xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนาคำพูด “ทราย สก๊อต” ผมเห็นเยอะเกินไป! กับผลประโยชน์ 2 พันล้านกรมอุทยานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทราย สก๊อต” ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ 1 ปีเศษก็ถูกปลด พร้อมทิ้งคำพูดปริศนา “ผมเห็นเยอะเกินไป” สะท้อนเงื่อนงำผลประโยชน์มหาศาลในกรมอุทยานฯ ที่มีรายได้จากค่าเข้าชมอุทยานฯ ปีละ 2 พันกว่าล้าน จับตา “อริยะ เชื้อชม” ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ คนปัจจุบัน สายตรงคน ปชป. ที่ถูกมองว่าน่าจะเป็นอธิบดีตัวจริง



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงกรณี “ทราย สก๊อต” หรือนายสิรณัฐ ภิรมย์ภักดี ถูกปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วยข้อหาว่ามีความประพฤติไม่เหมาะสม เตือนแล้วไม่แก้ไขปรับปรุง ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ทำมาหากินกับท้องทะเลไทยในพื้นที่อย่างมาก

ทั้งนี้ “ทราย สก๊อต” เป็นหนุ่มลูกครึ่งไทย-สกอตแลนด์ ทายาทสิงห์รุ่น 4 หลานชายของ นายจำนง ภิรมย์ภักดี ประธานบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านแอนิเมชันจากสหรัฐอเมริกา


ทราย สก๊อต สร้างชื่อจากการเป็นเจ้าของสถิติว่ายน้ำทะเลข้ามเกาะโดยไม่ใช้เครื่องช่วยชีวิตรวดเดียว 30 กิโลเมตร จนได้รับฉายาว่า “อะควาแมนเมืองไทย” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งอินฟลูเอนเซอร์คนดังด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของเมืองไทย

ทราย สก๊อต ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ซึ่งเขาถูกยกให้เป็นนักอนุรักษ์ทะเลไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม เป็นลูกคนรวย เก่ง มีการศึกษาดี ภาษาอังกฤษเยี่ยม และเชี่ยวชาญในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียล


จากนั้นทรายได้ออกปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ด้านการอนุรักษ์ และการเป็นสื่อกลางด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น คอยแนะนำนักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ไม่ว่าการเก็บหอยไปเป็นที่ระลึก การเหยียบปะการัง การใช้ครีมกันแดด ที่เป็นอันตรายต่อปะการัง

รวมถึงการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ของอุทยานฯ อย่างเคร่งครัด จัดการกับพวกที่ทำผิดกฎหมาย อย่างเช่น ห้ามไม่ให้เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวทิ้งสมอเรือสร้างความเสียหายแก่ปะการัง ห้ามกลุ่มทัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวดำน้ำให้อาหารเต่าทะเล ตักเตือนนักท่องเที่ยวที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ หรือบางครั้งหนักหน่อยคือ มีการเสพกัญชา เป็นต้น


การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ผ่อนปรน ยอมหักไม่ยอมงอ มีแต่ขาวกับดำ ไม่มีเทา โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทะเลไทย แม้จะทำให้เขาได้ใจจากคนรักทะเล และชาวเน็ตจำนวนมากไปเต็มๆ แต่อีกมุมหนึ่งกลับสร้างความขุ่นเคือง ไม่พอใจให้คนที่เสียประโยชน์

นอกจากนี้ การที่ “ทราย สก๊อต” โดนบริษัทเรือแห่งหนึ่งฟ้องร้อง ทั้งคดีอาญาและหมิ่นประมาท จากคลิปที่มีภาพเรือให้อาหารสัตว์ทะเล ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา บวกกับจุดพีกคือเคส “หนี ห่าว” ที่ทรายเข้าไปตักเตือนและเชิญนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จงใจเหยียดเจ้าหน้าที่ชาวไทยออกจากพื้นที่


สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกที่ไม่พอใจหนุ่ม ทราย สก๊อต ไม่ว่าจะเป็น บริษัททัวร์, ผู้ให้บริการเรือ, ไกด์นำเที่ยว, นักอนุรักษ์บางคน, เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บางคนหรือแม้กระทั่งพวกที่ (แอบ) หมั่นไส้เป็นการส่วนตัว ได้ทำการตอบโต้โจมตีในโลกโซเชียล ถึงการทำหน้าที่ของทรายว่าเกินเบอร์ ล้ำเส้น ลุแก่อำนาจ รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น

- คนขับเรือนำเที่ยวในทะเลกระบี่ที่ออกมาโต้ว่าที่ผ่านมาพวกตนช่วยอนุรักษ์ทะเลมาตลอด แต่ทำกันเงียบๆ จึงไม่มีคนเห็น เพราะไม่เน้นคอนเทนต์เหมือนกับทราย

- เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บางคนที่ไม่ประสงค์ออกนาม รายงานถึงกรมอุทยานฯ เกี่ยวกับทราย สก๊อต (ซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นรายงานการจับผิดทราย) ที่สรุปความได้ เช่น อ้างตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีมาสั่งการเจ้าหน้าที่ และขอใช้เรือ รถ ของอุทยาน ทั้งที่ติดภารกิจอยู่, มีการนำทีมงานคนต่างชาติ และบอดี้การ์ดเข้ามาถ่ายทำ แม้แต่บินโดรนโดยไม่ขออนุญาต แล้วนำผลงานไปเผยแพร่ในช่องของตัวเองสถานเดียว ไม่เคยมอบให้ช่องของทางอุทยาน, มักตักเตือนนักท่องเที่ยว ไกด์ คนเรือ ผู้ประกอบการ ด้วยคำพูดเหยียดหยาม อวดอ้างว่าตัวเองเป็นนักอนุรักษ์มากกว่าคนอื่น


สรุปง่ายๆ จากข้อร้องเรียนเหล่านี้ ทราย สก๊อต ใช้อำนาจจนเกินงามไปหน่อย และใช้อภิสิทธิ์ทำคอนเทนต์ในอุทยาน เพื่อประโยชน์ส่วนตน สร้างความอึดอัดใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำงาน แต่กลับถูกเหมารวมว่าละเลยหน้าที่ ทำให้เสียกำลังใจ

เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ทราย สก๊อต ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ เมื่อวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2568 ว่า “...ผมไม่เคยล้ำเส้นทุกอย่าง มันมีกฎทุกอย่างอยู่แล้ว ผมแค่ทำทุกอย่างถูกต้อง เพราะผมชอบความสมบูรณ์แบบ ผมไม่ได้เอาแต่ใจ ระบบมันดีอยู่แล้ว คุณแค่ไม่ใช้มัน ถ้าเจอเหตุการณ์แบบในคลิปหนีห่าวอีก ผมก็จะทำแบบเดิม หรืออาจมากกว่าเดิม...

“..ผมไม่อยากเป็นไม้กันหมาที่แค่รับรายงานจากชาวบ้านว่าต้องการได้รับความช่วยเหลืออะไร รายงานไปก็ไม่ได้รับการแก้ไข กลายเป็นว่าถูกตำหนิจากทั้งเจ้าหน้าที่ และคนในพื้นที่...



“...ปะการังมันไม่เหลืออะไรเลย 80% มันตายหมด ถ้าเขารักทะเลจริงมันจะไม่เป็นแบบนี้ เขาอยู่ในพื้นที่มานานกว่าผม ผมเพิ่งเกิดมาเกือบ 30 ปี เขาอยู่มา 60 ปี แล้วทำไมเรื่องที่ผมพูดมันเหมือนเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา ในเมื่ออุทยานมันอยู่มาก่อนที่ผมเกิดด้วยซ้ำ เรื่องที่ผมพูดมันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนที่อยู่สมควรรู้อยู่แล้ว...

“...ที่ไม่กินอาหารทะเล เพราะว่าสัตว์ทะเลเป็นสิ่งที่ผมรัก ผมเลยไม่อยากไปทำร้ายเขา เวลาลงพื้นที่ผมจะกินแค่ผัดผัก ไข่ต้ม และซอสแม็กกี้ ส่วนเรื่องดื่มน้ำแร่ไม่เป็นความจริง ทางอุทยานฯ มีรังน้ำเตรียมไว้ให้แล้ว และการดื่มน้ำแร่ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นการสร้างคาร์บอนให้กับธรรมชาติ ผมจะดื่มไปทำไม...”


ส่วนเรื่องที่ทรายถูกฟ้องหมิ่นประมาทจากเจ้าของเรือในคลิปให้อาหารเต่าทะเล โดยในคลิปนั้นมีบางช่วงถ่ายติดเรือที่มีชื่อผู้ผลิตเรือด้วย ซึ่งทางเจ้าของเรือดังกล่าวบอกว่าตนเป็นเพียงผู้ผลิตเรือ ไม่ได้ทำบริษัททัวร์


ทรายเปิดเผยว่า เมื่อทราบเรื่องก็ลบคลิปส่วนนั้นทันที และได้แจงกลับประเด็นนี้ว่า เจตนาของตนคือต้องการสื่อเรื่องการให้อาหารเต่า ซึ่งการไปให้แบบนั้นมันจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของเต่าที่หาอาหารเองตามธรรมชาติ แต่พอไปให้อาหารเขา ก็อาจทำให้เต่าเรียนรู้ว่าการเข้าหาคนแล้วจะได้อาหาร และเมื่อเต่าว่ายเข้าหาคนมากขึ้นก็อาจเสี่ยงต่อการถูกใบพัดเรือจนเป็นอันตรายได้

รวมถึงหนุ่มทรายยังบอกอีกว่า เชื่อว่าคนที่ได้ดูคลิปไม่มีคนสนใจเรื่องชื่อที่ติดบนเรือหรอก ทุกคนล้วนโฟกัสกับเรื่องให้อาหารเต่ามากกว่า

อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ดรามา ทราย สก๊อต สุดท้ายก็ทำให้เขาถูกนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีฯ เป็นข่าวโด่งดังเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่าทราย สก๊อต มีประพฤติไม่เหมาะสม เตือนแล้วไม่แก้ไขปรับปรุง


หลังข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไปบนโลกโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นว่า ปลด “อธิบดีกรมอุทยานฯ” ดีกว่าปลด “ทราย สก๊อต” พร้อมกับติดแฮชแท็# #saveทราย #คืนทรายให้ทะเล ว่อนโซเชียล

งานนี้นอกจากสังคมจะกังขาว่าทรายบังเอิญไปเหยียบตีนใคร หรือไปขัดผลประโยชน์ของใครหรือเปล่า? โดยเฉพาะผู้สูญเสียผลประโยชน์ทั้งหลายที่มุ่งแต่กอบโกยหากินกับทะเลไทยด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่สนว่าทรัพยากรธรรมชาติจะฉิบหายขนาดไหนก็ตาม แล้วการที่เขาตะโกนแฉความเละเทะของอุทยานทางทะเล และเผยให้เห็นถึงความมักง่ายเอาแต่ได้ของผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง ก็จำเป็นที่พวกเขาเหล่านั้นต้องรับไปปรับปรุงแก้ไข

ความเปล่งประกายของ ทราย สก๊อต นับว่าเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เพียงแต่อาจต้องขัดเกลาให้มีความกลมกล่อมลงตัว ก็จะเป็นประโยชน์ต่องานอนุรักษ์ธรรมชาติ


ตัว ทราย สก๊อต เองก็อาจจะต้องปรับท่าทีของตัวเองที่อาจจะเหมารวมผู้ประกอบการดีๆ และคนในท้องที่ที่ไม่จำเป็นต้องผลักให้เขาเป็นศัตรู เพื่อให้เดินหน้ายืนหยัดในเส้นทางนี้ต่อไปได้อย่างยาวไกล

อธิบดี “อรรถพล” อาจเป็นแค่หนังหน้าไฟ

หลายคนมัวแต่ไปโฟกัสเรื่องประเด็น “หนีห่าว” ของนักท่องเที่ยวที่พูดเหยียดคนไทย จนเรื่อง “ทราย สก๊อต” โด่งดังขึ้นมา แต่ถ้าถอดความระหว่างบรรทัดที่เขาให้สัมภาษณ์ “ทราย สก๊อต” บอกอย่างซื่อๆ ว่า “ผมเห็นเยอะเกินไป” เมื่อถูกถามว่าทำไมเกิดกระแสต่อต้านเขาในช่วงนี้...คำถามคือ เขาเห็นอะไร!!??

เห็นแค่ปัญหาพื้นๆ หรือสิ้นหวังกับระบบราชการ หรือยังต่อจิ๊กซอว์จินตนาการตามที่เจ้าตัวเปิดประเด็นไว้ ไปเห็นภาพการทุจริตอันเกิดจากการหย่อนยานในหน้าที่ ของบรรดาผู้บริหารในหลายระดับของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชหรือไม่ !?


เช้าวันจันทร์ที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา "อรรถพล เจริญชันษา" อธิบดีกรมอุทยานฯ ก็ออกคำสั่งปลด นายสิรณัฐ ออกจากการเป็นที่ปรึกษาฯ โดยให้เหตุผลว่า "ทรายต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ แต่วันนี้ทำงานร่วมกับใครไม่ได้ เลยต้องยุติบทบาท แต่เขายังเด็ก ผมเข้าใจ ต้องฟังคนอื่นให้เยอะกว่านี้"

ทำไมกรมอุทยานฯ จึงรีบด่วนแต่งตั้ง “ทราย สก๊อต” เป็นที่ปรึกษา แต่เมื่อคุมไม่ได้ก็ตั้งข้อหา “ทำตัวไม่น่ารัก” แล้วปลดออก!?

คนที่ควรตอบคำถามสังคมไม่พ้นอธิบดีกรมอุทยานฯ เพราะดูเหมือนวันชื่นคืนสุขขนาดเริ่มจากมีรูปทั้งสองประกอบกิจกรรมร่วมกัน นั่งเรือสำรวจทะเลอันดามันลำเดียวกัน จึงประหนึ่งเป็นการ “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า”

คราวนี้ต้องกลับมาที่คำพูดปริศนาของ “ทราย สก๊อต” ที่เขาระบุว่า "เห็นอะไร" ในอุทยานทางทะเลเยอะเกินไป?


หากสิ่งที่เขาเห็นคือความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่บางคนในการรักษากฎ ห้ามให้อาหารเต่าทะเล ห้ามเรือทิ้งสมอ และห้ามเข้าพื้นที่ฟื้นฟูปะการัง ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ ห้ามเก็บหอย และอีกจิปาถะ แต่กฎกติกานี้ถูกแหกโดยไกด์ท่องเที่ยว เรือท่องเที่ยว และผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายบริษัท!

ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ายังมีบริษัทบางแห่งที่เคารพกติกา มีธรรมาภิบาล ไม่เคยสร้างปัญหาก็มี ไม่ใช่เป็นเหมือนกันหมด

จากตัวเลขรายได้ 5 อันดับของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในแต่ละปีของกรมอุทยานฯ แชมป์ผูกขาดก็คือ
อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ ธารา หมู่เกาะพีพี จ.ภูเก็ต
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.กระบี่
อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา และ
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

รวมรายได้ทั้งหมดในปีที่แล้ว 2567 ทั้งทางทะเล และทางบกสูงถึง 2,200 ล้านบาท เฉพาะอุทยานทางทะเล 4 แห่งข้างต้นก็ฟาดไปกว่า 500 ล้านบาทในทุกๆ ปีอยู่แล้ว

พื้นที่อุทยานทางทะเลดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่เกรด A+ เป็นที่หมายปองของข้าราชการระดับหัวหน้าอุทยานฯ หลายคน ขบวนการฉ้อฉลย่อมต้องการส่งคนของตนไปดูแล ไปกอบโกยผลประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังกรณี คดีทุจริตอุทยานหมู่เกาะสิมิลัน เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ชุด ฉก.ฉลามอันดามัน กว่า 30 นายแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยวแล้วจับไต๋กลโกงเก็บค่าธรรมเนียมผ่านระบบ E-Ticket จำนวนคนไม่ตรงกับจำนวนตั๋ว เพียงแค่ 2 ชั่วโมง พบว่ารัฐต้องเสียรายได้มากถึง 156,000 บาท ทำให้นายอรรถพลต้องมีคำสั่งย้าย ว่าที่ ร.อ.ฤทธิกรณ์ นุ่นลอย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสิมิลัน ออกจากพื้นที่


กลโกงตั๋ว E-Ticket การเวียนเทียนตั๋วหรืออื่นๆ รวมไปถึงการส่อทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ แม้ “ทราย สก๊อต” จะไม่เคยเอ่ยถึง แต่ทุกครั้งที่เขาพูดถึงปัญหาความขาดแคลน รวมไปถึงสวัสดิการชั้นผู้น้อยเกี่ยวกับเรื่องประกันภัยเจ้าหน้าที่ซึ่งอุทยานฯ มีรายได้จากการจัดเก็บปีๆ หนึ่งสูงถึงกว่า 2 พันล้านบาท สามารถนำมาเฉลี่ยพัฒนาองค์กร และดูแลเจ้าหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจได้อย่างสบายๆ

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น หากมีการขุดคุ้ยถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงขบวนการผลประโยชน์ที่ “ทราย สก๊อต” มองเห็นอยู่ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มคิดชั่วทำชั่วแน่

ภาพจริง กับภาพลวงตา จึงมองได้จากมุมต่างๆ การต่อต้านทราย สก๊อต เริ่มจากผู้ประกอบการประมง เรือท่องเที่ยวระดับชาวบ้าน เป็นไปได้หรือไม่ว่า "ตัวจริงเป็นไอ้โม่ง" อยู่ข้างหลังก็คือ ตัวเบิ้มๆ ที่คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์

ข้อมูลที่เคยเปิดเผยไปก่อนหน้า คือระดับหัวหน้าอุทยานทางทะเลบางคน ซึ่งเคยมาบริหารอยู่ในพื้นที่เงินพื้นที่ทองแห่งนี้ ปัจจุบันยังเป็นเจ้าของบริษัททัวร์ทางทะเล มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้บริหารกรมอุทยานฯ กลับนิ่งเฉย ซ้ำยังเคยสนับสนุนให้ก้าวหน้าอยู่ในพื้นที่เพื่อดูแลผลประโยชน์

ผลประโยชน์ของใคร!!?? คำตอบคือ คนมีอำนาจที่แวะเวียนเข้ามากอบโกยโดยส่วนใหญ่เป็นฝั่งการเมือง

เปิดตัว “อริยะ เชื้อชม” ขาใหญ่กรมอุทยานฯ สายตรง “เฉลิมชัย”!

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ผ่านหนาวผ่านร้อน ฝ่าคลื่มลมบก ลมทะเล มาถึง 3 รัฐมนตรี ตั้งแต่ นายวราวุธ ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และปัจจุบันคือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ข้าราชการประจำกรมฯ รู้ดีว่ายุคใดมีการรีดนาทาเร้นต้อง “ส่งยอด” แก่นักการเมืองมากที่สุด!!??

จับตาไปยังเก้าอี้ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติคนปัจจุบัน “นายอริยะ เชื้อชม” ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

นายอริยะ เชื้อชม ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ
ได้ยินมา แต่ไม่ยืนยัน ว่าเขาเป็นเด็กสายตรง “เฉลิมชัย” ที่รัฐมนตรีไว้วางใจอย่างมาก ถึงขนาดให้เป็นผู้คุมบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกรมฯ ทั้งหมด

รวมทั้งบัญชีงบประมาณค่าใช้จ่ายแบบทุกเม็ด ทำงานอย่างเข้าขากับ “นายนริศ ขำนุรักษ์” รองหัวหน้าพรรค ปชป. อดีตนักเรียนป่าไม้แพร่ ซึ่งรู้แจ้งเห็นจริงในแวดวงทุกทบวงกรมที่ขึ้นตรงต่อท่านรัฐมนตรี

นายอริยะมีบทบาทหน้าที่ อำนาจจริง อำนาจแฝง แม้แต่ข้าราชการในกรมอุทยานฯ ยังงงว่า ใครคืออธิบดีฯ ตัวจริงกันแน่ ระหว่าง “อรรถพล” กับ “อริยะ” ?

