xs
xsm
sm
md
lg

สตง.แจงแก้แบบลดความหนาผนังปล่องลิฟต์ จาก 30 เหลือ 25 ซม.เพื่อให้ทางเดินเป็นไปตามกฎกระทรวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.ออกเอกสารชี้แจงกรณีปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ตึกใหม่ เพราะแบบโครงสร้างเดิม บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ผู้ออกแบบจึงเสนอลดความหนาลงจาก 30 ซม.เป็น 25 ซม. โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องครบถ้วน

วันนี้ (24 เม.ย.) สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินเผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงขั้นตอนการดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา (กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) บางจุด และการแก้ไขสัญญา) มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ปรากฏข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) ของอาคารที่ทําการสํานักงานแห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดสําคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอาคารและอาจจะเป็นสาเหตุที่ทําให้อาคารที่ทําการสํานักงานแห่งใหม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอเรียนชี้แจงว่า ในการดําเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสํานักงานแห่งใหม่ สตง.ได้ทําสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอรัม อาร์คิเทค จํากัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จํากัด) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด) และผู้รับจ้างควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนส์ จํากัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จํากัด) ซึ่งกรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดําเนินการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ ทําให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สตง.จึงได้ดําเนินการตาม ขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ดังนี้

1. ผู้รับจ้างก่อสร้างมีหน้าที่โดยตรงตามสัญญาที่ต้องดําเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อกําหนดและเงื่อนไขสัญญารวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญา (แบบรูปและรายการละเอียด ฯลฯ) โดยผู้รับจ้างก่อสร้างรับรองว่า ได้ตรวจสอบและทําความเข้าใจแบบรูปและรายการละเอียด ซึ่งในกรณีดังกล่าวผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน จึงได้สอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างควบคุมงาน

2. ผู้รับจ้างควบคุมงานในฐานะตัวแทนสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือ (Request For Information: RFI) เพื่อสอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างออกแบบ ซึ่งทั้งผู้รับจ้างออกแบบและผู้รับจ้างควบคุมงานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามสัญญาจ้าง

3. ผู้รับจ้างออกแบบให้ความเห็นตามหนังสือ (RFI) โดยกําหนดรายละเอียดการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (CORE LIFT) จากความหนา 0.30 ม. เป็น 0.25 เมตร บริเวณด้านทางเดินและเพิ่มปริมาณเหล็กเสริมให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักการทางวิศวกรรม พร้อมจัดทํารายการคํานวณและลงนามรับรอง เพื่อให้ความกว้างช่องทางเดินถูกต้องตามกฎหมายกําหนด (กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) และสอดคล้องกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน แล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน

4. ผู้รับจ้างควบคุมงานแจ้งรายละเอียดการปรับแก้ของผู้รับจ้างออกแบบเพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างดําเนินการจัดทําแบบขยายสําหรับการก่อสร้างตามความเห็นของผู้รับจ้างออกแบบ โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบความถูกต้องและส่งให้ผู้รับจ้างออกแบบพิจารณาและรับรองความถูกต้องของแบบที่จัดทําแล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน ทั้งนี้ ผู้รับจ้างควบคุมงานโดยวุฒิวิศวกรได้ตรวจสอบและลงนามรับรองอีกครั้ง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 165 วรรคสอง

กรณีดังกล่าว ผู้รับจ้างก่อสร้างได้เสนอราคารายการงานที่เปลี่ยนแปลงโดยมีราคาลดลงเป็นจํานวนเงิน 515,195.36 บาท (ห้าแสนหนึ่งหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบห้าบาทสามสิบหกสตางค์) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสนอขอแก้ไขวงเงินในสัญญาจ้างตามจํานวนเงินดังกล่าว โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องตามที่ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา

5. ผู้รับจ้างควบคุมงานรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดข้างต้นเสนอมายังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเพื่อพิจารณาให้ความเห็น

6. คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเสนอความเห็นต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้ว่าจ้างเพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญา ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 97 และมาตรา 100 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้า การบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 165

7. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรายการโดยไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ข้อ 20 (1)

8. คู่สัญญาลงนามการแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างโดยนําแบบรูปและรายการละเอียดที่แก้ไขเพื่อเป็นเอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาผังขั้นตอนการดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา (กรณีการแก้ไขสัญญา) ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วย การงบประมาณ พ.ศ. 2564 ปรากฏตามเอกสารแนบ








กำลังโหลดความคิดเห็น