xs
xsm
sm
md
lg

เรียกร้อง "ชัชชาติ" ตรวจความปลอดภัยอาคารสูง 50 เขต ใน 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคยื่นเอกสารให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติตรวจสอบอาคารสูงในพื้นที่ 50 เขต กทม.ภายใน 30 วัน หลังผู้บริโภค 11 ชุมชนร้องเรียนกรณีอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร ไม่จัดให้มีผิวถนนกว้าง 6.00 เมตร หวั่นหากเกิดเหตุอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอื่น รถดับเพลิง กู้ภัยเข้าไม่ได้ ขณะที่สำนักการโยธา กทม.รับลูก สั่งตรวจสอบอาคารผิดกฎหมาย และเตรียมเสนอแก้กฎหมายกำหนดผิวจราจร 6.00 เมตร

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 สภาผู้บริโภค พร้อมกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ ได้เดินทางยื่นหนังสือต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีลักษณะก่อสร้างเข้าข่ายละเมิดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ข้อ 3 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคถึงความปลอดภัยก่อนเกิดเหตุไม่คาดฝัน โดยมีนายสุรัช ติระกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับหนังสือ

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 ชุมชน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ว่าได้พบ “อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ” จำนวนหลายแห่งในเขตกรุงเทพมหานคร มีการก่อสร้างอันอาจเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ข้อ 3 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เนื่องจากไม่จัดให้มี “ถนนที่มีผิวการจราจรกว้างไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร ที่ปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคาร เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก” ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ข้อ 3 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าโครงการอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษได้นำพื้นที่ผิวการจราจรกว้างไม่น้อยกว่า 6.00 เมตรดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรม หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นแทน เช่น สวนหย่อม บ่อน้ำ ที่จอดรถ หรือใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ เพื่อใช้ประกอบการส่งเสริมการขาย โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยจากเหตุอัคคีภัย ที่ต้องมีทั้งระยะ และพื้นที่ในการเข้าช่วยเหลือ กู้ภัย ระงับเหตุ อพยพประชาชน รวมถึงในกรณีที่เกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรงอื่นๆ ด้วย เช่น เหตุแผ่นดินไหว หรือเหตุภัยพิบัติอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการสร้างความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในอาคาร และประชาชนบริเวณโดยรอบอาคาร

สภาผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนผู้บริโภค จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 จึงนำข้อมูลดังกล่าวมาเพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อให้พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตรวจสอบอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ข้อ 3 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ทันที และขอให้มีคำสั่งการให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 30 วัน
2. ขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งการไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตรวจสอบอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ทั้งในส่วนอาคารที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้าง อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยหากพบอาคารที่ละเมิดต่อกฎกระทรวงดังกล่าว ขอให้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือฉบับนี้
3. ขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาคารในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างอาคารเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน

ขณะที่ นายสุรัช ติระกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า หลังที่ได้รับเรื่องร้องเรียน ได้สั่งเจ้าหน้าที่ให้ลงไปตรวจสอบอาคารที่แจ้งมาทั้งหมดว่ามีลักษณะที่ผิดกฎหมาย กฎกระทรวงข้อใดบ้าง และทำหนังสือแจ้งเขตเพื่อดำเนินการตรวจสอบแล้ว
“เรื่องของการกำหนดระยะถนนน้อยกว่า 6 เมตรนั้นประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือเรื่อง อัคคีภัย รถดับเพลิง ถ้าถนนแคบมาก 4-5 เมตรการเข้าถึงของรถดับเพลิงจะลำบาก ถ้าเกิดเพลิงไหม้เขาไม่สามารถเอารถเข้าไปได้ต้องจอดถนนใหญ่แล้วลากสายดับเพลิงเข้าไปทำให้ใช้เวลาในการดำเนินการมากขึ้น”

นายสุรัชกล่าวอีกว่า อาจต้องแก้ไขกฎหมายในเรื่องของเขตทาง ที่กำหนดไว้ 6 เมตร แต่ในสภาพจริง ไม่ได้มีผิวจราจรที่ 6 เมตร แต่มีเสาไฟ ป้าย ทำให้มีถนนที่ใช้งานจริงไม่ได้ตามกฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้นตัวนี้ได้ข้อคิดจาสภาผู้บริโภคมาตั้งแต่แรกทำให้กลับมาแก้ไขกฎหมายให้พื้นผิวถนนคือ 6 เมตร










กำลังโหลดความคิดเห็น