ย้ายข้าราชการในสังกัด ตัดสินใจไม่ได้ต้องเสนอรายชื่อผ่านท่านรัฐมนตรีเสียก่อน งบประมาณต่างๆ ตำแหน่งต่างๆ มิใช่แค่ล้วงลูก แต่บางครั้งก็คลึงลูก บีบลูก จนใครบางคนหน้าเหลืองหน้าเขียว

ไม้ขีดเพียงก้านเดียวที่ “ทราย สก๊อต” สิรณัฐ ภิรมย์ภักดี จุดเหนือท้องทะเลอันดามัน ท่ามกลางคลื่นลมแห่งอำนาจ และผลประโยชน์ที่กำลังโหมกระหน่ำอย่างบ้าคลั่ง กลับสะท้อนวงจรอุบาทว์ที่แฝงตัวอยู่ในหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อนุรักษ์ฯ

ในปีหนึ่งๆ กรมอุทยานฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานฯ ทั่วประเทศนับพันล้านบาท ซึ่งเมื่อปี 2567 สามารถเก็บเงินรายได้สูงถึง 2,200 ล้านบาท

เงินทุกบาททุกสตางค์จากการเก็บค่าธรรมเนียมจะมากองรวมกันไว้ ณ ที่ทำการสำนักอุทยานแห่งชาติ กฎ กติกา แม้จะวางไว้อย่างรัดกุม มีทั้งคณะกรรมการหลายชุด มีทั้งคณะบอร์ดพิจารณา แต่ที่สุดแล้วทุกครั้งการประชุมตาทุกคู่ก็ต้องเหลือบไปที่ “คนใหญ่”

วัตถุประสงค์หลักของเงินจำนวนนี้ มีเพื่อใช้ทำนุ บำรุง ส่งเสริมสวัสดิภาพของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกคนในกรมอุทยานฯ หลักๆ ก็คือเสื้อผ้า ชุดทำงาน กระเป๋าเป้ เงินช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่ประสบอุบัติเหตุ ประสบภัยจากการทำงาน เจ็บ ตาย เงินช่วยเหลือทางคดีหากมีเจ้าหน้าที่ทำงานผิดพลาดแล้วถูกฟ้องร้อง งบพัฒนาบุคลากร มีการจัดฝึกอบรม หรือยังสามารถไปใช้ในสวัสดิการรูปแบบประกันภัยความเสี่ยงต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ตามที่ “ทราย สก๊อต” เสนอ แต่ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น คือมีโครงการประหลาดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทำนุ บำรุงบุคลากรซึ่งทราบกันดีว่าเบื้องบนสั่งมาและที่สำคัญคือ มีโครงการจัดซื้อเรือด้วยงบประมาณหลายร้อยล้านบาท!!


ที่น่าสังเกตคือ มีชื่อของ บริษัทไทยมารีน (ภูเก็ต) จำกัด โดย "วรานนท์ ณ ตะกั่วทุ่ง" เข้าร่วมประมูลด้วย

ประจวบเหมาะกับที่ บริษัทไทยมารีน (ภูเก็ต) จำกัด เป็นบริษัทที่ฟ้อง "ทราย สก๊อต" ฐานเผยแพร่ข้อความเป็นเท็จหมิ่นประมาท

ของแบบนี้ เกี่ยวไม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า” กรณี “หาเรื่อง” ปลด ทราย สก๊อต แต่วงในเขาเชื่อกันว่ามันต้องมีส่วน ไม่มากก็น้อย

นี่แหละเบื้องหน้าเบื้องหลังของกรณี หนีห่าว ของ “ทราย สก๊อต” ที่ไม่ได้จบแค่เรื่องการเหยียดคนไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาเชิงระบบ ปัญหาเรื่องผลประโยชน์หลายพันล้านของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเงื้อมมือของข้าราชการ และนักการเมือง ที่ตัดไม่ได้ ขายไม่ขาดด้วย!


กำลังโหลดความคิดเห็น