xs
xsm
sm
md
lg

‘แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์’ กับเรื่องราวเปี่ยมเสน่ห์จาก Zine ‘สมัยนั้น สมัยนี้’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์ ผู้เขียน Zine ‘สมัยนั้น สมัยนี้’

แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์ ผู้เขียน Zine ‘สมัยนั้น สมัยนี้’
“ถ้าให้เลือก แพรชอบสมัยนั้นมากกว่า เพราะมันมีเสน่ห์บางอย่างที่เราไม่ได้อยู่ในยุคนั้น แล้วเราสนใจเป็นพิเศษ”

“แพรชอบความช้าของชีวิต เพราะสมัยนี้ ทุกอย่างมันเร็วไปหมด การที่เราจะติดต่อใครคนนึง หรือจะเดินทาง ทุกอย่างมันไว มันมีข้อดีมากๆ ก็จริง แต่บางทีเราอาจมองข้ามการใช้ชีวิตที่ช้าลงบางอย่าง
เราชอบเสน่ห์ของการเขียนจดหมาย การล้างรูปกล้องฟิล์ม หรือการดูทีวีด้วยกัน แต่สมัยนี้ ทุกคนมีจอเป็นของตัวเอง”


“แง่คิดหลักๆ เลยก็คือ เรามองคนเป็น Individual มากขึ้น
เราไม่สามารถมองคนทุกคนเป็นการเหมารวมได้ว่า Gen นี้เป็นแบบนี้ Gen นั้นเป็นแบบนั้น…”

“มันทำให้แพรเห็นว่า ทุกคนก็ล้วนเป็นคนในสังคม ดังนั้น ความแตกต่างกันก็ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ที่เราควรจะอยู่ร่วมกันให้ได้ ก็คือเราเข้าใจความแตกต่างนั้น”



กลิ่นอาย ความรุ่มรวย เสน่ห์หลายต่อหลายอย่างของสมัยนั้น ที่ไม่มีอีกแล้วในสมัยนี้ ทว่า หลายสิ่งในสมัยนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย

ความแตกต่างของสองยุคสมัย อย่าง Generation Z และ Baby Boomer (*หมายเหตุ : หมายถึงผู้ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างปี ค.ศ.1946 ถึง 1964 หรือ พ.ศ. 2489 ถึง 2507 ) ถูกถ่ายทอดผ่าน Zine หรือ สิ่งพิมพ์อิสระเล่มสวย
อย่าง “สมัยนั้น สมัยนี้” ที่มีกระบวนการทำงานอันเข้มข้น ทั้งในส่วนของการค้นคว้าข้อมูล รวมถึงสัมภาษณ์ผู้คนไม่น้อยกว่า 50 ชีวิต ก่อนจะคัดเหลือ 30 คน ที่สะท้อนมุมมองอันแตกต่างกันระหว่าง 2 ยุคสมัย

แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์ ผู้เขียน Zine ‘สมัยนั้น สมัยนี้’
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ 'แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์' ผู้เขียน Zine ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ ที่บอกเล่าแง่คิดที่ได้รับจากซีนเล่มนี้ กระบวนการทำงานอันลงลึกในรายละเอียด สะท้อนมุมมองแห่งการยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างของปัจเจกชน เคารพคุณค่าในอัตลักษณ์ที่แตกต่างระหว่างกันของคนสองรุ่นได้อย่างน่าสนใจ


จุดเริ่มต้น ‘สมัยนั้น สมัยนี้’

ถามถึงจุดเริ่มต้นความเป็นมาในการทำซีน ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ มีความเป็นมาอย่างไร

แพรตอบว่า ซีน ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ มีที่มาจาก Thesis ปริญญาตรีของแพร โดยแพรเรียนปริญญาตรี สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“คือตอนนั้น แพรทำออกมาเป็นโปรเจ็กต์ Thesis ตลอดทั้งเทอมเลย แล้วหลังจากเรียนจบ ก็มาทำเป็น Self-Publishing ของตัวเอง เป็นหนังสือสมัยนั้น สมัยนี้”

ถามว่า ใน Thesis กับในซีน มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง
แพรตอบว่า “ถ้าเป็น Thesis เลย เล่มจะใหญ่มาก และข้างในจะมีลูกเล่นอีกประมาณนึง เป็นคำถาม คำตอบ เป็นเหมือนเน้นเรื่องของดีไซน์มากกว่า เพราะแพรเรียนออกแบบนิเทศศิลป์ เน้นรื่องของดีไซน์ด้วย แต่เมื่อเป็นหนังสือที่ Publish เพื่อวางขาย แพรลดสเกลลงให้มัน Compact มากขึ้น มันต้องมีเรื่องของทุนในการผลิตขึ้นมา แต่หลักๆ ยังมีเนื้อหาแบบเดิมอยู่ค่ะ”


เรื่องราวของคน 2 Generation

หากถามว่า อะไรคือจุดเด่นของซีน ‘สมัยนั้น สมัยนี้’
แพรตอบว่า “เหมือนเป็นการรวบรวมเรื่องราวของวัยรุ่นของสองยุคสมัย จาก Gen (Generation) Z แล้วก็ Baby Boomer น่ะค่ะ เป็นการทั้งสัมภาษณ์มุมมองของทั้งสองฝ่าย สะท้อนความเหมือน ความต่างของแต่ละยุค โดยตัว Format มันเหมือนจะเป็นหนังสือ แพรมองว่าจุดเด่นมันเป็น bridge generational gaps ประมาณนึง ให้เราเห็นบริบทความเหมือน ความต่างของสอง Gen สำหรับคนรุ่นใหม่ ให้เขาเห็นบริบทอดีต เห็นความเปลี่ยนแปลง รวมถึงให้คนรุ่นก่อนเข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น”


ถามว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำซีน สมัยนั้น สมัยนี้

แพรตอบว่า “จริงๆ ตัวแพรเอง ตั้งแต่เด็กมาแล้วสนใจเรื่องของสมัยก่อน ผู้ใหญ่ชอบเล่าเรื่องสมัยก่อนให้ฟัง แล้วพอโตขึ้นก็เห็นตัวบริบทของคนในสังคมวงกว้างมากขึ้น เช่น สมมติว่าเราเรียน เข้ามหาวิทยาลัย และไปเจอสังคมการทำงาน หรือเจอคนที่อยู่ในสังคมอื่นมากขึ้น เราจะเห็นว่าทุกคนมีความแตกต่างกันประมาณนึง รวมถึงเจอผู้ใหญ่มากขึ้น”

“เมื่อโตขึ้น เราเห็นความเชื่อมโยงว่า คนๆ นึง มีนิสัยหรือว่ามีความคิด ทัศนคติแบบนี้ มันเกิดจากการสั่งสมหรือเจอบริบทๆ นึงมา อย่างเช่น คนใกล้ตัว อย่างพ่อแม่ คุณป้าคุณอา ที่เขาอาจจะมีความต่างกับเรา ทั้งที่เรากับเขาอยู่ในบริบทของสังคม สภาพแวดล้อมเหมือนกัน แต่ความคิดต่างกัน จากการที่เขาเจอเรื่องๆ นึงมาที่เราไม่ได้เจอในสมัยนี้ รวมถึงว่าเค้าก็ไม่ได้เจอเรื่องในสมัยนี้เหมือนที่เราเจอ มันก็เป็นเรื่องของยุคสมัย เราก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้มันน่าสนใจดี เราก็อยากถ่ายทอดออกมาให้คนในภาพรวมของสังคมเข้าใจมากขึ้นว่าการที่คนเรามีความแตกต่างกัน มันเป็นเรื่องของบริบท แล้วก็นำเอาบริบทนี้ มาแชร์กันในมุมมองที่ไม่ใช่ว่าเราเป็นคน Genใหม่ แล้วตัดสินเค้ายังไง แต่เล่าในเชิงว่า เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกันที่ต่างก็มีความหลากหลาย แล้วก็ยอมรับกันได้ค่ะ” แพรอธิบายรายละเอียด


3 ประเด็นสะท้อนความต่าง

ขอให้ยกตัวอย่าง ประเด็นเด่นๆ ในซีนสมัยนั้น สมัยนี้
แพรตอบว่า ด้วยตัวเนื้อหาในเล่ม แบ่งเป็นสามบท บทแรกคือ ‘เรื่องของโอกาสของเด็กคนนึง’ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนการทำงาน

บทที่สองเป็นเรื่อง ‘คบหาดูใจ’ เป็นเรื่องของความรัก ค่านิยม การแต่งงาน การอยู่ก่อนแต่ง หรืออย่าชิงสุกก่อนห่าม

“บทสุดท้าย ชื่อบทว่า ‘ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ซึ่งบทนี้พูดถึงเรื่องของ Seniority Culture ว่าในมุมของผู้ใหญ่ เค้ามองสิ่งนี้ยังไง แล้วเด็กสมัยนี้ เค้ามองเรื่องของความอาวุโส ความกตัญญูยังไง ซึ่งมันไม่ใช่การตีโต้กัน แต่ว่าเป็นการแชร์ว่ามุมมองแต่ละคนเป็นยังไงเท่านั้นเองค่ะ” แพรระบุ


กระบวนการทำงาน เก็บข้อมูล

ขอให้ช่วยเล่าถึงกระบวนการทำงานให้ได้มาซึ่งข้อมูล สัมภาษณ์คนมากน้อยแค่ไหน

แพรตอบว่า กระบวนการทำงานก่อนที่จะสัมภาษณ์ แพรดูเรื่องของ Overall context ของสมัยนั้นและสมัยนี้มาก่อน ของสมัยนั้นก็มีดูใน Internet บ้าง หรือว่าหลักๆ เลยแพรไปห้องสมุดของศิลปากร ที่โชว์เรื่องของนิตยสารของสมัยก่อน เช่น ‘ลลนา’ ‘ดิฉัน’ เพราะว่าการไปดูนิตยสารเหล่านี้ ทำให้เห็นความ Trendy ในสมัยนั้น เห็นถึงบทความ ด้วยความที่แพรเรียนดีไซน์ ต้องดูเรื่องของภาพประกอบ เรื่องของภาพถ่าย หรือว่าตัวฟอนต์ ตัวเขียนของเขา ว่าเขาใช้ฟอนต์ยังไง การอ่านตัวนิตยสาร ทำให้เราได้เห็นเหมือนเรื่องซุบซิบของสมัยนั้น และเข้าใจวัยรุ่นสมัยนั้นมากขึ้น ซึ่งจริงๆ ที่แพรรู้สึกแปลกใจคือ สมัยนั้นเค้ามีพูดเรื่องอยู่ก่อนแต่งด้วย แต่ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไม่ได้ถูกยอมรับเท่าสมัยนี้แต่ก็ถูกหยิบยกนำมาถกเถียงกันในนิตยสาร

“หลังจากดูภาพรวมมุมกว้าง ประมาณเดือนนึง จากนั้น แพรก็ไปลงพื้นที่ มีไปขอสัมภาษณ์คนแปลกหน้าตามที่ต่างๆ เช่น ที่ลุมพินีจะมีเป็น Seniority Club กลุ่มผู้อาวุโสที่เขาจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน แพรก็สมัครเข้าไป ไปเจอผู้สูงวัย แล้วก็ขอสัมภาษณ์บ้าง แล้วก็รวมถึงขอ Contact จากอาจารย์สมัยประถมที่เกษียณไปแล้ว ว่ามีใครแนะนำบ้างไหม เพื่อนๆ ของเขา พยายามหา range ของผู้สูงวัยที่มีประสบการณ์แตกต่างกันไป เช่น เป็นอาจารย์ บางคนเป็นนักข่าวมาก่อน บางคนเป็นนักธุรกิจ บางคนเป็นญาติผู้ใหญ่ของแพร ก็มีการทำงานกงสี ทำงานฟรีแลนซ์ ก็คือเป็น Career Path ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันด้วย”

“รวมๆ แล้วแพรสัมภาษณ์ประมาณเกือบ 50 คน แล้วแพรก็มาคัดว่าเรื่องไหน มัน link กับประเด็นของสมัยนี้ แล้วก็เอามาเล่าเป็นมุมมองอย่างละ 15 คน รวมเป็น 30 คนค่ะ ใช้เวลาทั้งโปรเจ็กต์เลย 10 เดือน
แบ่งเป็นรีเสิร์ช สัมภาษณ์ ออกแบบ แล้วก็มาทำเรื่องของหนังสือ”


