“ไทยแลนด์ พาวิเลียน” ในโอซากาเวิลด์เอ็กซ์โปถูกวิจารณ์ยับ คิดแต่จะโชว์ซอฟต์เพาเวอร์แบบตื้นเขิน ไม่สอดคล้องธีมของงาน ใช้งบเกือบ 900 ล้านบาท มากกว่าพาวิเลียนของอเมริกา แต่ผลที่ออกมากลายเป็นแค่งานวัด ขายส้มตำ-นวดไทย-กางเกงช้าง ขณะประเทศอื่นโชว์นวัตกรรมความก้าวหน้าของตัวเอง โดยใช้งบประมาณน้อยกว่า
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึง Thailand Pavilion ในงาน Osaka World Expo 2025 ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างมากว่าใช้งบประมาณเกือบ 900 ล้านบาท แต่ได้ผลงานที่น่าผิดหวัง จนผู้ที่ได้เข้าชมแล้วบอกว่าเป็น “ดีไซน์เอกชน คอนเทนต์ราชการ” เพราะในขณะที่ประเทศอื่นๆ นำเสนอนวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามธีมของงาน แต่ไทยเรากลับขายส้มตำ ต้มยำกุ้ง นวดแผนไทย สะท้อนถึงความเข้าใจเรื่อง “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่ตื้นเขินอย่างยิ่ง
งาน World Expo ที่เมืองโอซากาเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 หรือช่วงสงกรานต์ของไทยที่ผ่านมา โดยมี 158 ประเทศและดินแดน และองค์การระหว่างประเทศ 7 องค์การเข้าร่วมงาน โดยการสร้าง “พาวิเลียน” หรือ “อาคารนิทรรศการ” เพื่อแสดงแนวคิดด้านนวัตกรรม ภายใต้แนวคิดหลัก หรือธีม ฝของงาน คือ “ออกแบบสังคมแห่งอนาคต เพื่อชีวิตของเรา” (Designing Future Society for Our Lives)
ผู้ที่รับผิดชอบการจัดงานของประเทศไทยในครั้งนี้คือ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต่อเนื่องมาในยุคที่ รมว.สาธารณสุขชื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และคนปัจจุบันก็คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งหลายคนก็สงสัยว่า “กระทรวงสาธารณสุข” เกี่ยวข้องกับการจัดงานนิทรรศการ World Expo ได้อย่างไรกัน?
ที่มาที่ไป แรกเริ่มเดิมทีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนของไทยในการหารือและจัดเตรียมงาน World Expo แต่ต่อมาได้มีการมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบให้สอดคล้องกับธีมของงานในแต่ละครั้ง ในทุกๆ 5 ปี เช่น
- งานที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี ปี 2000 แนวคิดหลักคือ “มนุษยชาติ ธรรมชาติ เทคโนโลยี-โลกใหม่กำลังเกิดขึ้น” รัฐบาลไทยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ
- งานที่เมืองไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2005 แนวคิดหลักคือ “ภูมิปัญญาแห่งธรรมชาติ รัฐบาลไทยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบ
- งานที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ปี 2010 แนวคิดหลัก คือ “เมืองที่ดีกว่า ชีวิตที่ดีกว่า” รัฐบาลไทยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รับผิดชอบ
- งานที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ปี 2015 แนวคิดหลัก คือ “อาหารหล่อเลี้ยงโลก พลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต” รัฐบาลไทยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ
- งานที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2020 แนวคิดหลักคือ “เชื่อมต่อความคิด สร้างสรรค์อนาคต” รัฐบาลให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบัน) เป็นผู้รับผิดชอบ
คำถามก็คือ งานในปีนี้ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น มีแนวคิดหลักคือ “ออกแบบสังคมแห่งอนาคต เพื่อชีวิตของเรา” กระทรวงสาธารณสุขมาสัมพันธ์สอดคล้องกับแนวคิดหลักได้อย่างไร?
หรือว่ามีการ “ล็อบบี้” กันในยุคของรัฐบาลทหารเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้งานนี้ ทั้งๆ ที่นึกถึงความเชื่อมโยงกับแนวคิดหลักของงานแทบจะไม่ได้เลย
หลังจากถูกสังคมจับตาในเรื่องงบประมาณและผลงานที่ออกมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นายอุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และกิจการค้าร่วม RMA110 ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะประมูลในการจัดงาน จัดแถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 21 เมษายน หลังจากถูกสังคมจับตาในเรื่องงบประมาณและผลงานที่ออกมา โดยอ้างว่า
1. งบประมาณต่ำกว่าปีที่ผ่านมา การจัดที่ญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายสูง การเตรียมงานอยู่ในช่วงโควิด
2. กระทรวงสาธารณสุขเน้นการขาย “นวดไทย” เพื่อสร้างรายได้หลายแสนล้านบาท ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข
3. ยืนยันว่าไม่มี “เงินทอน” และการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ถูกต้องตามกฎระเบียบ
ข้อสงสัยเรื่อง “เงินทอน” และ “ความไม่ชอบมาพากล” ของบริษัทที่ได้งานครั้งนี้ไปก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้งานครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากก็คือ ผลงานที่ออกมาไม่คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชน เกือบ 900 ล้านบาท
ศาลาไทย เทียบกับประเทศอื่นเป็นอย่างไร
งบประมาณที่ประเทศไทยใช้ในงานราว 867 ล้านบาท ถูกวิจารณ์ว่าจัดงานออกมาได้ราวกับ “นิทรรศการของเด็กมัธยม” เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ทำได้ดีกว่าเราอย่างมาก เช่น
สหรัฐอเมริกา
แม้จะมีปัญหาเรื่องการเมือง และการเปิดศึกสงครามภาษีกับจีนและทั่วโลก แต่ “มหาอำนาจยักษ์ใหญ่” อย่างสหรัฐฯ กลับใช้งบประมาณน้อยกว่าไทยเรา คือ 831 ล้านบาท แต่ใช้ Soft Power ของตัวเอง สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าชมงานได้มากมาย
American Pavilion ผสมผสานความทันสมัยแบบอเมริกัน กับแนวคิดความงดงามแบบเซนของญี่ปุ่น สถาปัตยกรรมออกแบบโดยบริษัท American Trahan Architects เป็นอาคารไม้ทรงสามเหลี่ยมสองหลังวางเรียงกันอย่างสมมาตร ผนังด้านนอกของทั้งสองอาคารฝังจอ LED ขนาดยักษ์สูง 9.45 เมตร ที่แสดงภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอันเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกาและสถานที่สำคัญในเมืองต่างๆ ตั้งแต่ความงดงามตระการตาของแกรนด์แคนยอน ไปจนถึงความเจริญรุ่งเรืองของนิวยอร์ก
นิทรรศการภายในแสดงความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เทคโนโลยีทางการเกษตร ไปจนถึงนาโนเทคโนโลยี รวมไปถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ ผู้เยี่ยมชมสามารถใช้หน้าจอสัมผัสและอุปกรณ์ VR เพื่อสัมผัสประสบการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาใช้นวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกอย่างไร ตัวอย่างเช่น การใช้หุ่นยนต์จิ๋วเพื่อรักษาโรคได้อย่างแม่นยำ
พื้นที่จัดนิทรรศการอวกาศของ American Pavilion ได้รับความสนใจอย่างมาก มีการจำลองฉากการปล่อยจรวด, กล้องโทรทรรศน์อวกาศ และ “หินดวงจันทร์” ที่เคยเอามาแสดงในงาน Osaka World Expo เมื่อปี 1970 หินดวงจันทร์นี้ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ถึงความสำเร็จด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ในงานเวิลด์เอ็กซ์โปอีกด้วย
ฝรั่งเศส
พาวิเลียนของฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้ “สปอนเซอร์” จากภาคเอกชน ทั้ง Louis Vuitton, Dior และ Celine สินค้าแบรนด์เนมของฝรั่งเศสถูกใช้แทนความภาคภูมิใจของชาติฝรั่งเศสในเรื่องงานฝีมือ และการสร้างแบรนด์ระดับโลก
พาวิเลียนฝรั่งเศส ผสมผสานระหว่างศิลปะกับปรัชญาในเรื่องของ "การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ" โดยใช้ต้นไม้เป็นผนังด้านนอก เพื่อแสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรม มาสู่ยุคสีเขียวได้อย่างไร
มีการใช้เทคโนโลยี Virtual Reality จำลองบรรยากาศกลางป่าเชิงเทือกเขาแอลป์ และยังสร้าง “อาคารป่าแนวตั้ง” ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยทำให้ตึกสูงในเมืองมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
สิงคโปร์
สิงคโปร์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่นำเสนอตัวเองได้ดีมาก ทั้งๆ ที่รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ และทรัพยากรต่างๆ เทียบไม่ได้กับประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ
พาวิเลียนของสิงคโปร์ใช้ชื่อว่า “Dream Sphere” ภายใต้แนวคิด “Make Dreams Come True” ภายนอกเป็นทรงกลมสีแดงกว้าง 18 เมตร หุ้มด้วยแผ่นอะลูมิเนียมรีไซเคิล 17,000 ชิ้น สะท้อนเอกลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์ที่เป็น “จุดแดงน้อย”
การออกแบบศาลาสิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ทำให้ผู้เยี่ยมชมรู้สึกราวกับว่ากำลังเดินเล่นอยู่ใน Gardens by the Bay, ใช้ศิลปะกระดาษและแอนิเมชันเพื่อแสดงให้เห็นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของเมืองสิงคโปร์และธรรมชาติ
สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการทำให้ประเทศเล็กๆ กลายเป็นตัวแทนของชาติอาเซียนได้
ตัวอย่างของ 3 ประเทศนี้สะท้อนเรื่อง
- การใช้งบประมาณไม่มาก แต่สร้างงานได้ทรงพลัง (คือสหรัฐฯ)
- ใช้สปอนเซอร์ภาคเอกชนให้เป็นประโยชน์ที่สุด (คือฝรั่งเศส)
- ประเทศเล็ก แต่ “เล่นใหญ่” เป็น (คือสิงคโปร์)
นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่แสดงนวัตกรรม, อารยธรรม และเอกลักษณ์ของประเทศตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น จีน เยอรมนี อิตาลี ประเทศต่างๆ ล้วนแต่นำเสนอ “ความก้าวหน้า” ของประเทศ และสอดคล้องกับธีมของงาน
แต่ประเทศไทยเรา กลับสร้างผลงานได้เทียบเท่า “งานแฟร์” ตลาดนัดขายของ อย่างเทศกาลไทย หรือ Thai festival ที่สถานทูตไทยจัดกันทุกปีในต่างประเทศ คือ มีร้านขายอาหารไทย, นวดแผนไทย, ขายของที่ระลึกต่างๆ แต่ว่างานนี้ผลาญเงินภาษีประเทศชาติไปมากเกือบ 900 ล้านบาท !?!
คำถามที่น่าสนใจก็คือ World Expo ยังจำเป็นอยู่ไหม ในโลกยุคปัจจุบัน ?
งานนิทรรศการโลก หรือ World Expo จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 174 ปีที่แล้ว ในปี 2394 หรือ ค.ศ. 1851 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยในตอนนั้นเรียกว่า The Great Exhibitions ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๔
โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงสินค้าของประเทศต่างๆ เจ้าภาพของงานก็คือ สำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ หรือ BIE (Bureau of International Expositions) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสมีประเทศสมาชิก 170 ประเทศ และประเทศสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงประจำปีให้กับ BIE
World Expo จัดขึ้นทุก 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า ไม่จำกัดขนาดพื้นที่, ระยะเวลาจัดงานไม่เกินหกเดือน, ใช้ต้นทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 34,000 ล้านบาท
ในช่วงเวลาต่อมา World Expo ได้เปลี่ยนจากการแสดง “สินค้า” มาเป็นการแสดง “นวัตกรรม” ของประเทศต่างๆ เทคโนโลยีหลายอย่างถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ เช่น จักรเย็บผ้า, เครื่องเอกซเรย์, หุ่นยนต์, โทรศัพท์เคลื่อนที่, รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
แต่คำถามก็คือ ทุกวันนี้นวัตกรรมพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์มากมาย ที่เป็นเวทีแสดงเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รับรู้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามว่า การเสียเงินลงทุนสร้างพาวิเลียน จัดแสดงนิทรรศการในต่างประเทศ แบบ World Expo ยังจำเป็นอยู่หรือ?
ทำไมรัฐบาลต้องใช้เงินภาษีไปจัดงานทั้งหมด? ทั้งๆ ที่ นวัตกรรมส่วนใหญ่ล้วนมาจากภาคเอกชน อย่างงาน World Expo ที่โอซากาครั้งนี้ ฝรั่งเศสก็ใช้สปอนเซอร์เป็นส่วนใหญ่ เช่น Louis Vuitton, Dior, Saint James
ถ้าใช้เงินของภาคเอกชน ไม่ใช่ภาษีล้วนๆ ก็คงจะถูกวิจารณ์น้อยกว่านี้ และเชื่อแน่ว่าวิธีการทำงานแบบเอกชน จะทำให้ผลงานออกมาดีกว่าราชการอย่างแน่นอน
รัฐบาลไทยเห็นว่าการเข้าร่วมงาน World Expo จะ “เป็นหน้าเป็นตา” ของประเทศ ถึงได้จัดงบประมาณให้มากถึง 900 ล้านบาท นายกฯ ไปไหนก็พูดถึง “ซอฟต์เพาเวอร์” ราวกับเป็นนโยบายหลักของประเทศ แต่พอทำเข้าจริงๆ กลับมีแค่ส้มตำ ต้มยำกุ้ง นวดแผนไทย กางเกงช้าง
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ขายนวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของ “อนาคต” แต่เมืองไทยเรากลับ “ขายอดีต” และยังขายด้วยต้นทุนที่สูงลิ่ว เพราะไร้วิสัยทัศน์ ไร้ประสิทธิภาพ และความฉ้อฉลของราชการไทย