xs
xsm
sm
md
lg

นักเล่นบำบัด ‘พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล’ กับความมุ่งหวังที่ไม่หยุดพัฒนาตนเองเพื่อเด็กๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล’ หรือ ‘ครูพลอย’ นักเล่นบำบัด ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Premium Nanny Teacher Academy และ Scrambled Art

‘พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล’ หรือ ‘ครูพลอย’ นักเล่นบำบัด ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Premium Nanny Teacher Academy และ Scrambled Art
“...นิยามของนักเล่นบำบัด จะเกี่ยวเนื่องกับว่าเราใช้วิธีการเล่น ในการเยียวยาสภาพจิตใจแล้วก็อารมณ์ของเด็กค่ะ เพราะว่าเราเชื่อว่าภาษาของเด็กแท้จริงแล้วคือการเล่น”

“...เพราะฉะนั้น เราจะใช้การเล่นเป็นสื่อกลางในการ Communication ในการสื่อสารกับเค้า ในการ Connect ในการเชื่อมต่อสัมพันธภาพกับเค้าค่ะ และในการเชื่อมโยงประสบการณ์ของเราและของเค้า ผ่านการเล่นร่วมกัน”

การเป็นนักเล่นบำบัด Therapeutic Play Therapist ที่บอกเล่านิยามความหมายได้อย่างครอบคลุมและเห็นภาพ ทั้งเป็น Filial Play Coach สามารถโค้ชผู้ปกครองให้ดูแลน้องๆ ที่บ้านได้

อีกทั้งเชื่อมโยงประสบการณ์การขี่ม้า ศิลปะบังคับม้า เข้ากับการพัฒนาตนเองเพื่อการดูแลเด็กได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในอนาคตมุ่งหวังเรียนต่อด้าน Animal Assisted Play Therapy (AAPT) นำศาสตร์อาชาบำบัดรวมทั้งการเทรนน้องหมาและม้ามาดูแลน้องๆ เด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางอารมณ์ได้อย่างน่าทึ่ง

หลากประเด็นที่กล่าวมา คือคำบอกเล่าจากประสบการณ์ของนักเล่นบำบัดที่เข้าใจในศาสตร์แขนงนี้และประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง

‘พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล’ หรือ ‘ครูพลอย’ นักเล่นบำบัด ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Premium Nanny Teacher Academy และ Scrambled Art
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษครูพลอย-‘พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล’
ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Premium Nanny Teacher Academy และ Scrambled Art
ในประเด็นนักเล่นบำบัดและศาสตร์แขนงที่เกี่ยวข้องอันน่าสนใจยิ่ง


‘พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล’ หรือ ‘ครูพลอย’ นักเล่นบำบัด ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Premium Nanny Teacher Academy และ Scrambled Art
นิยามความหมาย ‘นักเล่นบำบัด’

ถามว่านิยามความหมายของนักเล่นบำบัด คืออะไร

ครูพลอยตอบว่า “นิยามของนักเล่นบำบัด หรือ Therapeutic Play Therapist จริงๆ แล้ว มันเป็นนิยามที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่ เพราะว่าโดยปกติแล้วผู้ปกครองของนักเรียนคนไทยส่วนมากจะรู้จักนักกิจกรรมบำบัดมากกว่า
นิยามของนักเล่นบำบัด ก็จะเกี่ยวเนื่องกับว่า เราใช้วิธีการเล่น ในการเยียวยาสภาพจิตใจแล้วก็อารมณ์ของเด็กค่ะ เพราะว่าเราเชื่อว่า ภาษาของเด็กแท้จริงแล้วคือการเล่น”

“เพราะฉะนั้น เราจะใช้การเล่นเป็นสื่อกลางในการ Communication ในการสื่อสารกับเค้า ในการ Connect ในการเชื่อมต่อสัมพันธภาพกับเค้าค่ะ และในการเชื่อมโยงประสบการณ์ของเราและของเค้า ผ่านการเล่นร่วมกันค่ะ”

ถามถึงกระบวนการทำงานในการเล่นกับเด็กๆ ว่าเป็นอย่างไร
ครูพลอยถ่ายทอดว่า “ขอบข่ายวิธีการทำงานของนักเล่นบำบัด สมมติว่าถ้าอยากให้เห็นภาพ ครูพลอยขอรื้อประสบการณ์ของตัวเองนะคะ เพื่อเห็นภาพมากขึ้น ว่าแตกต่างจากการบำบัดอื่นๆ อย่างไรบ้าง”