สมัยนั้น…ที่คิดถึง


ถามว่าในความรู้สึกคุณ ชอบสมัยไหนมากกว่ากัน

แพรตอบว่า “ตอบตามความจริงเลย ถ้าให้เลือก แพรชอบของสมัยนั้นมากกว่า เพราะมันมีเสน่ห์บางอย่างที่เราไม่ได้อยู่ในยุคนั้น แล้วเราสนใจเป็นพิเศษ"

"ถ้าชอบจริงๆ เลย แพรชอบความช้าของชีวิต
เพราะสมัยนี้ ทุกอย่างมันเร็วไปหมด การที่เราจะติดต่อใครคนนึง หรือจะเดินทาง ทุกอย่างมันไว มันมีข้อดีมากๆ ก็จริง แต่บางทีเราอาจมองข้ามการใช้ชีวิตที่ช้าลงบางอย่าง เราชอบเสน่ห์ของการเขียนจดหมาย การล้างรูปกล้องฟิล์ม อะไรแบบนี้ หรือการดูทีวีด้วยกัน แต่สมัยนี้ ทุกคนมีจอเป็นของตัวเอง”


ถามว่า มีแง่คิดอะไรที่คุณได้จากการทำซีนเล่มนี้

แพรตอบว่า “แง่คิดหลักๆ เลยก็คือ เรามองคนเป็น Individual มากขึ้น เราไม่สามารถมองคนทุกคนเป็นการเหมารวมได้ว่า Gen นี้เป็นแบบนี้ Gen นั้นเป็นแบบนั้น เพราะว่าทุกคนต่างมีบริบท ที่เป็น Personal Context อีกทีนึง ว่าคนนี้เกิดในครอบครัวแบบนี้ เรียนที่นี่ ทำงานแบบนี้ ซึ่งการที่แพรยก 30 คนในเล่มมาเล่า ไม่สามารถเป็นตัวแทนของสังคมได้ แต่เป็นแค่ส่วนนึงเล็กๆ เลย ที่มาเล่าว่าสมัยนั้น สมัยนี้เป็นยังไง แต่ละคนก็จะมีบริบทที่ลงลึกลงไปอีก ใน 30 คน แบ่งเป็นสมัยละ 15 คน”

“มันทำให้แพรเห็นว่า ทุกคนก็ล้วนเป็นคนในสังคม ดังนั้น ความแตกต่างกันก็ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ที่เราควรจะอยู่ร่วมกันให้ได้ ก็คือเราเข้าใจความแตกต่างนั้น เราเกิดหรืออยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน แล้วก็ยอมรับกัน”


คำถามสุดท้าย นอกจากพูดถึงความช้าที่คุณชอบแล้ว มีอะไรในสมัยนั้น ที่ไม่มีอีกแล้วในสมัยนี้ ที่คุณเสียดายที่สุด

แพรตอบว่า “หลักๆ ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีแล้วและกำลังจะหายไปค่ะ ด้วยความเร็วของโลกปัจจุบันที่มากขึ้น เช่น เสน่ห์ของการเจอกันซึ่งๆ หน้า หลังๆ มานี้ ไม่ค่อยจะได้ใช้ชีวิตแบบเจอกันแบบ Meeting เหมือนเราถูกแทนที่ด้วยแชทสั้นๆ หรือคุยงานก็ใช้อีเมล์ จริงๆ มันก็สะดวกกว่า แต่เราชอบการที่ได้ใช้เวลา หรือว่าแบบเจอกัน ซึ่งๆ หน้า หรือว่าการเล่น หรือ Activity บางอย่างที่เป็น Physical มันก็ออนไลน์ไปหมดแล้ว ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว แต่มันก็น้อยลงไปตาม Culture ของคน”

นับเป็นซีนหรือสิ่งพิมพ์อิสระที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แง่คิดที่ได้รับ ในเรื่องความต่างของคนสองยุคที่สะท้อนบริบทเฉพาะตัวได้อย่างมีเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นความต่างที่เชื้อเชิญให้คนสองยุคสมัยเปิดใจรับในกันและกันได้อย่างน่าชื่นชม
……..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล, ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์
เอื้อเฟื้อสถานที่ : SPACEBAR ZINE