xs
xsm
sm
md
lg

ตึกกากเต้าหู้ อนุสรณ์โคตรคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดปมหมกเม็ดโครงการสร้างตึก สตง.แห่งใหม่จนทำให้ตึกถล่ม เริ่มตั้งแต่การปั้นโครงการจากตึก 14 ชั้นที่ปทุมธานี งบ 1,500 ล้าน เปลี่ยนมาเป็นตึก 30 ชั้น มูลค่า 2 พันกว่าล้าน บนที่ดินการรถไฟฯ ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่า 15 ปีเกือบ 600 ล้าน เกิดความไม่โปร่งใสทุกขั้นตอน ตั้งแต่ว่าจ้างผู้ออกแบบ ประมูลหาผู้รับเหมาผ่าน e-bidding ที่ส่อว่ามีการ “ซื้อราคา” รวมทั้งการว่าจ้างผู้คุมงานที่น่าสงสัยว่าล็อกสเปกให้บางบริษัท



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการพังถล่มของตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขณะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อน่าสังเกตหลายประการ นอกจากการค้นหาร่างผู้เสียชีวิต และการรื้อถอนเศษซากของอาคารจะเป็นไปอย่างล่าช้าผิดปกติแล้ว ยังพบว่า

หนึ่ง ฝั่งผู้บริหาร สตง.อย่าง นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง.คนปัจจุบัน นอกจากจะออกคำชี้แจงที่ไม่มีใครเชื่อถือ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 โดยอ้างว่าการ ดำเนินการสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่นั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้แล้ว

และต่อมาออกจดหมายเวียนภายในห่วยๆ มาฉบับหนึ่งแล้วกลับไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อที่จะโต้ข้อกล่าวหา หรือพยายามพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์โปร่งใสในการจัดสร้างโครงการนี้เลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามกลับมีข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ


สอง จากท่าทีที่ขึงขังของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 1 เมษายน 2568 ซึ่ง “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสรุปผลการสอบสวนเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มภายใน 7 วัน

แต่ภายหลังจากครบ 7 วัน ในการประชุม ครม.วันอังคารที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ กลับแถลงว่า จากการตรวจสอบกรณีอาคาร สตง.พังถล่มพบข้อสงสัยหลายประการที่ค่อนข้างสำคัญ ยังไม่สามารถสรุปหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ จึงมีการตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 4 สถาบัน ทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในกำกับของกระทรวงมหาดไทย จัดทำและนำเสนอ ‘โมเดล’ ของแต่ละสถาบันเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้อาคารดังกล่าวพังถล่ม โดยจะใช้เวลา 90 วันในการสรุปผล


จากท่าทีขึงขังที่บอกว่าต้องรู้ผลภายใน 7 วัน จึงกลายเป็น 90 วัน แบบที่ประชาชนต่างรู้ทันว่าเรื่องนี้มีกลิ่นอะไรตุๆ เสียแล้ว

คำถามที่น่าสนใจที่สุด และสิ่งที่คนต้องการคำตอบที่สุดในตอนนี้ก็คือ การที่ตึก สตง.ขนาด 30 ชั้นถล่มเช่นนี้ “สาเหตุหลัก” มาจากเพราะ ภัยพิบัติแผ่นดินไหว หรือ การคอร์รัปชัน กันแน่ ?

“คำตอบ ผมฟันธงได้ ณ วันนี้เลยว่า สาเหตุหลักคือการคอร์รัปชันอย่างแน่นอนที่สุด เป็นการคอร์รัปชันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ผมทำงานข่าวมาห้าสิบกว่าปี อายุ 78 ปีแล้ว” นายสนธิกล่าว

ทั้งนี้ ต้องแยกแยะเรื่องนี้ออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ

ส่วนที่หนึ่ง การปั้นโครงการ การได้มาซึ่งโครงการ การประมูล การวิ่งเต้น การจ่ายเงินจ่ายทอง การหา Joint Venture การซื้อราคาจากกรมบัญชีกลาง โดยกระบวนการเหล่านี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องเต็มไปหมด


และส่วนที่สองก็คือ เมื่อได้โครงการมาแล้ว ITD หรือ อิตาเลียนไทยฯ ที่ไปตั้งกิจการร่วมค้ากับรัฐวิสาหกิจจีนคือ China Railway Number 10 กลายเป็น กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย) นั้นได้ดำเนินการอะไรที่ทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น รวมไปถึงการปรับแก้แบบ ลดสเปก การจ้างผู้รับเหมาช่วงเพื่อเร่งงานให้เสร็จ

ที่มาการปั้นโครงการตึก 2,100 ล้าน

โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ย่านจตุจักร เป็นโครงการระยะยาวที่ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2569 โดยมีค่าใช้จ่ายหลักๆ สองส่วน คือ ค่าก่อสร้าง และค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร

เฉพาะค่าก่อสร้างมีวงเงินทั้งสิ้น 2,136,000,000 บาท ส่วนค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารมีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 74,653,200 บาท


ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มวงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบจากเดิมวงเงิน 76,800,000 บาท เป็นวงเงิน 84,371,916 บาท

โดยอ้างว่าเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด และการแก้ไขแบบก่อสร้าง ทำให้ “สตง.ได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างอาคาร จํานวน 155 วัน ทําให้ระยะเวลาก่อสร้างขยายจาก 1,080 วัน (วันที่ 31 ธันวาคม 2566) เป็น 1,235 วัน ส่งผลต่อสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างจะต้องมีค่าจ้างเพิ่มเติมจากเดิมอีก 148 วัน (ผู้ให้บริการ ควบคุมงานเริ่มงานถัดจากวันส่งมอบพื้นที่ 7 วัน) เป็นจํานวนเงิน 9,718,716 บาท”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก “เฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการ STRONG ประเทศไทย” ซึ่งเกาะติดเรื่องนี้ได้เปิดเผยถึงที่มาของตึก สตง.ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ว่า

หลายปีก่อนหน้านี้ สตง.เคยมีการว่าจ้างออกแบบก่อสร้าง ‘โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่’ บนที่ดินของกรมธนารักษ์ เนื้อที่ 15 ไร่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี วงเงินค่าออกแบบจำนวน 25.8 ล้านบาท ออกแบบโดยกิจการร่วมค้า คาบิเน็ท อินจิเนียร์ ภายใต้งบประมาณค่าก่อสร้าง 1,500 ล้านบาท

ประกอบไปด้วย อาคารหลักอำนวยการ สตง.จำนวน 14 ชั้น อาคารอำนวยการ 2 จำนวน 7 ชั้น อาคารคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จำนวน 5 ชั้น อาคารสันทนาการ จำนวน 4 ชั้น พร้อมห้องอาหาร สนามเทนนิส อาคารจอดรถและโรงพิมพ์ จำนวน 10 ชั้น และสนามกีฬาบาสเกตบอลกลางแจ้ง

แต่ต่อมาในปี 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำบันทึกข้อความ ที่ ตผ 0003/243 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2559 เรื่องการปรับเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) ถึง นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น


หนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงเหตุผลของการเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้าง อาคาร สตง.แห่งใหม่ จากบนที่ดินของกรมธนารักษ์ จังหวัดปทุมธานี ให้เป็น การเช่าที่ดิน รฟท.บริเวณเขตจตุจักร ใกล้กับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัตน์ หรือสถานีกลางบางซื่อแทน โดยให้เหตุผลเรื่องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 และเรื่องระยะทางไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง สิ้นเปลืองเวลา และงบประมาณค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังแจ้งให้ทราบด้วยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ บริเวณย่านพหลโยธิน ศูนย์การผลิตและซ่อมบำรุง ฝ่ายการช่างโยธา จำนวนพื้นที่ 17,460 ตารางเมตร หรือ 10 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา โดยคิดค่าเช่าปีแรก ตารางเมตรละ 1,546.88 บาทต่อปี และปรับเพิ่มร้อยละ 5 ทุกปี กำหนดระยะเวลาเช่า 15 ปี รวม 579.710 ล้านบาท

และได้มีการออกแบบอาคารแบบใหม่จากงบประมาณที่เคยตั้งเอาไว้ 1,500 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,522 ล้านบาท !?!


สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2458 สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ถึงปัจจุบันมีอายุรวม 110 ปี ปัจจุบันใช้พื้นที่อาคาร 7 ชั้น ของกระทรวงการคลังที่ ถ.พระราม 6-ซอยอารีย์ เป็นที่ทำการ โดยใช้ประตูเข้าเดียวกับสำนักงบประมาณ แต่กระทรวงการคลังอ้างต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าว ทำศูนย์ราชการกระทรวงการคลัง ต่อไป จึงต้องมีการสร้างสำนักงานแห่งใหม่ให้กับ สตง.


ด้วยเหตุนี้ สตง. ในยุคที่ผู้ว่าฯ ชื่อนายประจักษ์ บุญยัง ซึ่งดำรงตำแหน่งช่วงพฤศจิกายน 2560 ถึง กุมภาพันธ์ 2567 ได้ขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี(ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

ได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่าย ไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท (คิดเป็น 45.26% จากวงเงินค่าก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท)


หมกเม็ด 3 ขั้นตอน

จากการให้ข้อมูล และการสารภาพข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ภายใน สตง. ที่รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี การสร้างตึก สตง.แห่งใหม่นี้ เกิดเหตุการณ์ความไม่สุจริตของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 3 ขั้นตอน ดังนี้คือ

หนึ่ง การจ้างผู้ออกแบบอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ กระบวนการเริ่มดำเนินการเมื่อประมาณปี 2560 – 2561มีคนสนิทของนายประจักษ์ บุญยัง 2-3 คน คอยเชื่อมโยง และประสานงานในการคัดเลือกบริษัทออกแบบเพื่อทำการออกแบบสำนักงาน สตง. แห่งใหม่จนกระทั่งได้บริษัทฟอรัม อาร์คิเทค จำกัด มาเป็นผู้ออกแบบอาคาร สตง. แต่น่าสงสัยว่าในการคัดเลือกผู้ออกแบบนั้น ได้คัดเลือกที่ความสามารถว่าบริษัทใดมีความชำนาญ เชี่ยวชาญ หรือมีความเก่งในการออกแบบหรือไม่? หรือ ตั้งใจเลือกบริษัทที่นายประจักษ์และพรรคพวก สามารถควบคุมและสั่งการได้ ?

นอกจากนี้ ในกระบวนการคัดเลือกผู้ออกแบบยังไม่ได้ใช้วิธี e-bidding ซึ่งใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุดในการคัดเลือกผู้ชนะการเสนอราคา แต่ใช้วิธีการคัดเลือกผู้ออกแบบโดยพิจารณาจากคุณสมบัติ ผลงาน ประสบการณ์ และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่ สตง.กำหนด มาเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนคัดเลือกบริษัทผู้ออกแบบ

จึงเป็นช่องว่างให้มีการดำเนินการกำหนด TOR เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัทผู้ออกแบบที่ตนเองต้องการได้ และสะดวกต่อการให้คะแนนให้บริษัทที่เลือกมาชนะในการคัดเลือก โดยมีการสั่งการไปยังคณะกรรมการคัดลือกผู้ออกแบบในชุดต่าง ๆ เช่นคณะกรรมการกำหนด TOR ให้กำหนดขอบเขตของงานเป็นไปตามข้อมูลที่บริษัทผู้ออกแบบที่รู้กันต้องการ

ต่อมา คณะกรรมการคัดเลือกผู้ออกแบบ ก็มีการพิจารณาให้คะแนนบริษัทที่ ผู้ใหญ่ใน สตง.ต้องการ จนบริษัทนั้นได้เป็นผู้ออกแบบอาคาร สตง.แห่งใหม่ โดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องแต่ละชุดจะมีผู้บริหารเป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ โดยผู้อยู่เบื้องหลังสามารถสั่งการให้ทำตามที่ตนเองต้องการได้ จนในที่สุดก็ได้บริษัท ฟอรัม อาร์คิเทค จำกัดและบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบอาคาร สตง.แห่งใหม่ ด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี 2561

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการคัดเลือกผู้ออกแบบของ สตง. นั้น ไม่โปร่งใส มีกระบวนการทุจริตเกิดขึ้น โดยไอ้โม่งตัวจริงคือ คนที่อยู่รอบตัว นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง.นั่นเอง


แม้หลังเกิดเหตุตึกถล่มได้ 2 วัน นายประจักษ์ อดีตผู้ว่าการ สตง. จะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนยืนยันได้ว่า การว่าจ้างดังกล่าวทำโปร่งใส ทำตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายในการประมูลการก่อสร้างอาคารของรัฐ ด้วยวิธี E-bidding ซึ่งกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้เสนอราคามาต่ำกว่าราคากลาง และเสนอมาราคาต่ำสุด

แต่จาก Timeline ตั้งแต่เริ่มโครงการ ขออนุมัติงบประมาณการก่อสร้าง จนถึงในที่สุดตึกถล่ม ช่วงปี 2560-2568 นั้น ทับซ้อนกับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ของ นายประจักษ์แบบพอดิบพอดี จนนายประจักษ์ ยากจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ หรือถ้ายืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องก็ต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ
งนอกจากนี้ ข้อมูลจากคนใน สตง.ยังเปิดเผยด้วยว่า ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. คนรอบตัวนายประจักษ์บางคนนั้น เป็นผู้ทราบถึงรายละเอียดของตึก สตง.แห่งใหม่เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น บริษัทผู้ออกแบบ การกำหนดยี่ห้อสเป็คของวัสดุก่อสร้าง การไปเสนอให้ตัวแทนจำหน่ายวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในโครงการนี้หากต้องการได้จำหน่ายสินค้าก็ให้มีการจ่ายเงินจ่ายทองอย่างไร เพื่อแลกกับการระบุยี่ห้อสินค้าต่างๆ ไว้ในแบบรูปรายการที่ดำเนินการออกแบบเอาไว้ฯลฯ

สอง ในขั้นตอนของการดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ พบว่า ผู้ที่เป็นคนกลางของ สตง. ในการเจรจา ประสานงาน เพื่อจัดหาผู้รับจ้างนั้นเดิมที มีการการวางผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท อาคาร 33 จำกัด


เนื่องจากในธุรกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่นั้น บริษัทในวงการมีธรรมเนียมคร่าว ๆ พอเป็นที่รู้กันในการแบ่งสรรปันส่วน และกระจายงาน เพื่อไม่ให้มีการแย่งงาน หรือ ฟันราคากันเกิดขึ้นในหมู่ของธุรกิจก่อสร้างของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยงานก่อสร้าง อาคาร สตง.แห่งใหม่ ผู้ที่จะได้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างจะต้องถึงลำดับของบริษัท อาคาร 33 จำกัด

แต่ปรากฏว่ารัฐวิสาหกิจจีน คือบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ต้องการจะได้งานนี้ทั้งที่ตนเองไม่มีผลงานการก่อสร้างอาคารสูงแต่ต้องการเข้าร่วมเป็นกิจการร่วมค้ากับ บริษัทอาคาร 33 จำกัด แต่ บริษัท อาคาร 33 จำกัด ปฏิเสธในการให้ทุนจีนเข้าเป็นกิจการร่วมค้าจนในที่สุด คนใกล้ตัวผู้บริหารของ สตง. และ ผู้บริหารของบริษัทผู้ออกแบบอาคารก็เจรจาต่อรอง และตกลงกันได้ผู้รับจ้างในชื่อของ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน)และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด)

ปฏิบัติการ China Railway No.10 “ซื้อราคา” e-bidding ฟันงานภาครัฐ

ซากปรักหักพังของตึก สตง.แห่งใหม่ และผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปฏิเสธมิได้เลยว่า การจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างของ สตง.นั้นไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพ ความสามารถ ประสบการณ์ หรือความพร้อมในการก่อสร้างอาคาร มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างแต่อย่างใด


แต่ในการตัดสินใจนั้นคำนึงเพียงแค่ว่าบริษัทใดจะจ่ายเงินค่าสินบนซึ่งคิดเป็นร้อยละของมูลค่างานก่อสร้างที่ประมูลได้ให้กับพรรคพวกตนเองเท่านั้น คำนึงถึงผลประโยชน์ที่มาจากการทุจริตมาเป็นที่ตั้ง เรื่องความสามารถในการก่อสร้างมาเป็นเรื่องรอง

เมื่อมีการตกลงกันระหว่างฝ่ายของ สตง.และผู้ออกแบบ กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี เรื่องผลประโยชน์ได้แล้ว จึงมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อมาคือการไปติดต่อเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลางที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (หรือ e-bidding) โดยมีการไป “ซื้องาน” จากกรมบัญชีกลาง

คำศัพท์ที่ว่า “ซื้องาน” คืออะไร ไหนกรมบัญชีกลางคุยนักคุยหนาไงว่า e-bidding ลดการทุจริตได้ ?

