"เอกนัฏ" ลั่นจัดการเหล็ก IF คุณภาพต่ำ เล็งยกเลิก มอก. หลังพบปัญหา SKY สะท้อนผู้ผลิตควบคุมคุณภาพยาก ชี้ EAF ดีกว่า พร้อมเดินหน้ากวาดล้างอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญให้สิ้นซาก
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้ตึก สตง.มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทย่านจตุจักรพังถล่ม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก บริษัทก่อสร้างยืนยันว่าทำตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีกระแสข่าวว่ามีการใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานและปลอมลายเซ็นวิศวกรควบคุมงาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้ พบว่ามีการตรวจสอบเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดเหตุการณ์ถล่ม โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเหล็กเส้นบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน
ล่าสุดวันนี้ (21 เม.ย.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงความคืบหน้ากรณีปัญหาเหล็กไม่ได้คุณภาพของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) โดยระบุว่าพบพิรุธหลายประการในการประกอบธุรกิจ จนนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ BOI และการสืบสวนร่วมกับ DSI เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการอัปเดตความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็ก นั่นคือ การทบทวนเพื่อยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชัน (Induction Furnace : IF)
นายเอกนัฏอธิบายว่า เทคโนโลยีการผลิตเหล็กด้วยเตา IF นั้นมีข้อจำกัดในการดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็ก และเป็นระบบเปิด ทำให้เกิดมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษมากกว่า แม้ว่าในทางทฤษฎีจะสามารถผลิตเหล็กคุณภาพดีได้ แต่ในทางปฏิบัติ การควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอนั้นเป็นเรื่องยาก และผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญต่อการใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง รวมถึงมีกระบวนการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด
ประเทศไทยได้ออก มอก.เหล็กข้ออ้อยที่รับรองการผลิตด้วยเตา IF ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่ง SKY ก็ได้รับการรับรองดังกล่าวตั้งแต่ปี 2561 แต่จากการดำเนินนโยบายชุดปฏิบัติการสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานหลายบริษัท รวมถึง SKY ล้วนเป็นเหล็กที่ผลิตจากเตา IF ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบของผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace: EAF) ซึ่งใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก และสามารถดึงสิ่งสกปรกได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นระบบปิด ทำให้เกิดมลภาวะน้อยกว่า และควบคุมคุณภาพได้ง่ายกว่า
จากการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่าในปี 2567 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการเหล็กเส้นภายในประเทศที่ 2.8 ล้านตัน ทำให้เห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่ควรพิจารณายกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตด้วยเตา IF
นายเอกนัฏกล่าวว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณามีมติให้รัฐมนตรีออกประกาศกระทรวงเพื่อปรับแก้ไขยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ได้ โดยขณะนี้ได้ลงนามในหนังสือขอให้ปลัดกระทรวงฯ ในฐานะประธาน กมอ.บรรจุวาระดังกล่าวเพื่อพิจารณาแล้ว
ก่อนทิ้งท้ายว่า จนกว่าจะมีการยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ก็จะยังคงเดินหน้าสำรวจและตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อจัดการปัญหาอย่างถอนรากถอนโคน และจะขยายผลไปจัดการกับอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องอื่นๆ ต่อไป