่อผู้กระทำความผิดในอุตสาหกรรมเหล็ก

7.แม้โดยระบบของวิศวกรรมโยธาในประเทศไทยยังมีความเป็นมืออาชีพ แต่ในทุกสังคมล้วนแล้วแต่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาวิศวกรจะต้องมีความชัดเจนในการตรวจสอบและลงโทษวิศวกรที่ไม่มีคุณภาพและไม่รับผิดชอบ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับวิชาชีพวิศวกรโยธาต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบ


ด้านวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกเอกสารแถลงข่าว ผลการเสวนา เรื่อง “ผลกระทบตึก สตง. ลามถึงมาตรฐานเหล็กไทย คอนกรีตและเศรษฐกิจไทย” วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ศุกร์ที่ 2 พ.ค. เวลา 10:30-11:30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคาร วสท. ดังนี้

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ข้อมูลเหล็กข้ออ้อย ตาม มอก. 24-2559 ที่ถูกต้องทางวิชาการ และลดความสับสนของสังคมเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568 ไปแล้วนั้น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอยืนยันข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้องทางวิชาการอีกครั้ง ดังนี้

1. สาเหตุการพังถล่มของอาคารสํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่พังถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวกําลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นที่มีผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมอยู่ด้วยพบว่าการก่อสร้างบางประการไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง และมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวและวิศวกรรมที่ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก

2. ชั้นคุณภาพของเหล็กข้ออ้อยตาม มอก. 24-2559 มี 3 ชั้นคุณภาพ คือ SD30 SD40 และ SD50 เหล็กข้ออ้อยที่มีเครื่องหมาย “T” และ Non T ใช้ได้กับงานก่อสร้างทุกประเภทมานานแล้วและมาตรฐาน มอก. 24-2559 ดังกล่าวครอบคลุมการผลิตเหล็กข้ออ้อย การทดสอบอย่างครบถ้วนแล้ว

3. กระบวนการผลิตเหล็กข้ออ้อยตาม มอก. 24-2559 แบบ “T” ทําให้ผิวของเปลือกนอกของเหล็กข้ออ้อยแข็งกว่าเหล็กด้านในแกนกลางทําให้เหล็กมีกําลังสูงขึ้นมีความแข็งมากขึ้น ดังนั้น มอก 24-2559 กําหนดการทดสอบความสามารถในการดัดโค้งเย็นไว้ในเกณฑ์มาตรฐานของเหล็กข้ออ้อยตาม มอก.24-2559

4. คุณภาพเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ผลิตจาก มอก. 24-2559 ที่ผ่านมาตรฐานตามที่กําหนดนี้ใช้ได้กับงานก่อสร้างทุกประเภท ดังนั้นเหล็กเสริมที่มาจากการผลิตแบบใช้เตา IF EF และวิธีอื่นๆ ก่อนนําไปใช้งานต้องผ่านการทดสอบตาม มอก. 24-2559 ที่กําหนดชักจํานวนตัวอย่าง การทดสอบตามมาตฐาน อย่างเคร่งครัดก่อนนําไปใช้งาน

5. การประกาศยกเลิกเหล็กจากเตาผลิตแบบ IF ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก 24-2559 ควรกระทําบนพื้นฐานที่ไม่สร้างความระส่ำระสายในความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก และกลุ่มผู้ค้าเหล็ก อันอาจทําให้เศรษฐกิจประเทศได้รับผลกระทบจากมาตรการที่กําหนด วสท.ขอเสนอแนะกรณีใดๆ ก็ตามที่จะมีประกาศยกเลิกเหล็กจากเตา IF ควรมีการเก็บข้อมูลเชิงเปรียบเทียบคุณภาพเหล็ก และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเทียบกับเหล็กที่มาจากเตาผลิตแบบอื่นๆ ตามมาตรฐานวิชาการ

6. ปูนซิเมนต์ที่ใช้ในปัจจุบันเรียกชื่อทางวิชาว่า Hydraulic cement เป็นปูนซิเมนต์ที่ผลิตตาม มอก 2594-2567 สามารถให้กําลังคอนกรีตได้ดีสําหรับงานก่อสร้างทุกประเภท ดังนั้น Hydraulic cement สามารถใช้ทดแทนปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์( Portland Cement) มานานหลายปีแล้วทั่วโลก

7. หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนวิธีการผลิตปูนซิเมนต์แบบดั้งเดิมมาเป็นกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ประเภท Hydraulic cement ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทําให้ประเทศไทยได้รับการชมเชยในการประชุม (Conference of the Party: COP) ที่ว่าด้วยการลดโลกร้อนอันสร้างชื่อเสียงประเทศอย่างมาก

8. ปูนซีเมนต์ประเภท Hydraulic cement ที่ผลิตจาก มอก.2597-2567 สามารถใช้ในการผสมคอนกรีตเพื่อนําไปใช้ได้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็กสําหรับก่อสร้างทุกประเภท

9. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีจัดการโรงงานต่างๆ แบบเด็ดขาดในการควบคุมคุณภาพ การดําเนินการตามมาตรการสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายไทยกับโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล็กและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
2 พฤษภาคม 2568






กำลังโหลดความคิดเห็น