xs
xsm
sm
md
lg

ยสท. ถึงคราว Transform รับมือภูมิทัศน์ยาสูบยุคใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) รายงานผลประกอบการประจำปี 2567 โดยแม้ว่าจะมีผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการส่งออกบุหรี่ไปขายต่างประเทศ แต่กลับมีรายได้ลดลงเรื่อย ๆ จากการทรุดตัวของการประกอบธุรกิจการขายบุหรี่ในประเทศที่เป็นธรุกิจหลักขององค์กร ซึ่งต้องนำไปสู่การเตรียมตัวในการ transform องค์กรเพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปหาบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่

นับตั้งแต่ปี 2560 ยสท. ประสบปัญหาเรื่องรายได้และกำไรสุทธิลดลงต่อเนื่องหลายปี จากที่เคยสร้างรายได้กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 กลับเหลือรายได้เพียง 4.8 หมื่นล้านบาทในปีงบฯ 2564 และ 3.6 หมื่นล้านบาทในปีงบฯ 2567 เช่นเดียวกับผลกำไรที่เคยได้ถึงกว่า 9.3 พันล้านในปี 2560 กลับเหลือเพียง 735 ล้านบาทในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการขายบุหรี่ในประเทศที่ลดลงเหลือเพียง 11,719 ล้านมวน จากที่เคยมียอดขายถึง 28,800 ล้านมวน ในปีงบประมาณ 2560 คิดเป็นยอดขายบุหรี่ที่หายไปถึงเกือบร้อยละ 60


จากผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ของ ยสท. ยังระบุว่า อุุตสาหกรรมยาสููบในปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณการบริโภคบุุหรี่่ถููกกฎหมายรวม 24,858 ล้านมวน ลดลงเมื่่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 คิดเป็นร้อยละ 8 เมื่อพิจารณาข้อมููลการบริโภคบุุหรี่่ในอดีต 7 ปีย้อนหลัง พบว่ามีค่าเฉลี่ยลดลงร้อยละ 4 ต่อปี และเมื่อนำค่าสถิติการบริโภคบุุหรี่ในอดีตมาคาดการณ์แนวโน้มการบริโภคบุุหรี่ในอนาคต พบว่า ในปีงบประมาณ 2570 ตลาดบุุหรี่่จะหดตัวเหลือเพียง 22,408 ล้านมวนเท่านั้น

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตราที่มีการประกาศใช้ในปี 2560 และการปรับขึ้นอัตราภาษีใหม่ มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินธุรกิจของ ยสท. และทำให้ตลาดบุหรี่ในประเทศหดตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะการเกิดข้อจำกัดด้านการตั้งราคา การทำให้ภาระภาษีเพิ่มขึ้นสูงและการทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาขายปลีกให้เหมาะสมในสภาวะที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นได้ โครงสร้างภาษีบุหรี่ที่มีความสลับซับซ้อนนี้ ทำให้กำไรของ ยสท.ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก จากที่เคยมีอัตราการทำกำไรต่อสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 34 และ 45 ในปีงบประมาณ 2560 เหลือเพียงร้อยละ 3 และ 6 ในปีงบประมาณ 2567

ยสท. ที่เคยมีจุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ในกลุ่มราคาประหยัด กลับต้องขายในราคาเดียวกับคู่แข่งต่างชาติซึ่งมีภาพลักษณ์ดีกว่า จึงกระทบกับรายได้องค์กรอย่างรุนแรง ด้วยเหตุผลนี้ การคงไว้ซึ่งโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบปัจจุบันจึงไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาธุรกิจของ ยสท. รวมถึงอาจกระทบกับรายได้รัฐในระยะยาว เนื่องจาก ยสท. ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องส่งเงินเข้ารัฐในทุกๆ ปี และบุหรี่เป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญ 5 อันดับแรกที่สร้างรายได้สูงสุดแก่กรมสรรพสามิต แต่ในปี 2567 รายได้ภาษีสรรพสามิตจากยาสูบลดจาก 6.8 หมื่นล้านบาทในปี 2560 เหลือ 5.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ดี ยสท. ได้ค้นพบโอกาสทางธุรกิจจากการส่งออกบุหรี่ซิกาแรตไปยังตลาดต่างประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2564 สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากไม่ถึง 10 ล้านบาท จนสามารถสร้างรายได้กว่า 618 ล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงกว่า 415 ล้านบาท แม้ ยสท. จะทำผลงานส่งออกได้โดดเด่น แต่รายได้จากการส่งออกยังคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น


ดังนั้น จึงได้มีการเสนอแก้ไขเรื่องโครงสร้างภาษีเพื่อให้การประกอบธุรกิจบุหรี่ในประเทศดีขึ้น โดยจากข่าวสื่อมวลชนล่าสุดพบว่า ยสท. ได้เสนอให้กระทรวงการคลังเพิ่มอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่จากปัจจุบันที่มี 2 อัตรา เป็น 3 อัตรา เพื่อทำให้สามารถทำบุหรี่ราคาถูกที่ประมาณซองละ 40 บาท โดยคิดว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งเพิ่ม รวมถึงเชื่อว่าการทำบุหรี่ราคาถูกจะช่วยแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนบุหรี่ผิดกฎหมายได้ แต่แนวทางการแก้ไขดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะในอดีตที่ผ่านมาคู่แข่งสามารถปรับแผนการตลาดออกบุหรี่ใหม่ราคาถูกเท่ากับของ ยสท. ออกมาสู้กับ ยสท. ได้ทุกครั้ง และอาจไม่สามารถลดปัญหาบุหรี่เถื่อนได้

นอกจากนี้การเก็บภาษีสรรพสามิต 3 อัตราที่มีราคาถูกที่สุดเพียง 40 บาทยังสวนทางกับแนวทางสากลที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือการใช้โครงสร้างภาษีอย่างเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่และสร้างรายได้รัฐ โดยจะช่วยลดแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการบุหรี่แข่งขันกันผลิตและขายบุหรี่ราคาถูกจนปัจจุบันตลาดบุหรี่ที่บุหรี่ทุกยี่ห้อกระจุกตัวกันในกลุ่มราคาประหยัด (ต่ำกว่า 72 บาท) ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นแบบอัตราเดียวตามแนวทางที่ภาครัฐหลายหน่วยงานเช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือกรมสรรพสามิตได้เคยมีการศึกษาไว้แล้ว เพื่อให้ตลาดมีพื้นที่สำหรับการตั้งราคาขายปลีกสินค้าได้อิสระมากขึ้น และยังสามารถสร้างกำไรจากทั้งสินค้าในกลุ่มราคาประหยัดและราคาสูงได้แม้ว่าขนาดของกลุ่มบุหรี่ราคาสูงจะมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 5 และเอื้อต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตควบคู่ไปกับการช่วยพยุงสถานการณ์ของรัฐวิสาหกิจ มากกว่าที่จะพยายามใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพและสร้างความเสียหายให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามมา

จากการที่ ยสท. เผชิญกับรายได้และกำไรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการขายบุหรี่ในประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักขององค์กร การปรับโครงสร้างภาษีที่ส่งผลให้ภาระภาษีเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปหาบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ทำให้ ยสท. จำเป็นต้อง Transform องค์กรอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถปรับตัวและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค การมุ่งเน้นการส่งออกบุหรี่ซิกาแรตไปยังตลาดต่างประเทศเป็นโอกาสทางธุรกิจสำคัญที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยสท. แต่ก็อาจต้องสร้างมาตรฐานใหม่ทั้งด้านใบยาและการผลิต รวมถึงความจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการปรับตัวให้สอดคล้องกับโครงสร้างภาษีอัตราเดียวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต








กำลังโหลดความคิดเห็น