กอบศักดิ์ชี้ Moody's ลดเครดิตไทยแค่ 'สัญญาณเตือน' ย้ำ! หากไม่เร่งแก้เสี่ยงโดนหั่นอันดับจริง จี้รัฐบาลรับมือ 'ยุคทรัมป์' สร้างเศรษฐกิจโตยั่งยืน
จากกรณีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก Moody's Investors Service (มูดีส์) ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่ "เชิงลบ" (Negative) จากเดิมที่อยู่ในระดับ "มีเสถียรภาพ" (Stable) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนถึงความกังวลของ Moody's เกี่ยวกับความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และฐานะทางการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลงในระยะข้างหน้า
ล่าสุดวันนี้ (30 เม.ย.) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็นดังกล่าว เตือนไทย อนาคตเสี่ยงโดนลด Rating โดย ดร.กอบศักดิ์ได้ระบุข้อความว่า
“ถอดรหัส Moody’s เกี่ยวกับประเทศไทย !!!
ข่าวที่ทุกคนสนใจเมื่อคืนนี้ คงไม่พ้นการลด Outlook ของไทย
จาก Stable มาเป็น Negative
ซึ่ง Moody’s เป็นเจ้าแรกใน 3 Ratings Agencies ใหญ่ของโลก ที่เริ่มนำร่องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไทยในรอบนี้
ซึ่งเป็นเรื่องที่มีนัย
เพราะสำหรับ Moody’s นั้น Negative Outlook เป็นก้าวแรกที่อาจจะนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต
เป็นการเตือนประเทศไทย
ส่วนอีก 2 เจ้าใหญ่ที่เหลือ คือ S&P และ Fitch Ratings การประกาศของ Moody’s จะเป็นการกระตุ้นให้อีกสองเจ้าต้องเริ่มกลับมาดูข้อมูลโดยละเอียดอีกรอบ และทบทวนว่าจะปรับเปลี่ยนมุมมองของไทยตามหรือไม่
ที่มีการปรับเปลี่ยนมุมมองหรือ Outlook ของไทย Moody’s ชี้แจงว่า มาจาก
”risks that Thailand’s economic and fiscal strength will weaken further“
ความเสี่ยงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและสถานะภาคการคลังของไทยอาจจะอ่อนแอลงไปกว่านี้
ซึ่งมาจากนโยบาย Tariffs ของสหรัฐฯ ที่กำลังส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก ที่จะกระทบต่อมาที่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาต่างประเทศมาก
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่าหลังจากชะลอไป 90 วัน ไทยและประเทศต่างๆ จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเท่าไร
ทั้งหมดนี้ จะซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ไทยมีก่อนหน้าอยู่แล้ว คือการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดีเทียบกับคนอื่นๆ หลังจบปัญหาเรื่องโควิด และปัญหาการลดลงของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เราโตช้าลงเรื่อยๆ
ที่ Moody’s กังวลใจก็คือ ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในการส่งออก และจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ในการผลิตสินค้าของภูมิภาค
หากเศรษฐกิจไทยโตช้าลงกว่านี้อีก จากความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบไปที่สถานะภาคการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ช่วงโควิด ให้แย่ลงไปจากเดิม
ดังนั้น จึงให้มุมมอง Negative กับไทย
แต่ที่น่าสนใจก็คือ
การปรับลดเป็น Negative ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การลด Rating เสมอไป
เป็นการเตือนว่า “จับตามองแล้วนะ” “มีความเสี่ยง”
ในอดีต ช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008 ก็เคยลด Outlook ของไทยเป็น Negative แต่เมื่อเราผ่านช่วงวิกฤตนั้นมาได้ 2 ปีให้หลังก็ปรับมาเป็น Stable อีกครั้ง
ในรอบนี้เช่นกัน
Moody’s บอกว่า Outlook เปลี่ยนได้
ถ้าไทยสามารถขยายตัวได้สูงกว่าที่เขาคาดไว้ในใจอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้สถานะการคลังไทยดีขึ้น
หมายความว่า ถ้าเราขาดดุลการคลังได้น้อยลง และเป็นหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลดลง จากเศรษฐกิจที่โตต่อเนื่อง
เขาก็จะกลับไปที่ Stable ได้
ขณะเดียวกัน Moody’s เตือนว่า
Negative Outlook รอบนี้ อาจจะตามมาด้วยการลด Rating ในอนาคต ถ้าหาก
(1) เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงไปกว่านี้ ศักยภาพในการเติบโตลดต่ำไปกว่านี้ จากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในด้านต่างๆ รวมทั้งจากความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจโลกจากนโยบายสหรัฐฯ
หรือ (2) ภาระหนี้ของภาครัฐไทยยังเพิ่มต่อเนื่องในช่วงต่อไป ทั้งจากปัญหาภายนอกและภายในที่จะเข้ามากระทบทำให้ไทยโตไม่ได้ หรือจากความตึงเครียดขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายของไทย
ทั้งหมดเป็นการเตือน และแจ้งว่า Moody’s กังวลใจมองอะไรอยู่ และเขาอยากเห็นอะไร
หน้าที่ของเราก็คือ เร่งแก้ไข ปรับปรุงตนเอง
ซึ่งคงต้องทำ 3 เรื่อง
(1) ไม่ทำในสิ่งที่เขากังวลใจ
(2) เตรียมการให้เศรษฐกิจไทยผ่านมรสุมจาก President Trump ไปได้ พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
(3) มุ่งสร้างอนาคตที่แท้จริง เพราะสิ่งที่ Moody’s อยากเห็นจริงๆ คือ ศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 3-4% เป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่า เราต้องเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ที่แท้จริง เพิ่มศักยภาพการวิจัยของไทย แก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นโซ่ถ่วงประเทศ และที่สำคัญสุดคือ แก้ไขเรื่องการพัฒนาคนของไทย
ทั้งหมดนี้ เราทำได้ ถ้าเราตั้งใจพอ"