xs
xsm
sm
md
lg

“DIP” ลงพื้นที่แหล่งผลิต “ลิ้นจี่นครพนม” ผลไม้ GI จับมือกลุ่มพันธมิตรขยายช่องทางการตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทรัพย์สินทางปัญญา นำทีมลงพื้นที่แหล่งผลิตลิ้นจี่นครพนม สินค้า GI ของดีเมืองพระธาตุพนมเดินหน้าจับมือกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โรงแรมและร้านอาหารในจังหวัด พร้อมสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าปัจจุบัน

วันนี้ (28 เม.ย.) นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่แหล่งผลิตลิ้นจี่นครพนม สินค้า GI ว่า “กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตามนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล ด้วยสินค้า GI เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของชุมชนมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่แหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ส่งผลให้สินค้ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวของท้องถิ่นนั้นๆ

ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนส่งเสริมสินค้า GI ในทุกมิติ ทั้งการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GI และสนับสนุนการขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ไทย โดยปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 230 สินค้า มูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นางสาวนุสรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดนครพนมครั้งนี้ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย
กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 “ลิ้นจี่นครพนม” ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดนครพนม เป็นลิ้นจี่ที่ไม่ต้องการอากาศหนาวเย็นมากนัก และด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขงมีดินอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมส่งผลให้ลิ้นจี่นครพนมมีลักษณะโดดเด่นเปลือกสีแดงอมชมพู ผลใหญ่ รูปทรงไข่ เนื้อผลแห้ง สีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด ซึ่งเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของลิ้นจี่นครพนมเท่านั้น และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค คาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตลิ้นจี่นครพนมจะมีประมาณ 1,000 – 1,200 ตัน และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดกว่า 120 ล้านบาท”

นางสาวนุสรา กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร ห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ท็อปมาร์เก็ต ในการรับซื้อลิ้นจี่นครพนมเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือกับเครือข่ายร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโรงแรมในจังหวัด เช่น ร้านชมนคร ร้านชีวาคาเฟ่ โรงแรมชีวาโขง และร้านเอสเคคาเฟ่ เพื่อรับซื้อลิ้นจี่นครพนมนำไปใช้เป็นวัตถุดิบและแปรรูปต่างๆ อาทิ เค้กลิ้นจี่ กาแฟลิ้นจี่ ลิ้นจี่โซดา เป็นต้น ซึ่งกรมฯ ได้ส่งเสริมการขยายช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ สร้างการรับรู้ และสนับสนุนการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ “ลิ้นจี่นครพนม” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าลิ้นจี่นครพนมนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรลิ้นจี่นครพนมอย่างยั่งยืน








กำลังโหลดความคิดเห็น