รมว.คมนาคมมาเลเซีย เยือนไทยพบ "สุริยะ" เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พบความคืบหน้ารถไฟทางไกล กรุงเทพอภิวัฒน์-บัตเตอร์เวิร์ธ คาดเปิดบริการ ก.ค. 2568 ส่วน กรุงเทพอภิวัฒน์-กัวลาลัมเปอร์ คาดเปิดบริการภายในปี 2568
สำนักข่าวเบอร์นามา (Bernama) ของมาเลเซียรายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ว่า นายแอนโทนี่ โลค รมว.คมนาคมมาเลเซีย เปิดเผยว่า มีแผนจะกลับมาเปิดให้บริการรถไฟทางไกล ระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กับกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อีกครั้งในปี 2568 บริการดังกล่าวจะสามารถเปิดให้บริการโดยเร็ว เนื่องจากจะใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟที่มีอยู่เดิม เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองปาดังเบซาร์ รัฐปะลิส เมืองบัตเตอร์เวิร์ธ รัฐปีนัง และกรุงกัวลาลัมเปอร์
ทั้งนี้ การรถไฟมาลายา (KTM Berhad) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะใช้เวลาเตรียมการเบื้องต้นเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเริ่มให้บริการรถไฟเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพฯ แม้การดำเนินการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสร้างเส้นทางรถไฟใหม่ แต่จำเป็นต้องมีการประสานงาน การทำการตลาดร่วมกัน และการออกตั๋วโดยสารร่วมกันระหว่างสองประเทศ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 พ.ค.) นายโลค เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าพบ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บางซื่อ และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับบริการรถไฟของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน นายโลคยังกล่าวด้วยว่า ทางการไทยได้เสนอให้ขยายบริการรถไฟ จากสถานีสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ไปยังเมืองรันเตาปันยัง และเมืองปาเซร์มัส รัฐกลันตันในมาเลเซีย ซึ่งตนยินดีรับข้อเสนอนี้ เนื่องจากถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและปรับปรุงคุณภาพชีวิตในพื้นที่ชายแดน
แต่จะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเส้นทางรถไฟระหว่างสุไหงโก-ลก รันเตาปันยัง และปาเซร์มัส เนื่องจากต้องมีการบูรณะรางรถไฟที่ไม่ได้ใช้งานมานานในเมืองรันเตาปันยังและสุไหงโก-ลก
อีกด้านหนึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การเยือนของฝ่ายมาเลเซียในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังการเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ทั้งสองฝ่ายแน่วแน่ที่จะกระชับความสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือทวิภาคี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ
โดยการขนส่งทางถนน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงการเร่งรัดการพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย (CBTG) และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย (CBTP) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้า อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศ และเพื่อให้เกิดสิทธิในการขนส่งทางถนนที่เท่าเทียมกัน โดยตั้งเป้าหมายให้การเจรจาได้ข้อยุติและลงนามเอ็มโอยูทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือน ก.ค. 2568
พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลระบบใบอนุญาตขับรถแบบดิจิทัลกับใบขับขี่ระหว่างประเทศ ผ่านกลไกอาเซียนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านการขนส่งทางราง ได้หารือการฟื้นฟูการเดินรถไฟเส้นทางสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง โดยที่ประชุมมอบหมายให้ ร.ฟ.ท. และการรถไฟมาเลเซีย (KTM Berhad) ร่วมกันพิจารณากระบวนการและกำหนดแผนการกลับมาเปิดให้บริการที่ชัดเจน เพื่อฟื้นฟูโครงข่ายการคมนาคมข้ามพรมแดนในอดีต และสอดคล้องกับการพัฒนาระบบรางชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย (ECRL) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะเปิดให้บริการในไตรมาส 4 ของปี 2569 นอกจากนี้ ได้หารือในประเด็นการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันการทำพิธีการศุลกากรเพียงครั้งเดียว ณ จุดขาเข้า (SSI)
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความยินดีต่อการกลับมาให้บริการรถไฟ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวิร์ธ รัฐปีนัง ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม คาดว่าจะเปิดให้บริการเที่ยวแรก ภายในเดือน ก.ค. 2568 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศ ส่วนฝ่ายมาเลเซียได้รายงานความคืบหน้าโครงการท่าเรือบกปะลิส (PIP) ตั้งอยู่ห่างจากด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการระยะที่ 1 ภายในปี 2568 เพื่อบรรเทาความแออัดของการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จากปาดังเบซาร์ คอนเทนเนอร์ เทอร์มินอล (PBCT) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