"ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา" นักตกปลาชื่อดัง โพสต์เทียบชัด "ตกปลาอนุรักษ์" ไม่ใช่ "ล่าเสือดำ" ชี้วิธีศึกษาใต้น้ำต่างกันฟ้ากับเหว ย้ำความร่วมมือช่วยสัตว์ทะเลหายาก
วันนี้ (23 เม.ย.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Tup Meesupwatana" หรือ “ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา” นักตกปลารุ่นใหม่ ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท มาฮ์เซียร์ แท็คเกิ้ล ที่นำเข้าอุปกรณ์ตกปลา ออกมาโพสต์ข้อความเปรียบเทียบโดยการนำเหตุการณ์ "เปรมชัยล่าเสือดำ" มาเปรียบเทียบกับการตกปลาเพื่อการอนุรักษ์ โดยได้ออกมาอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการศึกษาสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดยเน้นย้ำว่าการตกปลาและติด Tag เป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ซึ่งแตกต่างจากการล่าสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างเสือดำ
ผู้โพสต์กล่าวว่า การศึกษาสัตว์น้ำมีความท้าทายกว่าสัตว์บก เนื่องจากปลาอาศัยอยู่ในน้ำ ทำให้การติดตามพฤติกรรม การสำรวจจำนวนประชากร หรือการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพเป็นไปได้ยาก การใช้วิธีการตกปลาและติด Tag จึงเป็นวิธีสากลที่นักวิจัยทั่วโลกนำมาใช้เพื่อศึกษาปลาทูน่า กระโทง ฉลาม และกระเบน โดยไม่ทำให้ปลาตาย และสามารถปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ทันทีหากมีความชำนาญ
นอกจากนี้ได้ยกตัวอย่างถึงความสำคัญของข้อมูลที่ได้จากการตกปลาในการทำวิจัย เช่น การศึกษาประชากรปลาที่ถูกตัดขาดจากแหล่งอื่นเนื่องจากสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ หรือผลกระทบจากน้ำเสียและภาวะโลกร้อน ข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการหาแนวทางการอนุรักษ์ปลาเหล่านั้นก่อนที่จะสูญพันธุ์
ผู้โพสต์ยังกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างนักตกปลากับนักวิจัย โดยนักตกปลาที่มีความชำนาญสามารถช่วยจับปลาหายากเพื่อให้นักวิจัยติด Tag และเก็บข้อมูลได้ ซึ่งหลายครั้งนักตกปลาก็เสียสละเวลารอคอยเป็นเวลานานเพื่อสนับสนุนงานวิจัยนี้ แม้แต่นักวิจัยบางส่วนที่ไม่ชื่นชอบการตกปลาก็ยังเห็นถึงความจำเป็นและร่วมมือในการดำเนินงาน
ก่อนจะสรุปว่าการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับนักตกปลาเป็นการ "ร่วมกันอนุรักษ์" โดยเงินทุนที่ได้รับมายังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ และเชิญชวนให้ผู้สนใจติดตามรายการ "เรื่องใหญ่รายวัน" ทางช่อง One เพื่อรับฟังประเด็นนี้เพิ่มเติม