xs
xsm
sm
md
lg

เพจดังแฉ! โรงพยาบาลรัฐลดจ่ายยาแผนปัจจุบัน บังคับใช้สมุนไพรแทน หวั่นกระทบรักษา-ภาระงบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สะเทือนวงการสาธารณสุข! เพจ "Remrin" แฉนโยบายรัฐ สั่งโรงพยาบาลลดจ่ายยาแผนปัจจุบัน หันใช้สมุนไพรแทน หวั่นซ้ำเติมผู้ป่วย-แพทย์ไร้ทางเลือก

วันนี้ (28 เม.ย.) เพจ “Remrin” ซึ่งเจ้าของเพจเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ออกมาโพสต์ข้อความเผยเรื่องราวน่าเป็นห่องในวงการสาธารณสุข หลังพบว่า หลายโรงพยาบาลลดการจ่ายยาแผนปัจจุบันหันไปจ่ายยาสมุนไพรแผนไทยแทน โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า

ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มได้รับนโยบายจากระดับบน ให้ดำเนินการลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน และเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น โดยนโยบายนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้สมุนไพรเป็นทางเลือก แต่ในบางกรณีถึงขั้นกำหนดเป็นตัวชี้วัด (KPI) ที่โรงพยาบาลต้องจ่ายยาสมุนไพรให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ หากไม่สามารถทำได้ตามเป้า อาจส่งผลกระทบต่อการประเมินผลงานของโรงพยาบาล และนำไปสู่การจำกัดงบประมาณ

ที่โรงพยาบาลของทางแอดมินเพจยาแผนปัจจุบันหลายตัวถูกถอดออกจากบัญชียาของโรงพยาบาลแล้ว พวกเราแพทย์แผนปัจจุบันถูกบังคับให้ใช้ยาสมุนไพรในการรักษาคนไข้แทน ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับขนาดยา ผลข้างเคียง และกลไกการออกฤทธิ์ของยาสมุนไพรเหล่านั้นเลย

ตัวอย่างรายการยาสมุนไพรที่โรงพยาบาลของตนเองถูกบังคับให้ใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันแล้ว ได้แก่:
* ครีมไพลจีซาล แทน balm
* มะขามป้อม แทนยาแก้ไอ M.tussis
* มะขามแขก แทนยาถ่าย Bisacodyl
* ยาธาตุอบเชย แทนยาน้ำแก้ท้องอืด M. carminative
* ครีมพญายอ แทนยาต้านไวรัส Acyclovir cream

นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่สร้างความหนักใจให้กับแพทย์ เช่น การกำหนดเป้าหมายการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 หรือการพยายามลดการใช้ยาแผนปัจจุบันบางชนิด เช่น Proctosedyl สำหรับรักษาริดสีดวง โดยให้หันไปใช้ยาสมุนไพรเพชรสังฆาตแทน

ปัญหาคือยาสมุนไพรบางตัวไม่สามารถทดแทนยาแผนปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เราก็ไม่มีทางเลือก เพราะไม่มียาแผนปัจจุบันให้ใช้แล้ว"

ทางเพจตั่งคำถามถึงความเหมาะสมของนโยบายนี้ว่า "ในเมื่อโรงพยาบาลก็มีแพทย์แผนไทยโดยตรงอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องบังคับให้แพทย์แผนปัจจุบันที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ต้องมาใช้สมุนไพรแทนด้วย"

ยิ่งไปกว่านั้น ทางเพจเผยว่ายาสมุนไพรบางรายการที่นำมาใช้ทดแทน กลับมีราคาสูงกว่ายาแผนปัจจุบันเสียอีก ซึ่งสวนทางกับหลักการลดค่าใช้จ่ายด้านยา

ความเคลื่อนไหวนี้กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์หลายภาคส่วน โดยมีความหวังว่าอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จะสามารถออกมาแสดงความเห็นและคัดค้านนโยบายดังกล่าว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ป่วยและการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น