ประสบการณ์เชื่อมโยง ศิลปะบังคับม้า

ครูพลอยเล่าย้อนไปถึงจุดที่ทำให้ตระหนักถึงอีกความมุ่งหวังพัฒนาตนเองเพื่อเป็นนักเล่นบำบัดว่า
“ด้วยความที่นักเล่นบำบัดในไทยมีน้อย เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ครูพลอยได้พัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ มาก่อน ก่อนที่เราจะเข้ามาสู่การเป็นนักเล่นบำบัดค่ะ ก็คือ ช่วงสองปีที่แล้ว ครูพลอยได้ไปเป็นนักกีฬาขี่ม้าค่ะ”
โดยครูพลอยคว้ารางวัลชนะเลิศ Shinning Star Award
รางวัลรองชนะเลิศ กีฬาขี่ม้า ประเภทศิลปะการบังคับม้า (Dressage) ระดับ Preliminary
ที่สโมสร Golden Horse Riding Club


“จริงๆ กีฬาขี่ม้าเป็นกีฬาประทับใจของตัวเองอยู่แล้ว เป็นกีฬาประจำตัวอยู่แล้ว เล่นตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยเลยค่ะ แต่ว่าด้วยความที่เราแต่งงาน มีลูก ทำธุรกิจ เราก็ออกห่างจากกีฬานี้ไป แล้วหลังจากที่ ตอนนี้ลูกครูพลอยก็มาเป็นนักกีฬาขี่ม้าแล้ว เราก็เลยมีโอกาสกลับไป เหมือนเคาะสนิม แล้วหากถามว่าเกี่ยวเนื่องกันยังไง ครูพลอยจะขออธิบายค่ะ”

“เมื่อเราได้คุ้นชินกับการขี่ม้าแบบนักกีฬา โดยเฉพาะ กีฬาศิลปะการบังคับม้า เมื่อเราไปดูไปศึกษาแล้วมีเสน่ห์มาก ด้วยตัวกีฬาและตัวม้าที่เป็นพาร์ทเนอร์คู่ใจของเรา เค้าพูดภาษาคนไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราเป็นพาร์ทเนอร์คนละสายพันธุ์ มันจะไม่เหมือนกีฬาอื่นๆ ที่เรามีพาร์ทเนอร์เป็นคน เป็นมนุษย์”


“เมื่อเราได้พาร์ทเนอร์ของเราที่เป็นม้า การสื่อสารคนละภาษาอยู่แล้ว คราวนี้สิ่งที่ครูพลอยได้เข้าไปสัมผัสคือ การศึกษาอารมณ์และ Body language หรือว่าภาษากายของพาร์ทเนอร์เรา เราไม่ได้พูดว่าเราจะเปรียบเด็กเหมือนม้านะคะ แต่ว่า Skill ในการที่เราฝึกฝนตรงนี้ ทำให้เรามีความที่อยากจะพัฒนาตัวเองจากที่เป็นครู ไปเป็นนักเล่นบำบัด”

“เพราะเราเชื่อว่า มันมีภาษาอื่นๆ ในการสื่อสาร แล้วมันได้ประสิทธิภาพมากกว่าการพูดคุย มันน่าสนใจมากค่ะ เพราะเวลาที่เราได้ลงไปเป็นนักกีฬาจริงๆ แล้ว บางสิ่งบางอย่าง หรือเรารู้สึกม้าตัวใหญ่มาก เราอาจต้องใช้แรง เราต้องใช้พลัง ความรุนแรงกับเค้า จริงๆ ไม่ใช่เลยค่ะ เราศึกษาเค้าจากลมหายใจ การเต้น จังหวะของหัวใจเค้า การขยับขาของเค้า การตอบสนองด้านร่างกายของเค้า
"เปรียบเหมือนเวลาเราเลี้ยงเด็กเบบี๋ เราเป็นแม่มือใหม่ แล้วเราไม่เข้าใจ ว่าเสียงอุแว้แปลว่าอะไร หิวไหม เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือเปล่า ต้องเข้าไปอุ้มหรือเปล่า”


