"กรมควบคุมโรค" ผวา แอนแทรกซ์หวนคืน คร่าชีวิตชาย 53 ปีที่มุกดาหาร คาดชําแหละเนื้อวัวกินงานผ้าป่า พบเสี่ยงสูง 247 คน เตือนปชช.เลี่ยงสัมผัสสัตว์ป่วย-กินเนื้อดิบ
จากกรณี “หมอแล็บแพนด้า” โพสต์เตือนระวังติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ หลังมีคนเสียชีวิตแล้ว 1 ราย สันนิษฐานก่อนเสียชีวิตได้สัมผัสโค กระบือ-กินเนื้อวัวดิบ ย้ำ ควรกินอาหารปรุงสุก และถ้าเจอสัตว์ตายโดยไม่รู้สาเหตุอย่าเอามาชำแหละกินกัน
ล่าสุด วันนี้ (1 พ.ค.) มีรายงานว่า นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย ภายหลังพบผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดมุกดาหาร โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุ 53 ปี มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน และประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้าง เริ่มมีอาการตุ่มแผลขึ้นที่มือขวาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2568 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 27 เมษายน 2568 ด้วยอาการแผลที่มือมีสีดำชัดเจน ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ขวาโต และมีอาการหน้ามืด ชักเกร็ง ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
แพทย์ผู้ทำการรักษาได้สงสัยว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อแอนแทรกซ์ จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งผลตรวจยืนยันพบเชื้อ Bacillus anthracis จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคและพบผู้สัมผัสใกล้ชิดจำนวน 247 คน แบ่งเป็นผู้ที่ชำแหละโค 28 คน และผู้ที่บริโภคเนื้อโคดิบ 219 คน โดยได้ดำเนินการให้ยาป้องกันโรคในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่
นายแพทย์ภาณุมาศ อธิบายว่า โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทานในสภาพแวดล้อม และสามารถก่อโรคได้นานหลายปี แหล่งรังโรคหลักคือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้โดยตรง การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง เช่น ชำแหละเนื้อ บริโภคเนื้อดิบหรือปรุงไม่สุก หรือสัมผัสหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีเชื้อ หลังรับเชื้อ 1-5 วัน จะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง มีแผลคล้ายบุหรี่จี้ หายใจขัด หากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 80% ข้อมูลจากกองระบาดวิทยาพบผู้ป่วยในไทยครั้งล่าสุดในปี 2543 รวม 15 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านว่า ในปี 2567 ประเทศลาวพบผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ 129 ราย เสียชีวิต 1 ราย และเมื่อพฤษภาคม 2566 เวียดนามพบการระบาด 3 เหตุการณ์ ผู้ป่วยรวม 13 ราย และผู้สัมผัส 132 ราย จากการกินเนื้อโคและกระบือเช่นกัน
สำหรับแนวทางการป้องกันโรคแอนแทรกซ์ นายแพทย์ภาณุมาศ แนะนำให้ประชาชน 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ 2. ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ 3. เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย 4. หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที 5. หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ หากมีข้อสงสัยโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422