เพจ "Drama-addict" อธิบายเคสคนไข้แพ้ยากันชักรุนแรงจนตาบอด ด้านโรงพยาบาลต้นสังกัดแจงไม่ได้จ่ายยาผิด แต่เป็นเคราะห์ร้ายจากอาการแพ้ยาขั้นรุงแรง และทาง รพ.พร้อมจะรับผิดชอบค่ารักษาและค่ายาส่วนที่เบิกไม่ได้
จากกรณีที่สื่อนำเสนอข่าวผู้ป่วยชายวัย 48 ปี ป่วยเป็นเนื้องอกในสมองและมีอาการชัก ซึ่งต่อมาเกิดอาการแพ้ยากันชักอย่างรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น สร้างความสะเทือนใจและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ทางเพจ "Drama-addict" ได้ออกมาโพสต์อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า “วันสองวันก่อนสื่อนำเสนอข่าวน่าสนใจเคสหนึ่ง คือคนไข้อายุ 48 ปี ป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง แล้วมีอาการชัก หมอจ่ายยากันชักให้ ปรากฏว่าเกิดอาการแพ้ยารุนแรง จนถึงขั้นตาบอด คนไข้ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เลยร้องสื่อเพราะต้องการความช่วยเหลือ
ซึ่งทาง รพ.ก็ออกมาแถลงในเวลาต่อมา ว่าคนไข้มา รพ.ด้วยอาการชักจากเนื้องอกในสมอง ทาง รพ.จึงจ่ายยากันชัก phenytoin เพื่อป้องกันอาการชัก หลังจากนั้นคนไข้อาการคงที่จึงให้กลับบ้านและนัดมาตรวจซ้ำ
ระหว่างนั้นคนไข้มีผื่นขึ้นตามตัว ตาแดง คนไข้มา รพ. แพทย์วินิจฉัยเป็นอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง TEN (toxic epidermal necrolysis) ซึ่งมีโอกาสเกิดได้หนึ่งในล้าน และมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 95%
แพทย์ให้การรักษา ใส่ท่อช่วยหายใจ เข้า OCI และรักษาจนอาการดีขึ้น แต่ยังเหลือผลข้างเคียงทางตา ทาง รพ.จึงวางแผนส่งตัวคนไข้ไปรักษาต่อกับแพทย์เฉพาะทางที่ศิริราชต่อไป โดยทาง รพ.จะรับผิดชอบค่ารักษาและค่ายาส่วนที่เบิกไม่ได้ และอำนวยความสะดวกพาคนไข้ไปส่งที่ศิริราชทุกครั้ง
ประเด็นของเคสนี้คือตอนแรกสื่อนำเสนอข่าวว่า หมอจ่ายยาผิด จริงๆ แล้วไม่ใช่ หมอจ่ายยาถูกต้องแล้วเป็นการจ่ายยาแบบถูกกับโรคเป๊ะๆ แต่เป็นความโชคร้ายของคนไข้ที่เกิดอาการแพ้ยารุนแรงขึ้นมา ซึ่งยากันชัก เป็นกลุ่มยาที่เกิดอาการแพ้รุนแรงทั้งแบบ SJS และ TEN บ่อย
มีการศึกษาพบว่าในกลุ่มคนที่แพ้ยากันชักชนิดนี้อย่างรุนแรง มักมียีน HLA-B*56:02/04 , CYP2C9 หรือ HLA-B*51:01 เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันการตรวจยีนหาความเสี่ยงแพ้ยารุนแรงสำหรับยาตัวนี้ยังมีความแม่นยำต่ำ ยังไม่สามารถเอามาใช้ตรวจหาความเสี่ยงเหมือนยากันชักตัวอื่น เช่น carbamazepine ได้
ถ้าเป็นคนไข้ที่จะได้รับยา carbamazepine สามารถตรวจยีน HLA-B*15:02 เพื่อดูความเสี่ยงที่จะแพ้ยารุนแรงได้ สามารถตรวจได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือตามมหาวิทยาลัยแพทย์ใหญ่ๆ เช่น รามาฯ ศิริราช จุฬาฯ และใช้สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคมตรวจได้ฟรี แต่คนไข้ไม่ต้องมาเอง หมอที่จะจ่ายยาให้คนไข้จะตรวจเลือดคนไข้แล้วส่งไปตรวจกับแล็บของ รพ.ที่ว่ามาได้
น่าเสียดายเคสนี้ไม่สามารถทำได้ แต่อนาคตอาจได้ เพราะนักวิจัยบ้านเราก็กำลังศึกษาเรื่องการตรวจยีนหาความเสี่ยงแพ้ยารุนแรงหลายๆ ตัวอยู่
แต่เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เราไม่มีวันรู้หรอกว่าจู่ๆ วันหนึ่งกินยาที่ไม่เคยกินมาก่อน แล้วจะเกิดอาการแพ้รุนแรงขึ้นมาตอนไหน และส่วนมากมักไม่ได้แพ้รุนแรงทันที แต่มักเกิดอาการ 10-14 วันหลังกินยา ถ้ามีอาการผื่นขึ้นตามตัว ตาแดง มีไข้ มีผื่นหรือตุ่มน้ำขึ้นตามช่องปาก ให้รีบไป รพ.ทันที”
คลิก>>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