xs
xsm
sm
md
lg

เพจดังสวน “สมศักดิ์” บอกยาสมุนไพรเป็นทางเลือก แต่ รพ.ได้เงินเพิ่ม-วัด KPI ฉ่ำ เผย "ยาแผนปัจจุบัน" กว่าจะถึงมือผู้ป่วยวิจัยกว่า 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจดังแฉนโยบายรัฐ สั่ง รพ.ลดจ่ายยาแผนปัจจุบัน หันใช้สมุนไพรแทน หวั่นซ้ำเติมผู้ป่วย-แพทย์ไร้ทางเลือก รมว.สธ.ยัน "เป็นทางเลือก" แต่เพจสวนกลับด้วยข้อมูล รพ.ได้เงินเพิ่ม-KPI ชัดเจน พร้อมแฉกระบวนการวิจัยยาแผนปัจจุบันกว่าจะถึงมือผู้ป่วยต้องผ่านการทดลองนานนับ 20 ปี

จากกรณีเพจ "Remrin" แฉนโยบายรัฐสั่งโรงพยาบาลลดจ่ายยาแผนปัจจุบัน หันใช้สมุนไพรแทน หวั่นซ้ำเติมผู้ป่วย-แพทย์ไร้ทางเลือก อีกทั้งเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณอีกด้วย

ล่าสุดวันนี้ (29 เม.ย.) ทางเพจได้ออกมาโพสต์ข้อความอีกครั้ง หลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงกรณีมอบนโยบายให้โรงพยาบาลใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน 55 รายการ ว่าเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาไทย และเป็น "ทางเลือก" ให้โรงพยาบาลใช้ยาสมุนไพรพื้นฐาน 4 กลุ่มในการรักษาอาการเบื้องต้น เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย โดยมีงบประมาณจาก สปสช.สนับสนุนปีละ 1 พันล้านบาท

นายสมศักดิ์เชื่อว่ายาสมุนไพรมีประสิทธิภาพ "ดีกว่า" ยาแผนปัจจุบันในบางกรณี เช่น ฟ้าทะลายโจรสำหรับท้องผูก และยืนยันว่าไม่มีการกำหนดการจ่ายยาสมุนไพรเป็นตัวชี้วัดโรงพยาบาล แต่ สปสช.จะให้รางวัลแก่โรงพยาบาลที่ใช้ยาสมุนไพรได้มาก เพื่อส่งเสริมการใช้ยาไทยและลดการพึ่งพาสารเคมีจากต่างประเทศ

ทำให้ทางเพจได้ออกมาระบุข้อความเกี่ยวกับคำตอบของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขว่า

"สรุปที่รัฐมนตรีตอบคำถามเรื่องการบังคับใช้สมุนไพร จากโพสต์ที่แอดลงเมื่อวานนะครับ

สรุปเขาตอบมาประมาณนี้

1. ไม่ได้บังคับ ไม่เคยบังคับ และไม่มีตัวชี้วัด เป็นแค่คำแนะนำ

2. ผมเชื่อว่าสมุนไพรดีกว่ายาแผนปัจจุบัน เพราะงั้นควรสนับสนุนให้จ่ายยาสมุนไพร

3.ยาแผนปัจจุบันเป็นสารเคมีเข้าร่างกายมากไม่ดี

เหรอ แต่ในความเป็นจริงที่ รพ.เจอตอนนี้คือ

1. ถ้าจ่ายสมุนไพรเยอะ รพ.ได้เงินเพิ่ม

2. ใส่ในตัวชี้วัด รพ.จะไม่จ่ายก็ได้ไม่บังคับ แต่พอถึงวันประเมิน รพ. ก็แค่ไม่ผ่านและโดนตัดงบส่วนใหญ่ เท่านั้นเอง

ก็คือบังคับไหมล่ะคร้าบบบ

บอกไม่บังคับ มาดู KPI ด้วยกันไหม
แล้วในรูปด้านล่างคือไรครับ ??? ไม่มีตัวชี้วัดตรงไหน

บอกยาแผนปัจจุบันเป็นสารเคมีไม่ดี กว่าเขาจะวิจัยยา ผ่านการทดลองในหลอดทดลอง มาจนคนกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ และวางจำหน่ายก็ยังมีติดตามผลข้างเคียงระยะยาว กว่าจะวางขายได้ ใช้เวลา 10-20 ปี มาบอกแค่ว่ามันเป็นสารเคมีไม่ดีต่อร่างกายแบบนี้ รู้สึกแย่นะ

สารเคมี คือสารที่มีองค์ประกอบทางเคมีเฉพาะตัว ซึ่งสามารถเป็นทั้งของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ โดยประกอบด้วยอะตอมและโมเลกุลที่รวมตัวกันอย่างเป็นระเบียบตามกฎของเคมี อาจจะเกิดจากการรวมตัวของธาตุเดี่ยวหรือสารประกอบก็ได้ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้สามารถมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

เพราะงั้นน้ำ (H2O) ก็เป็นสารเคมีครับ แหมมม ไม่ใช่สารเคมีคือไม่ดี

กว่าจะเป็นยาใหม่ๆ 1 ตัวให้เราได้กินเพื่อรักษาโรค ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง มาดูกัน

ขั้นตอนที่ 1 Discovery and Development
คือการค้นคว้าหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาวิจัย และทดลอง เพื่อหายารักษาใหม่ๆ

ขั้นตอนที่ 2 Preclinical Research
คือการทดลองดูฤทธิ์ยาเบื้องต้น
2.1 ทดสอบในแล็บเพื่อดูปฏิกิริยา ใช้เวลาประมาณ 2 ปี
2.2 ทดสอบในสัตว์ทดลอง ใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ซึ่งในขั้นนี้เราจะได้ข้อมูลสิ่งเหล่านี้เบื้องต้น

1) Pharmacokinetics (เภสัชจลนศาสตร์) เกี่ยวกับกระบวนการที่ร่างกายจัดการกับยา ตั้งแต่การนำยาเข้าสู่ร่างกาย การดูดซึมเข้าร่างกาย ปฏิกิริยาต่อร่างกาย และการขับยาออกจากร่างกาย

2) Pharmacodynamics (เภสัชพลศาสตร์) เกี่ยวกับฤทธิ์และผลของยาต่อร่างกาย รวมทั้งฤทธิ์แทรกซ้อนและพิษของยา ความสัมพันธ์ของการดูดซึม, การกระจาย, การทำลาย และการขับถ่ายของยา

3) อื่นๆ เช่น พิษของยาทั้งระยะสั้น และระยะยาว ผลของยาต่อการสืบพันธุ์ (ไม่ใช่ทำยามาตัวหนึ่งแล้วคนกินไปแล้วดันเป็นหมัน) ผลของยาต่อทารกในครรภ์ ผลของยาต่อการเกิดมะเร็งในอนาคต

ขั้นตอนที่ 3 Clinical Research
การทดลองกับมนุษย์จริงๆ

3.1 phase 0 (มีหรือไม่มีก็ได้)
เป็นการลองใช้ยากับอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ โดยใช้ขนาดยาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก (เนื่องจากยังไม่รู้ว่ายามีผลหรืออันตรายต่อมนุษย์หรือไม่)

3.2 phase 1
ทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มเล็ก ที่สุขภาพดี (20-100 คน)

- ระยะเวลาของ phase นี้ ประมาณ 1 ปี
- ทดสอบเภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพลศาสตร์ต่อมนุษย์
- ทดสอบขนาดยาสูงสุด ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ (maximum tolerated dose)
- ทดสอบช่องทางใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดของยาชนิดนี้ (Ex. กินทางปาก เหน็บทวาร ฉีดเข้าผิวหนัง ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าเส้นเลือด อมใต้ลิ้น หยอดตา ฯลฯ)

3.3 phase 2
ทดสอบกับอาสาสมัครที่เป็น "ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย" ที่ป่วยเป็นโรคที่ต้องการใช้ยานี้รักษาจริงๆ (100-200 คน)

- ระยะเวลาของ phase นี้ ประมาณ 2 ปี
- ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเมื่อใช้กับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของยาตัวนี้

3.4 phase 3
ทดสอบกับผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ (1,000-6,000 คน)

- ระยะเวลาของ phase นี้ ประมาณ 3 ปี
- เนื่องจากอาสาสมัครกลุ่มเล็ก อาจจะมีผลข้างเคียงบางอย่างที่มีโอกาสเกิดน้อยหลุดเล็ดลอดไป จึงทดสอบกับกลุ่มใหญ่ เพื่อยืนยันว่ายามีประสิทธิภาพและปลอดภัยจริง+
- ใช้ติดตามผลข้างเคียงระยะยาวของยา เนื่องจาก phase นี้นานที่สุดจึงเหมาะแก่การติดตามผลข้างเคียงระยะยาว

ขั้นตอนที่ 4 FDA review
คือการเสนอขึ้นทะเบียนกับ อย.

- กว่ายาจะผ่านมาตรฐานและวางจำหน่าย ทางบริษัทยาต้องรวมข้อมูลยา ทำฉลากชัดเจน ลงข้อมูลยาในทุกๆ ด้านไปเสนอ โดยใช้ข้อความที่คนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย บรรจุภัณฑ์มีคุณภาพ ไม่บุบไม่รั่วไม่แตก จนยาเสื่อมสภาพได้ง่าย

ขั้นตอนที่ 5 FDA post-market safety monitoring
การออกสู่ตลาดและติดตามผลลัพธ์

- แม้จะวางจำหน่ายไปแล้วก็ตาม แต่บางครั้งแม้คัดกรองผ่านทุกขั้นตอนมาตลอด 10 กว่าปีที่วิจัยยามา ก็ยังมีหลุดสารพิษ หรือผลข้างเคียงในระยะยาวได้ โดยแม้วางจำหน่ายแล้ว ยังคงต้องติดตามผลลัพธ์ และเก็บสถิติการใช้ยากับคนไข้ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ ราคา และภาวะแทรกซ้อนเมื่อเทียบกับยาชนิดอื่น โดยมียาหลายชนิดที่มาเจอความอันตรายของยาในภายหลังและต้องเรียกยาคืน ห้ามใช้ หรือต้องใช้เป็นยาควบคุมใช้โดยแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

ซึ่งกว่าจะผ่านออกมาเป็นยาตัวหนึ่งอาจต้องใช้เวลากว่า 20 ปีเลยนะ"
กำลังโหลดความคิดเห็น