เขียนโดย กัญจาฤก แว่นแก้ว นักวิชาการด้านปศุสัตว์
ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ กิโลกรัมละ 88 บาท ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศ ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 นับว่าราคานี้เพิ่ง "เริ่มกลับมาคุ้มทุน" หลังจากที่เกษตรกรต้องแบกรับภาวะซาดทุนต่อเนื่องมานานานกว่า 2 ปี จากผลกระทบของโรค ASF (African Swine Fever) ที่ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ต้องลงทุนพัฒนาระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ "ไบโอซีเคียวริตี้" เพื่อฟื้นฟูฟาร์มและป้องกันโรคระบาดซ้ำ
อย่างไรก็ตาม แทนที่ผู้เลี้ยงจะได้พักหายใจ กลับต้องเจอกับปัญหาใหม่จากการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนในราคาต่ำ ที่มาบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้ราคาหมูในประเทศตกต่ำสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงปี 2566-2567 เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศจึงต้องเผชิญภาวะขาดทุนอย่างหนัก ฟาร์มรายย่อยจำนวนมากจำต้องยุติการเลี้ยง ขณะที่ฟาร์มขนาดกลางต้องลดจำนวนแม่พันธ์ลงถึง 40-50% เพื่อประคับประคองกิจการท่ามกลางราคาขายที่ต่ำกว่าทุน โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ของปี 2566 ซึ่งถือเป็นช่วงวิกฤตรุนแรงที่สุด ขาดทุนสุทธิต่อตัวสูงถึง 3,600 บาท
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมคือ สภาพอากาศที่แปรปรวน อุณหภูมิร้อนจัดและภัยแล้ง ทำให้หมูกินอาหารได้น้อยลง โตช้าลง น้ำหนักไม่เป็นไปตามเป้า ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนพุ่งสูง ขณะเดียวกันมาตรการด้านความปลอดภัยก็ยังต้องเข้มงวดเพื่อรับมือกับ ASF ที่ยังคงเป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาหมูหน้าฟาร์มที่อยู่ในระดับ 88 บาท/กิโลกรัม ทำให้ผู้เลี้ยงเริ่มเห็นกำไร ซึ่งถือว่าพอจะเริ่มหายใจได้หลังจากตกอยู่ในภาวะขาดหุนมานาน การปรับราคาครั้งนี้จึงเป็นผลจากกลไกตลาดที่กำลังปรับตัวกลับสู่จุดสมดุลเท่านั้น
ที่สำคัญเกษตรกรยังคงให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ในการควบคุมปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยในปี 2568 นี้ มีการควบคุมแม่พันธ์ให้อยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านตัว เพื่อรักษาปริมาณสุกรขุนในระดับ 21-23 ล้านตัว ตลอดทั้งปี
ด้านราคาจำหน่ายเนื้อสุกรในตลาดก็ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยห้างค้าปลีกจำหน่ายเนื้อสะโพกและหัวไหล่อยู่ที่ ประมาณ 143 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ตลาดสดอยู่ที่ประมาณ 150 บาท/กิโลกรัม ซึ่งยังถือเป็นราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนและไม่เป็นภาระเกินไปต่อผู้บริโภค
ดังนั้น หากภาครัฐยังเดินหน้าใช้นโยบาย "ควบคุมราคา" โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริง อาจสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งระบบการผลิตสุกรในประเทศ การขาดแรงจูงใจในการผลิตอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนในอนาคต และเปิดช่องให้เนื้อหมูนำเข้าหรือหมูเถื่อนเข้ามาแทนที่
ทางออกที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ คือ "การปล่อยให้ กลไกตลาดทำหน้าที่ของมัน" โดยภาครัฐควรเน้นการสนับสนุนผ่านมาตรการลดต้นทุน ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกร และส่งเสริมระบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความมันคงด้านอาหารของประเทศในระยะยาวอย่างแท้จริง