“เรา Amazing ในเรื่องของการสร้างสัมพันธภาพที่ดี แล้วมันทำให้เราศึกษา ทำความเข้าใจ และพบว่ามีอาชาบำบัด เราก็ไปศึกษาอาชาบำบัด เพราะเราเป็นผู้ขี่ เมื่อเราขึ้นขี่แล้วเรารู้สึกว่า เวลาได้ Movement ได้สัมผัส ได้รับลมหายใจของเค้า มันมีความสงบนิ่ง ทำให้มนุษย์ผู้ขี่ได้รับความสงบนิ่งเช่นกัน”

สองปีที่ผ่านมา ครูพลอยทำตรงนี้เยอะมาก ด้วยความที่คลุกคลีกับเด็ก
จึงไปศึกษาต่อเกี่ยวกับการเล่นบำบัดหรือ Therapeutic Play Therapist ซึ่งครูพลอยได้ไปเป็นนักเล่นบำบัดของ Academy of Play and Child Psychotherapy (APAC)

“ครูพลอยเป็นนักบำบัดภายใต้โครงการของเค้า เค้าจะมาเทรนนักบำบัดในประเทศไทยปีละครั้งเท่านั้น
ด้วยความที่เรามีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพ และการเยียวยา โดยที่ไม่ต้องใช้การพูดเยอะมันก็จะเกี่ยวเนื่องกับการเป็น Therapeutic Play Therapist ค่ะ” ครูพลอยระบุ


Child Center 100%

ครูพลอยเล่าว่า “บางคนอาจจะเข้าใจว่า การเล่นของเด็กอาจจะต้องมีการสอนมั้ย สำหรับนักเล่นบำบัด นิยามหรือหน้าที่ของผู้บำบัดคือ ให้เด็กเป็นผู้นำเลยค่ะ มันจะเป็นการบำบัดที่เป็น Child Center 100% เลย เพราะฉะนั้น นักบำบัดจะไม่รู้เลยว่า วันนี้จะเกิดอะไรขึ้น เรามีหน้าที่ในการรับรู้อารมณ์”

“วันนี้น้องเข้ามา รู้สึกยังไง เด็กบางคนเค้าไม่สามารถพูดหรือสื่อสารกับเราได้ 100% ในที่นี้ เราพูดถึงเด็กอายุ 3-4 ขวบนะคะ เค้าไม่สามารถสื่อสารกับเราได้เท่ากับผู้ใหญ่”

“เพราะฉะนั้น หน้าที่ของนักบำบัด ภายในห้อง Play room เราจะให้เด็กได้เป็นผู้นำในการเล่น โดยที่เราจะไม่ไปตัดสินเค้าค่ะ ว่าทำไมหนูเล่นแบบนี้ล่ะ ทำไมไม่เล่นแบบนั้น เค้าจะเป็นผู้นำเราเลย”

“เช่นวันนี้ เค้า Have a bad day เข้ามาถึงเค้าก็เขวี้ยงสี เอาสีมาละเลงบนผ้าใบที่เราเตรียมไว้ เค้าก็สามารถทำได้เลย เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กได้ระบายอารมณ์ในขอบเขต ในบริเวณที่เหมาะสม”


ถามถึง ประโยชน์ของการเล่นบำบัด

ครูพลอยตอบว่า จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่มีคำถาม ว่าแล้วนักบำบัด เข้าไปในห้อง เข้าไปเล่นเหรอ
“เราก็จะย้อนกลับมาดูว่า ประโยชน์ของการเล่นมีอะไรบ้าง ภายในห้องบำบัด มันจะมี Tools กิจกรรมหลากหลายอย่างที่เด็กสามารถทำได้ เช่น ศิลปะ, Clay, เล่นบทบาทสมมติ, ดนตรีบำบัด และจะมีสิ่งต่างๆ ที่เค้าไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเล่นข้างนอก เช่น เล่นยิงปืน ฟันดาบ ก็จะมี Tools ต่างๆ ที่ให้เค้าสื่อสารกับเรา ที่ใช้การเปรียบเปรย สื่อสารกับผู้ใหญ่ได้ เช่น วันนี้ ฉันรู้สึกแบบนี้ ฉันอยากเล่นแบบนี้ มันมีอารมณ์แบบนี้เข้ามา แล้วหน้าที่ของนักบำบัดคือ เป็นกระจก สะท้อนกลับไปให้เค้าได้เห็นว่า วันนี้ หนูอารมณ์ไม่ดีเพราะแบบนี้
ดูสิ วันนี้ มันมีอะไรหลายๆ อย่าง ที่กังวลใจ เลยอยากนั่งเฉยๆ ไม่อยากเล่นอะไร นั่งเฉยๆ ได้ ไม่ผิด”

“จริงๆ ถ้าให้เปรียบเทียบก็อาจคล้ายๆ จิตแพทย์ แต่เราไม่ใช้วิธีการคุย เราใช้วิธีการรับส่งต่ออารมณ์กัน การสะท้อนภาพให้เค้าเห็นกลับไป ว่าตอนนี้ เค้าอารมณ์แบบนี้คืออะไร หนูรู้มั้ย อะไรทำให้อารมณ์หนูเป็นแบบนี้
ให้เค้าได้ Process ได้คิดเอง ได้สัมผัสมันเองโดยที่เราจะไม่ไปบอกว่า วันนี้หนูโกรธเพราะอะไร เครียดเพราะอะไร เราจะไม่ได้ชี้ ไม่ได้บอก เด็กต้องรับรู้เอง แล้วเป็นกระบวนการรับรู้ตนเอง นี่คือประโยชน์ที่ว่าทำไมการเล่นจึงเข้ามามีบทบาทระหว่างนักบำบัดและนักเรียน เพราะว่ามันเป็นสื่อกลางในการพูดคุย สิ่งที่เด็กไม่สามารถสื่อสารได้” ครูพลอยบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ






Filial Play Coach

ครูพลอยกล่าวว่า “การเล่นบำบัดเราจะดูแลน้องๆ ที่มีภาวะด้านสภาพจิตใจและอารมณ์เป็นหลัก โดยเราใช้วิธีการประเมิน คัดกรองเบื้องต้นจากเอกสารของกรมสุขภาพจิต แล้วประเมินออกมา ทางผู้ปกครองจะประเมินกับคุณครู และนำมาให้นักบำบัด และเราจะประเมินสภาพจิตใจและอารมณ์ของน้องอีกที ว่า สมควรเข้ารับการบำบัดหรือไม่ หรือสมควรให้ผู้ปกครองเข้ามาแล้วเราเป็นคนโค้ชผู้ปกครอง ให้กลับไปทำกับลูกที่บ้านก็ได้”

“เพราะนอกจากครูพลอยเป็น นักเล่นบำบัดแล้ว ครูพลอยยังเป็น Filial Play Coach ด้วย ก็เป็นโค้ชที่สามารถโค้ชผู้ปกครอง แล้วสั่งให้ผู้ปกครองปรับวิธีเลี้ยงดูน้องๆ ที่บ้านก็ได้ค่ะ ถ้าสมมติว่าเป็นเคสที่ไม่ได้ซีเรียสมาก และผู้ปกครองอยากมีส่วนร่วม เราก็ยินดีโค้ชให้”

ถามสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจการเล่นบำบัด

ครูพลอยตอบว่า “จริงๆ แล้ว ถ้าเราประเมินจากที่บ้านก่อนก็ได้ค่ะ เช่น ช่วงนี้เราพบว่าเด็กเข้าโรงเรียนค่อนข้างเร็ว มีการแยกจากกับผู้ปกครองในวัยที่ยังไม่พร้อมน่ะค่ะ เพราะฉะนั้น ในกลุ่มนักเรียนที่เข้าโครงการ Play Therapy ส่วนมาก ที่เราจะพบเจอ เป็นกลุ่มที่มีภาวะความกังวล เราอาจเคยเห็นภาพที่พ่อแม่ไปส่งลูกที่หน้าโรงเรียนทุกเช้า แล้วคุณครูดึงน้องออกจากคุณพ่อคุณแม่ แล้วน้องก็ร้องไห้ นั่นคือภาวะที่เด็กไม่พร้อมแยกจากผู้ปกครอง เพราะมีความรู้สึกว่า ไปโรงเรียนแล้วเค้ายังไม่ได้เจอคนที่เค้าไว้ใจ เชื่อใจ สภาพแวดล้อมวุ่นวาย เสียงดังเกินไปสำหรับเค้า”

“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ ถ้าเด็กคนไหนรับได้ และปรับตัวได้ก็โชคดี แต่ถ้าเด็กกลุ่มไหนที่ปรับตัวไม่ได้ซักที ร้องไห้เป็นเทอมๆ แล้ว กลับบ้านไปก็มีภาวะ Separation Anxiety ติดพ่อติดแม่เกิน นี่แหละ เราลองประเมินสถานการณ์ดูว่า บางทีลูกอาจจะไม่พร้อมที่จะไปโรงเรียนนะ หรือว่า ถ้ามันจำเป็นจะต้องมีการเข้าโรงเรียนจริงๆ เราก็อาจทำควบคู่กับ Play Therapy ไปด้วยได้ ทำการเยียวยา อันนี้เป็นกลุ่มที่เราเจอแต่เราก็พบด้วยว่า เป็นกลุ่มที่ผู้ปกครองสร้างสัมพันธ์กับลูกไว้ค่อนข้างแน่นดี ผู้ปกครองทำหน้าที่มาดี”

“ถ้าเราทำการสัมภาษณ์ย้อนกลับไปจะพบว่าเป็นผู้ปกครองที่ดูแลน้องๆ ด้วยตัวเองกับมือมาตั้งแต่แรกเกิดนี่แหละ ลูกก็เลยติดเรา 
แล้วกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พ่อแม่ทำหน้าที่มาดีแล้ว แต่เข้าโรงเรียนก่อนถึงวัยที่เขาพร้อม เด็กก็โดนแยกจาก”

“กลุ่มนี้ เราก็อาจให้เลื่อนเข้าโรงเรียนออกไปอีกสักนิดนึง ให้เขาพร้อม ให้เขาสามารถสื่อสารได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วค่อยเข้าไปสู่ระบบโรงเรียน ก็จะช่วยได้เยอะมากค่ะ” ครูพลอยระบุ


ความมุ่งหวังตั้งใจ

เมื่อถามว่ามีอะไรที่อยากฝากทิ้งท้ายบ้าง คำตอบของครูพลอยยังคงสะท้อนความมุ่งหวังตั้งใจในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

ครูพลอยตอบว่า “ตอนนี้ครูพลอยกำลัง Move ไปสู่การพัฒนาตนเองแล้วก็วงการแม่และเด็ก เหมือนเรากำลัง Move มาอีกเฟสนึงเป็นวงการการบำบัดเด็กแล้วก็ได้อยู่ภายใต้ Standard องค์กรที่เป็นองค์กรนานาชาติ ซึ่งสองปีที่ผ่านมา การที่ครูพลอยได้สัมผัสกับการเป็นนักกีฬาขี่ม้ามาด้วย ก็อยากจะฝากไว้ ว่าในอนาคต ครูพลอยกำลังวางแผนที่จะพัฒนาตนเองเป็น Animal Assisted Play Therapy (AAPT) แต่ว่าอันนี้เป็นโครงการในอนาคตนะคะ อีก 2-3 ปีอาจจะเกิดขึ้นนะคะ แต่ฝากไว้ก่อน พอเราจบตรงนี้ ในไทยยังไม่ค่อยมีใครทำ ก็คือการที่เราเทรนสัตว์ ครูพลอยจะคุ้นเคยกับน้องหมาและม้า”

“มันจะมีอีกโครงการนึงที่เราจะพัฒนา ซึ่งครูพลอยจะไปเรียนที่อังกฤษ โดยเราจะเข้าร่วมเทรนน้องหมากับน้องม้านี่แหละค่ะ ที่จะเข้าไปเป็นนักบำบัดให้เด็กพิเศษอีกที เหมือนอาชาบำบัด และมีน้องหมาที่คอย Assist น้องๆ เด็กๆ ที่มีภาวะวิตกกังวล หรือพวกโรคลมชัก คอยหยิบยาให้ คอยดูแลให้ หรือว่าเป็นน้องๆ ที่มีความ Hyperactive สามารถโอบกอดเค้าเพื่อลดภาวะกังวล ภาวะหุนหันพลันแล่น แล้วก็เข้าไปสู่การเทรนเป็นอาชาบำบัดด้วยค่ะ แต่เป็นโครงการในอนาคตนะคะ”

เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ ครูพลอยคงพร้อมที่จะเป็น Animal Assisted Play Therapy ได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเป็นนักเล่นบำบัด เช่น ณ วันนี้
……….
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล