เปิ้ล ไอริณ ศรีแกล้ว นักร้อง นักแสดง แสดงความเป็นห่วงเนื้อเพลง "ถ้าอยากโดนเซ็ตหย่อ หันหลังมา" ส่งเสริมพฤติกรรมสำส่อน ทั้งที่ตอนนี้วัยรุ่นไทยติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก วอนศิลปินเพลง และคนบันเทิงควรรับผิดชอบต่อผลงาน และผลลัพธ์ในอนาคตต่อผู้คนในสังคมและเด็กๆ
วันนี้ (14 เม.ย.) บนโซเชียลฯ แชร์ข้อความจาก เฟซบุ๊ก "Irin Sriklao" ของ เปิ้ล ไอริณ ศรีแกล้ว นักร้อง นักแสดง ออกมาแสดงความเป็นห่วงถึงเพลง ชิมิ ของศิลปิน ยังกู ฟิทเจอริ่ง กันเนอร์ ซึ่งมีเนื้อร้องว่า "เธอโยกอยู่ในฟลอร์ ขวาซ้ายขวา เธอโยกอยู่ในฟลอร์ ซ้ายขวาซ้าย ถ้าอยากโดนเซ็ตหย่อ หันหลังมา สุดหล่อที่เธอเหลียวคงไม่เสียวเท่าผมหรอก" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในติ๊กต็อก และมีการนำไปใช้เป็นเพลงเต้นในเทศกาลสงกรานต์ในขณะนี้ โดยระบุว่า
"รึว่าพวกเราตอนนี้?? มาถึงยุคจุดต่ำสุด ที่เรียกว่า "กาลียุค!" กันแล้วคะ??
เพลงที่ Top 5 ในวันสงกรานต์ปีนี้ มีเพลงหนึ่งมีท่อนที่ร้องจนติดปาก กระหึ่มโลกโซเชียลว่า "เธออยากโดนเซ็ต หย่อ! หันหลังมา!" (คือภาษาคุกที่แปลว่า ถ้าอยากโดนอัดถั่วดำ! ให้หันหลังมา!!)
แล้วก็มีดารา นักร้อง นางงาม อินฟลูฯ แห่ร่วมขบวนการเต้น Featuring ท่อนนี้ ร้องไปเต้นไปหน้าชื่นตาบานเพื่อเอายอดไลก์กัน นับสิบ นับร้อย!!
ถึงเวลารึยังที่เพลงไทยควรมีข้อกำหนดในการมีตัวบทกฎหมายถึงความหมายของเพลง!! เพราะตอนนี้ในปีนี้ สถิติวัยรุ่นไทยติดเชื้อ HIV สูงสุดตั้งแต่เคยมีมาในประวัติศาสตร์!
วัยรุ่น ที่ควรเป็นอนาคตของครอบครัว เป็นอนาคตของชาติ ต้องมาจบชีวิต และกลายเป็นภาระ
ของครอบครัวและสังคม! สถิติวัยรุ่นปีนี้ ท้องตั้งแต่วัยเรียนสูงสุด เพราะเกิดจากสื่อบันเทิง สื่อโซเชียล ที่กลายเป็นสิ่งยั่วยุรอบๆ ตัว กลายเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์!!
ถึงเวลาหรือยังที่ศิลปินเพลง และคนบันเทิงควรรับผิดชอบต่อผลงาน และผลลัพธ์ในอนาคต ต่อผู้คนในสังคมและเด็กๆ หรือว่ายังตั้งหน้าตั้งตาทำเอาไลก์ หากินกับวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เปราะบาง และโดนชักจูงได้ง่ายที่สุด!!
ปีนี้มีข่าวคนบันเทิงฉาวโฉ่เรื่องกาเมออกมาเป็นระยะๆ โปรดคำนึงถึงคนที่เขารักคุณ เมตตาคุณ และมองคุณเป็นไอดอลบ้างเถอะค่ะ!!
นี่เราคิดไปเองคนเดียวไหม?? เพื่อนๆ พี่น้องมีความเห็นว่ายังไงกันบ้างคะ??
#ฝากไว้ให้คิด
#ให้มันจบในรุ่นเรา"
ด้านชาวเน็ตต่างแสดงความคิดเห็นไปต่างๆ นานา เช่น
- มันไม่ใช่ยุคสมัยที่เจริญขึ้นอะ มันเป็นยุคสมัยไหม่ ที่ทรามลงกว่าเดิม ส่อ สื่อ เสี้ยม สอน ห่วงลูกที่กำลังจะโตมาก
- เรามาถึงยุคที่ดาราไอดอลนั่งคุยเรื่องแซ่บบนเตียงโชว์อวดกันแล้ว... เสื่อมถอยกันสุดๆ จนเป็นเรื่องปกติ
- เห็นด้วยครับ.... ในอดีตเราเคยมีหน่วย กบว.คอยเซ็นเซอร์เพลงที่มีเนื้อหาหยาบคายลามก หรือเพลงที่มีเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อสังคมความสงบสุข รวมถึงการแสดงอื่นๆ ที่ส่อไปในทางไม่ดี แต่จู่ๆ ราชการกลับยุบหน่วยงานนี้.... น่าจะมีการรื้อฟื้นหน่วยงานราชการนี้กลับมาใช้ใหม่นะครับ.....
- ยิ่งเติบโต ยิ่งเห็นความถอยหลังของคุณธรรม วัฒนธรรมที่ดีงาม หลายอย่างจางลงไปเยอะจริงๆ ค่ะจนคิดถึงสมัยก่อนที่จะทำอะไร จะพูดอะไรออกสื่อถูกกรองหลายชั้น สมัยนี้!! คนที่มีอิทธิพลทางความคิด มีแต่คนที่ไม่ได้น่าเชิดชู หรือเป็นตัวอย่างที่ดีอะไรเลย
- สมัยก่อน วงการเพลงและโทรทัศน์ยังมีคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว.ที่ทำหน้าที่ควบคุมเนื้อหามาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2518 และถูกยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 กลายเป็นคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กกช. พร้อมกับมอบหมายให้คณะกรรมการของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งดำเนินการตรวจพิจารณากันเอง ฉะนั้นจึงได้ทราบข่าวห้ามออกอากาศเพลงอยู่เสมอ นานๆ ครั้งจะได้ยินข่าวห้ามเผยแพร่เนื้อหารายการโทรทัศน์ (ส่วนภาพยนตร์และวิดีโอเทปจะเป็นคณะกรรมการของอีกหน่วยงานหนึ่ง) จะว่าไปแล้วก็เหมือนถูก "แบ่ง" กลุ่มคนฟังไปด้วยในตัว เนื่องจากเพลงที่มีคำหยาบคาย คำไม่สุภาพ หรือสองแง่สองง่าม มีกลุ่มเฉพาะในสัดส่วนที่น้อยกว่าอยู่แล้ว
ตอนที่ผมเริ่มใช้ "ยูทูบ" ครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ. 2551 ตอนนั้นมีผู้อัปโหลดคลิปรายการทีวีย้อนหลัง และยังมีค่ายเพลงลูกทุ่งอิสระที่ทำมิวสิค วิดีโอมาโพสต์โดยไม่ผ่านช่องโทรทัศน์ ตอนนั้นก็เริ่มมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งสื่ออื่นๆ ทั้งในด้านดีและด้านที่ไม่ดี และก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จริงๆ ในอีก 3 ปีถัดมา เพราะถือว่าเป็นช่องทางที่ให้อิสระแต่ต้องไม่ขัดกับกฎของผู้ให้บริการ เลยทำให้มีผลงานเพลงออกมามากมาย แต่ก็เป็นในลักษณะ "ฉาบฉวย" กล่าวคือ ได้รับความนิยมหรือเป็นกระแสเพียงแค่ชั่วครู่ ไม่มีอะไรให้จดจำ หากวันข้างหน้า ได้เกิดเหตุอะไรสักอย่างในทางที่ไม่ดี ตัวบุคคลนั้นก็จะถูกพูดถึงขึ้นมาอีกครั้งโดยอ้างจากหลักฐานที่มีอยู่นั่นเอง
ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจาก "สมาร์ทโฟน" มีกันทุกครัวเรือนอยู่แล้ว
สุดท้าย เคยอ่านผ่านๆ จากเพจที่เกี่ยวกับสุขภาพ เห็นโพสต์ถึงสถิติวัยรุ่นไทยที่ติดเชื้อ HIV แล้ว ยังพบผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่นทั้งชายหญิงเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะที่อยู่ในสารบบทางการแพทย์ แต่พบผู้ป่วยลดน้อยลงเมื่อหลายสิบปีก่อน เช่น ซิฟิลิส, หนองใน ล่าสุดเมื่อสองสามปีที่แล้วแพทย์รายงานพบผู้ป่วยวัยรุ่นเป็นซิฟิลิสและหนองในเพิ่มขึ้นด้วยครับ
อนึ่ง สำหรับเพลง ชิมิ ท่อนที่ร้องว่า "เธอโยกอยู่ในฟลอร์ ขวาซ้ายขวา" เป็นการดัดแปลงเนื้อหาเพลง ใหญ่ทะลุใหญ่ ของเท่ง เถิดเทิง หรือนายพงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ ศิลปินตลกจากค่ายเวิร์คพอยต์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ส่วนคำว่า "เซ็ตหย่อ" เป็นคำที่ผู้ต้องขังใช้เพื่อสื่อถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักระหว่างผู้ต้องขังชายด้วยกันเอง ซึ่งคนที่ออกมาเปิดเผยศัพท์นี้ที่มีชื่อเสียง คือ ต๊ะ ยมทูต หรือ นายรังสรรค์ มูลทองสงค์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว