xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์เตือนอย่าใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหาร เสี่ยงมะเร็งได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา เตือนไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหาร เพราะสีของปากกาเมจิกมีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้

วันนี้ (21 เม.ย.) เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้โดยระบุข้อความว่า “ไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหารครับ เนื่องจากสีจากเมจิกอาจมีการซึมด้วยความร้อนและก่อให้เกิดมะเร็งได้

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาวและเป็นร่างแหของพอลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้นก็มีช่องว่างเล็กๆ เมื่อพลาสติกถูกความร้อนส่งผลให้เกิดการขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องว่างเหล่านี้มีพื้นที่กว้างขึ้น ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้

ขณะที่หมึกของปากกาเมจิกนั้นก็เป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจจะซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น และซึมผ่านไปยังเนื้อของอาหาร ที่มีสภาพเป็นสารมีขั้วเช่นกันได้ แถมยิ่งอาหารร้อนมาก ก็จะยิ่งเกิดการซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นด้วย

เนื้อสีของปากกาเมจิกมีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิกครับ เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป แต่ควรหาวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน

ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยเตือนภัยเรื่องเช่นเดียวกันถึงปากกาเมจิกซึมทะลุอาหาร โดยแนะนำว่า “เตือนภัยปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร ควรเลือกใช้ถุงให้ถูกประเภท หรือถุงใส่อาหารที่ได้มาตรฐานสามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส สีหมึกจะไม่ซึมผ่านเข้าไป และไม่ควรใช้ปากกาเคมีมาเขียนบนถุงพลาสติกที่ใส่อาหารโดยตรง ให้ใช้วิธีแปะสติกเกอร์ เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิก”




กำลังโหลดความคิดเห็น