การซื้องาน ก็หมายถึง การไปจ่ายเงินสินบนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของกรมบัญชีกลางเปิดเผยราคาประมูลขณะที่มีการแข่งขันในการเสนอราคาของผู้เข้าแข่งขันทุกราย ให้ตัวเองทราบว่าในงานนั้นๆ, e-bidding นั้นๆ บริษัทใดที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในเวลานั้น เพื่อให้ “ผู้ซื้อราคา” สามารถรู้ราคาของคู่แข่ง ซึ่งถ้าเป็น e-bidding ตามปกติผู้เสนอราคาจะไม่สามารถรู้ราคาที่บริษัทอื่นเสนอได้

น่าสงสัยว่า กรณี e-bidding เพื่อจัดสร้างตึก สตง.แห่งใหม่นี้ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี มีการจ่ายเงินสินบนให้กับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้เปิดเผยราคาของคู่แข่งให้ตนเองทราบ เพื่อตนเองจะได้เสนอราคาได้ต่ำกว่าและเป็นผู้ชนะในการประกวดราคาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารหรือไม่ ?!?

เรื่องนี้อีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องตอบว่า การซื้อราคา มีจริงหรือไม่? ปล่อยให้เกิดช่องโหว่ในระบบ e-bidding นี้ได้อย่างไร? ก็คือ กรมบัญชีกลาง ที่ตอนนี้มีอธิบดีชื่อ แพตริเซีย มงคลวนิช


แหล่งข่าวให้ข้อมูลเชิงลึกว่า จริงๆ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างตึก สตง.แห่งใหม่มี “การซื้อราคา” หรือไม่ สามารถพิสูจน์ได้ไม่ยาก คือ ให้ตรวจสอบระยะเวลาที่กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ทำการเสนอราคาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ว่าเป็นผู้เสนอราคาในระบบเป็นรายสุดท้ายหรือรายถัดจาก บริษัท อาคาร 33 จำกัด หรือไม่ ? เพราะว่าในการประกวดราคาโครงการดังกล่าว บริษัท อาคาร 33 จำกัด ได้แสดงเจตนาในการแข่งขันเสนอราคาโดยลดราคาต่ำกว่าราคากลางเป็นจำนวนมาก แต่กลับแพ้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ไปเพียงประมาณ 30 กว่าล้านบาท

ดังนั้นหากกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี รู้ราคาที่บริษัท อาคาร 33 จำกัด เสนอราคา ตนเองจะต้องเสนอราคาภายหลังจากที่บริษัท อาคาร 33 จำกัด เสนอราคาแล้ว เนื่องจากวิธีการเสนอราคาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในขณะนั้นกำหนดให้ผู้เสนอราคาทุกรายทำการเสนอราคาภายในระยะเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา โดยแต่ละบริษัทจะเสนอราคาได้เพียงครั้งเดียว ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการเสนอราคา


จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 021/2564 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ในวงเงินจํานวนเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ต่ำว่าราคากลาง 2522 ล้านบาท อยู่มากกว่า 300 ล้านบาท

นอกจาก นายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าฯ สตง.ที่ปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นกับความผิดปกติในกระบวนการจัดอาคารก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ไม่ได้แล้ว ยังมีผู้ใหญ่ในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) อีกคนที่ก็น่าจะพอมีข้อมูลรับรู้รับทราบด้วยเช่นกัน

นั่นคือ พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ หรือ “บิ๊กเอ๋” ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน คตง.มาตั้งแต่ปี 2560 ในยุคที่ คสช. เรืองอำนาจจนถึงปัจจุบัน คือปี 2568


โดยขณะที่มีการลงนามสัญญา การก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่นั้นอยู่ในช่วงปี 2563 ซึ่ง พลเอก ชนะทัพ เข้ามาเป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้ว 2 ปี ย่อมมีอำนาจและบทบาทในการสั่งการเรื่องสำคัญใน สตง.ได้ไม่มากก็น้อย

สาม ขั้นตอนการดำเนินการจัดหาผู้ควบคุมงาน จากข้อมูลทางการ มี 3 บริษัทที่ได้งานควบคุมการก่อสร้างตึก สตง.ในวงเงิน 74.65 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

1. บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 8,000,000 บาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรีแจ้งประกอบธุรกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยปรากฏชื่อ นายปฏิวัติ ศิริไทย นางพรรณนภา ศิริไทย นายนัฏพร กฤษฎานุภาพ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ วันที่ 29 เมษายน 2567 นายปฏิวัติ ศิริไทย ถือหุ้นใหญ่สุด

2. บริษัท ว.และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2526 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 4,000,000 บาท ตั้งอยู่ที่ซอยรามคำแหง 18 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานครแจ้งประกอบธุรกิจกิจกรรมงานวิศวกรรมและการให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค ที่เกี่ยวข้อง

3. บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 2,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 76/2 ถนนรามคำแหง แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย

ทั้งนี้ ครม.ชุดปัจจุบันเพิ่งมีการขยายสัญญา โดยอนุมัติเพิ่มวงเงินค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร จาก 74.65 ล้านบาท เป็นวงเงิน 84.3 ล้าน มีการแก้ไขแบบก่อสร้าง จำเป็นขยายระยะเวลาก่อสร้าง 155 วัน จาก 1,080 วัน เป็น 1,235 วัน

มีข้อมูลเชิงลึกอ้างว่า หนึ่งในสามบริษัท ของกิจการร่วมค้า PKW ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ควบคุมงานการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ได้สั่งการให้มีการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อเอื้อประโยชน์ และล็อกสเปก ใช่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ DSI รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไปหาคำตอบ


ที่น่าสงสัยไปมากกว่านั้นก็คือใน TOR การจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่มีการกำหนดว่า “ผู้ควบคุมงานที่เข้ารับการคัดเลือกจะต้องเคยผ่านการควบคุมงานห้องประชุมขนาดใหญ่ซึ่งมีระบบอะคูสติก รวมถึงระบบภาพและเสียงมาก่อน”

โดยการกำหนดดังกล่าวใช่หรือไม่ว่า เพราะมีหนึ่งในสามของบริษัทผู้ควบคุมงานเชี่ยวชาญด้านเครื่องเสียง การออกแบบระบบอะคูสติก และอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับอาคาร สตง.แห่งใหม่ ซึ่งมีการออกแบบห้องประชุมขนาดใหญ่โตมโหฬาร จนถึงขนาดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ไลฟ์แสดงภาพให้เห็นว่าตึกห้องประชุม สตง.นั้นใหญ่โตมากขนาดจัดงานแต่งงานขนาดใหญ่ได้


สำหรับเบื้องหลังในเรื่องนี้นั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะต้องการให้บริษัทสามารถรับทำงานเครื่องเสียงในห้องประชุมทั้งหมดของอาคาร สตง.มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท โดยงานหลักๆ อยู่ในห้องประชุมขนาดใหญ่ 500 ที่นั่ง (ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เปรียบเปรยว่าสามารถจัดงานแต่งงานได้) และห้องเล็กๆ อีกมากมายนั่นเอง

ทั้งนี้ ร่ำลือกันว่าเฉพาะค่าคอมมิชชันในการจัดการ และจัดหาเครื่องเสียง และระบบอะคูสติกในห้องประชุมต่างๆ ของ สตง.ก็น่าจะมีเงินทอนกันหลายสิบล้านบาท หรืออย่างน้อยๆ ก็ 10% ของงบประมาณ 400 ล้านบาทนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยถึงการสอดแทรก “คนรู้จักมักคุ้น” ของตัวเองเข้าไปในบริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเรื่องเงินสินบนต่างๆ การจัดซื้อจัดหา และเปลี่ยนแปลงวัสดุในการก่อสร้าง รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ในการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากในกระบวนการคัดเลือก “ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง” จะมีอิทธิพลการให้คะแนน และพิจารณาจากผลงาน คุณสมบัติต่างๆ โดยคณะกรรมการพิจารณาผลการคัดเลือกผู้ควบคุมงานเป็นคนคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ถูกสั่งจากผู้ใหญ่ใน สตง.อีกที


ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของกระบวนการ และขบวนการในการทุจริตการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ, ตั้งแต่คนระดับบนสุดของ คตง., สตง. กินข้ามไปหน่วยงานใกล้เคียงอย่างกรมบัญชีกลาง เรื่อยลงมาถึงข้าราชการ พนักงาน บริษัทออกแบบ บริษัทผู้รับเหมา บริษัทผู้ควบคุมงาน และทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องก็ว่าได้

“ที่สำคัญ ที่ผมเล่านี้แม้จะเป็นภาพรวมของป่าทั้งป่าของการคอร์รัปชันในการสร้างตึก สตง.ที่กลายเป็น "ตึกกากเต้าหู้" พังถล่มลงมา คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ยังมีส่วนที่ผมยังไม่ได้เล่า มีอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ผมอดไม่ได้ที่จะต้องสารภาพกับท่านผู้ชมตามตรงเลยว่า ในชีวิตตั้งแต่ผมทำงานมา ผมไม่เคยเห็นคดีการคอร์รัปชันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และโคตรทุเรศที่สุด เท่ากับกรณีตึก สตง.ถล่มนี้มาก่อน” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น