xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ เผยข่าวดีพบกลุ่มปะการังที่ยังมีชีวิตรอด ชี้ ปะการังจุดรับลมมีโอกาสรอดการฟอกขาวมากกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยข่าวดีพบแนวประการังที่ยังมีชีวิตรอด ซึ่งปะการังจุดรับลมจึงมีโอกาสรอดจากการฟอกขาวได้มากกว่า เพราะคลื่นช่วยโยกน้ำให้เคลื่อนไปมา

วันนี้ (3 พ.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข่าวดีหลังพบกลุ่มปะการังที่ยังมีชีวิตรอด โดยรายงานว่า “ในที่สุดก็เจอ เย้ ! ผมเจอหมู่บ้านผู้อยู่รอด ปะการังที่ยังคงมีชีวิตอยู่แล้วครับเพื่อนธรณ์ โพสต์นี้ความรู้เพียบครับ

สองสามวันที่ผ่านมา ทีมคณะประมงดำน้ำสำรวจสุสานแนวปะการังน้ำตื้น เต็มไปด้วยปะการังตายจากการฟอกขาวเมื่อปีก่อน สร้างความหดหู่เป็นอันมาก

พื้นที่ยาวหลายร้อยเมตร จะลงตรงไหนก็ตาย ภาพปะการังยืนตายแบบรูปทรงคงเดิม แต่ปกคลุมด้วยตะกอน ไม่มีตัวอ่อนลงเกาะ ใต้น้ำมีปลาเพียงน้อยนิด มันวังเวงสุดๆ

ร่ำๆ จะเลิก ทิ้งมันเลย กลับไปหาที่สวยๆ ดำดูดีกว่า แต่ทำไม่ลงครับ เพราะหากอยากรับมือฟอกขาวครั้งหน้า เราต้องรู้ว่าที่ไหนตายที่ไหนรอด และทำไมเป็นเช่นนั้น ?

การตามหาผู้อยู่รอดจนเจอ จึงแสนสำคัญ เพราะเราจะได้เจาะจงดูแลเฉพาะพื้นที่ เนื่องจากพวกนี้ทนน้ำร้อนได้ ยังเป็นเขตควรฟื้นฟู จะปลูกปะการังหรือทำอะไรก็ทำเถิด ตรงนี้มีโอกาสรอดมากกว่าดันทุรังฟื้นฟูปะการังในสุสาน พวกนั้นปลูกไปก็ตาย

เนื่องจากแนวปะการังแห่งนี้มีพื้นที่ 2 ตร.กม. การดำน้ำตามหาจึงถึงขั้นกระอัก โชคดีที่เรามีโดรน ใช้จังหวะน้ำลงร่อนสำรวจเพดานบินต่ำ ยังใช้ความรู้พื้นฐาน หมู่บ้านผู้อยู่รอดควรอยู่ในเขตรับลม

แม้น้ำทะเลในช่วงเอลนีโญจะร้อนจัด แถวนี้เกิน 34 องศา ข้อความสำคัญคือแต่ละจุดจะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เปรียบเสมือนบนบก บางจุดอับลมก็ร้อนอบอ้าว บางจุดลมโกรกก็เย็นกว่า ปะการังจุดรับลมจึงมีโอกาสรอดจากการฟอกขาวได้มากกว่า เพราะคลื่นช่วยโยกน้ำให้เคลื่อนไปมา น้ำทะเลเย็นกว่าจากที่ลึกด้านนอกยังไหลเข้ามาปะทะ

แต่การหาจุดรับลมในแนวปะการังกลางทะเล ไม่มีเกาะ ทำยากเหมือนกันครับ ผมใช้เวลาไปพอสมควร กว่าจะหาจนพบ

พบจากการสำรวจทางอากาศแล้ว เราก็ต้องตามไปสำรวจทางน้ำ เนื่องจากเป็นเขตรับลม คลื่นย่อมแรง เราต้องรอจังหวะให้ทะเลเรียบจริง ธรณ์มาฟ้าใสจึงสำคัญ

ในที่สุด เราก็ปิดจ๊อบได้ครับ ใช้โดรนติดลำโพงนำทางทีมบุกเบิกเข้าไปข้างใน ระบุจุดได้แน่ชัด ผมเพิ่งลงน้ำไปดู รอดเยอะเลยครับ

เมื่อลองค้นดูภาพถ่ายจากโดรนในปีก่อน (ถ่ายไว้รอบแนวปะการัง เป็นพันๆ ภาพ) ตรงนี้ฟอกขาว/เปลี่ยนสีเช่นกัน แต่ไม่ขาวโพลนหนักเหมือนในเขตน้ำตื้น

ผมลองประเมินอัตรารอด น่าจะเกิน 80% เมื่อเทียบกับเขตอับลม ตรงนั้นตายกว่า 90% ตำแหน่งที่ตั้งจึงมีความสำคัญยิ่ง คำถามว่าปะการังฟอกขาว รอดหรือตาย ? จะต้องระบุเป็นจุดๆ จะเหมารวมไม่ได้ เพราะที่นี่ห่างจากจุดก่อนแค่ 5-600 เมตร อัตรารอดยังต่างกันลิบลับ

เราต้องสำรวจจุดนี้ให้ละเอียด ผมตั้งใจจะทำเป็นจุดศึกษาระยะยาวต่อเนื่อง แทน 2 จุดก่อนที่ตายสนิทไปแล้ว ปัญหามีประการเดียว จุดรับลมย่อมคลื่นแรง ถ่ายภาพจากโดรนก็ยาก ดำน้ำก็ลำบาก จังหวะต้องเป๊ะจริงๆ โอกาสมาแล้วพลาดมีเยอะ ความเสี่ยงสูง

แต่ก็จะพยายาม หามาตั้งนานกว่าจะเจอ

บทเรียนหนนี้สอนไว้ 2 อย่าง อย่ายอมแพ้ง่ายๆ และจงเชื่อว่า life will find a way ธรรมชาติย่อมมีหนทาง

จงอย่าหมดหวัง อย่าถอดใจ เชื่อทะเลเข้าไว้ ทะเลไม่ยอมแพ้ง่ายๆ

เราก็ต้องอย่ายอม

ขอบคุณ ปตท.สผ.และทีมเพื่อนธรณ์ ผู้ช่วยสนับสนุนงานวิจัยการติดตามผลกระทบโลกร้อนต่อแนวปะการัง คณะประมง มก.”

คลิก>>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น