เสียงจากทะเลอีกด้าน นักตกปลาตั้งคำถามถึงนักอนุรักษ์ดัง ทำไมคนที่ใช้ทรัพยากรอย่างถูกกฎหมาย กลับกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาคุณ?
จากกรณีดรามาเดือดในโลกออนไลน์ เมื่อ “ทราย สิรณัฐ สก๊อต” นักอนุรักษ์ท้องทะเลและอดีตที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกถอนพ้นตำแหน่ง จนท.อุทยานฯ หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะคารมกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมเหยียดผิว
ล่าสุดวันนี้ (21 เม.ย.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็น "นักตกปลา" ได้โพสต์ข้อความยาวเหยียด สะท้อนมุมมองที่แตกต่างต่อแนวทางการอนุรักษ์ของนักอนุรักษ์ชื่อดังอย่าง "คุณทราย" โดยระบุว่า
แม้ตนเองและนักตกปลาส่วนใหญ่จะมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรเช่นกัน แต่กลับรู้สึกถูกมองว่าเป็น "ผู้ร้าย" เพียงเพราะมีมุมมองและการใช้ประโยชน์จากทะเลที่แตกต่างออกไป
ผู้โพสต์ชื่นชมในความแน่วแน่และความทุ่มเทของคุณทรายในการอนุรักษ์ แต่ตั้งคำถามว่าแนวทางการอนุรักษ์จำเป็นต้องเป็นไปในทิศทางที่คุณทรายวางไว้เท่านั้นหรือ? การที่ผู้คนใช้ทรัพยากรทางทะเลด้วยสิทธิอันชอบธรรม แต่ไม่ถูกใจนักอนุรักษ์บางกลุ่ม กลับถูกประณาม ทำให้การขอความร่วมมือจากคนที่อยู่กับทะเลอย่างนักตกปลาในอนาคตเป็นเรื่องยาก ทั้งที่คนเหล่านี้อาจเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญ และกำลังพยายามหาเลี้ยงชีพด้วยความเข้าใจในท้องทะเล
ผู้โพสต์ยกตัวอย่าง 2 กรณีที่สร้างความรู้สึกไม่พอใจให้กับกลุ่มนักตกปลา
กรณีที่ 1: ฉลามเสือ เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ไต๋เรือรายหนึ่งนำภาพฉลามเสือที่ตกได้เมื่อ 5 ปีก่อนมาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์หนึ่ง เนื่องจากมีผู้สงสัยว่าบริเวณแสมสารมีฉลามหรือไม่ ซึ่งการตกฉลามในเวลานั้นยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไต๋เรือไม่ได้มีความต้องการนำฉลามกลับ แต่กลับถูกนำภาพไปประจาน พร้อมระบุชื่อเรือ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และสาปแช่งในวงกว้าง แม้จะไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ถูกใจนักอนุรักษ์
ผู้โพสต์เข้าใจความรู้สึกของนักดำน้ำและนักอนุรักษ์ที่เห็นความสำคัญของฉลามเสือ แต่เชื่อว่าคุณทรายมีวิธีการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของฉลามเสือได้หลากหลายกว่าการโพสต์ที่นำไปสู่ความเกลียดชังระหว่างนักอนุรักษ์กับนักตกปลา ซึ่งโพสต์ดังกล่าวยังคงอยู่และสร้างความแตกแยก
กรณีที่ 2 นักตกปลาติดเกาะราชาน้อย เหตุการณ์ที่นักตกปลา 8 รายติดเกาะราชาน้อยเนื่องจากคลื่นลมแรง และได้รับการช่วยเหลือจากทัพเรือ คุณทรายได้โพสต์ใน Story ว่า "Should have left them there" (น่าจะปล่อยไว้ที่นั่นเลย) ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้โพสต์เป็นอย่างมาก และรู้สึกได้ถึงอคติที่คุณทรายมีต่อนักตกปลา ทั้งที่นักตกปลาเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นนักตกปลาทั้งหมด แต่อาจเป็นครอบครัวที่ไปพักผ่อน หรือมีเพียงบางส่วนที่ตกปลาชายฝั่งเพื่อนำมาย่างกิน ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรในปริมาณน้อยและอาจไม่ได้ผิดกฎหมาย
จากทั้งสองกรณี ผู้โพสต์รู้สึกว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม คนที่ทำกิจกรรมตกปลาก็ดูเหมือนจะเป็น "ตัวร้าย" ในสายตาของคุณทรายอยู่ดี ทั้งที่ในความเป็นจริง นักตกปลาจำนวนมากก็มีความรักและหวงแหนทรัพยากรทางทะเลเช่นกัน บางครั้งยังเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลสำคัญที่นักวิชาการหรือนักดำน้ำไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ข้อมูลแหล่งที่อยู่ พฤติกรรมการล่า และวงจรชีวิตของสัตว์ทะเลต่างๆ
ผู้โพสต์ตั้งคำถามว่า หากไม่ใช่ความร่วมมือจากนักตกปลา ใครจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้? การตกปลาด้วยเบ็ดหนึ่งคันต่อปลาหนึ่งตัว ยังถือเป็นการจับปลาที่ยั่งยืนที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการประมงอื่นๆ และการที่ใครบางคนไม่บริโภคอาหารทะเล ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ การเปิดใจและยอมรับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในมุมที่แตกต่างจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ท้ายที่สุด ผู้โพสต์สรุปว่า กิจกรรมการตกปลาเป็นช่องทางให้ผู้คนได้ใกล้ชิดและเกิดความรักในธรรมชาติ องค์ความรู้จากทุกภาคส่วนควรถูกนำมารวมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาทรัพยากร ไม่ใช่การสร้างความแตกแยกและการประณาม เพราะไม่มีใครอยากถูกชี้หน้าว่าเป็นผู้ร้าย ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงเพราะไม่ถูกใจใครบางคน
ข้อความดังกล่าวได้ถูกส่งต่อและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างในกลุ่มนักตกปลาและผู้ที่สนใจประเด็นการอนุรักษ์ทางทะเล โดยหลายคนเห็นด้วยกับมุมมองของผู้โพสต์ และหวังว่านักอนุรักษ์จะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่แท้จริงในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป