จะน่าตื่นเต้นเพียงใด ถ้าอยู่ ๆ คุณก็วาร์ปย้อนเวลากลับไปในอดีตกาลที่เมืองโบราณแห่งหนึ่งซึ่งนำไปสู่การผจญภัยสุดระทึกที่คุณต้องต่อสู้กับศัตรูที่เรียงรายอยู่ตามด่านต่าง ๆ และคุณต้องค้นหาไอเท็มลับที่ซ่อนอยู่ในเมืองโบราณแห่งนั้นมาเพิ่มพลังให้ตัวเอง อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่คุณต่อสู้ตะลุยด่านไปเรื่อย ๆ เพื่อหาทางกลับบ้าน คุณก็ยิ่งได้รู้จักกับเมืองโบราณแห่งนี้ที่รุ่มรวยด้วยเรื่องราวและแง่มุมอันน่ามหัศจรรย์ชนิดที่ไม่มีวันลืม...
แน่นอนว่า พล็อตเรื่องทำนองนี้ เราอาจเคยเห็นมาแล้วในหนังหรือละครย้อนเวลาหลายต่อหลายเรื่อง แต่นี่นับเป็นครั้งแรกของวงการเกมเมืองไทยที่นำพล็อตย้อนเวลามาใช้อย่างเป็นทางการ ผ่านเกมแนว Action-Adventure แบบ 3 มิติที่มาพร้อมกับไอเดียความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ เพราะนอกเหนือจากความสนุกเร้าใจที่เสิร์ฟให้กับผู้เล่นแล้ว ยังมีข้อมูลประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจให้เก็บเกี่ยวตลอดเส้นทาง
ที่บอกว่าแปลกใหม่ก็เพราะว่า “ศรีเทพ ผจญภัย” ถือเป็น “เกมมรดกวัฒนธรรม” ที่ชัดเจนเรื่องแรกของเมืองไทย จัดทำขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการเนรมิตพิพิธวัฒนธรรม SITHEP Cultural Metaverse โดยมีทีมงานผู้สร้างเกม Home Sweet Home เป็นแนวร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาด้านโปรดักชั่น
อะไรคือแนวคิดจุดประกายในการนำวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยมาผสมผสานกับเกมแนว Action Adventure และอะไรคือแก่นสารที่ซ่อนอยู่ในเกมนี้ Manager Online พาไปไขคำตอบกับ “นางวิรยาร์ ชำนาญพล” ผู้อำนวยการกลุ่มระบบสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร ซึ่งเน้นย้ำว่า นี่คือหนึ่งในวิสัยทัศน์ระยะยาวของกรมศิลปากรที่นอกจากบทบาทสำคัญด้านการ “อนุรักษ์” และ “สืบทอด” แล้ว ยังมุ่งมั่นที่จะ “ต่อยอด” และ “พัฒนา” เช่นการสร้าง Pilot Project อย่างเกมศรีเทพ ผจญภัย นี้ที่คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้และแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมต่อไปอย่างยั่งยืน...
ความรู้ คู่ความสนุก ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง
เกมสีขาว ตื่นเต้นเร้าใจ แต่ไม่รุนแรง
จากการเก็บสถิติของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม พบสถิติที่น่าสนใจมากว่า ช่วงเวลาที่มีการเข้ามาค้นคว้าข้อมูลจากกรมศิลปากรมากที่สุด คือช่วงเปิดเทอมที่นักเรียนนักศึกษาต้องทำการบ้านหรือทำรายงาน และจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปิดเทอม
“ดังนั้น เราก็มาคิดว่า ทำอย่างไรเพื่อให้เด็กรุ่นนี้สนใจมรดกวัฒนธรรมมากกว่าการต้องทำการบ้านส่งครู จึงทำการศึกษาเพิ่มเติมและพบว่า ในแต่ละวัน เด็กใช้เวลาอยู่กับเกมอาจจะ 1 -2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แต่ว่าทุกวันจะมีช่วงเวลาที่เด็กเล่นเกมเป็นปกติ เราจึงมองเห็นโอกาสว่า แทนที่เราจะรอให้เด็กเข้ามาหาข้อมูลจากเรา เราเข้าไปถึงเขาเลยดีกว่า นี่จึงเป็นที่มาของการริเริ่มพัฒนาเกมด้านมรดกวัฒนธรรม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดัน Soft Power โดยที่มีเกมเป็น Soft Power ด้านหนึ่งใน 11 ด้าน”
อย่างไรก็ดี นางวิรยาร์เน้นว่า ถึงแม้จะเป็นเกม แต่ก็เป็นเกมที่ปราศจากความรุนแรงภายใต้คอนเซปต์สื่อสีขาว โดยที่ผู้เล่นก็ยังสามารถสนุกกับเกมได้ผ่านการต่อสู้ เก็บพลัง และแก้ปัญหาในเกม แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การได้รับข้อมูลเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องการสื่อสารผ่านเกมนี้ โดยเป็นข้อมูลที่ย่อยมาแล้วเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
“เหตุผลที่เราเลือกศรีเทพเมืองโบราณมาสร้างสรรค์เป็นเกม เพราะในช่วงเวลาที่เราเริ่มโปรเจคต์นั้น ศรีเทพได้รับการประกาศยกย่องจาก UNECO ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม (19 ก.ย. 2566) ซึ่งคนไทยเราก็ตื่นตัวกันมาก มีคนสนใจจะทำความรู้จักศรีเทพเยอะมาก แต่สมมติเราบอกเด็กว่า ไปเที่ยวมรดกโลก เด็กก็อาจจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ หรือไปอย่างไร ใครพาไป แต่ถ้าเราบอกว่าลองมาเล่นเกมมรดกโลกดูมั้ย เด็ก ๆ ก็อาจจะเอ๊ะว่าเกมมรดกโลกคืออะไรและสนใจอยากลองเล่นดู”
นอกจากนั้น อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือ “ศรีเทพ” มีสตอรี่ มีคอนเทนต์ที่สามารถหยิบออกมาและพัฒนาให้เป็นเกมได้หลากหลายแง่มุม โดยตัวเรื่องจะเริ่มต้นด้วยการดึงผู้เล่นเข้าสู่โลกของศรีเทพ ผ่านสายตาของตัวเอกคือ “น้องนะโม” ที่เป็นคนรุ่นปัจจุบันซึ่งหลุดเข้าไปในยุคทวารวดีศรีเทพ และมีด่านใหญ่ ๆ สามด่านให้เขาต้องฝ่าฟันให้ผ่านพ้น คือ เมืองศรีเทพ เขาคลังนอก และเขาถมอรัตน์ ซึ่งเป็นมรดกโลกสามส่วนสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้
โดยความสนุกของเกมมีไว้รองรับครบครัน ตั้งแต่การผจญภัยตะลุยด่าน การแก้ปริศนา การตามหาสมบัติ รวมทั้งเก็บ Artifact คือสิ่งประดิษฐ์หรือโบราณวัตถุชิ้นต่าง ๆ เป็นไอเท็มที่ซ่อนอยู่มาใช้เพิ่มพลังให้ตัวเอง เช่น ธรรมจักรในศรีเทพที่จะช่วยเพิ่มพลังได้อย่างมหาศาล และต้องเก็บไอเท็มลับอย่างจารึกโบราณซึ่งเขียนด้วยอักษรปัลลวะ และในขณะที่เก็บไอเท็มเหล่านี้ได้ ตัวไอเท็มจะเด้งขึ้นมาพร้อมข้อความสั้น ๆ ที่ระบุว่าสิ่งนี้คืออะไร สำคัญอย่างไร และจะใช้ทำหน้าที่อะไรในเกม เรียกว่าได้ทั้งพลังและความรู้ ขณะที่การดีไซน์ด่านแต่ละด่านก็ทำออกมาสวยงามมาก เช่นเดียวกับบอสไฟต์ซึ่งถือเป็นอีกจุดเด่นที่น่าจดจำของเกม
“ภายในเกม ผู้เล่นจะได้สัมผัสกับเสน่ห์ความสวยงามของศรีเทพผ่านภาพกราฟิก 3 มิติ รวมทั้งความน่ารักของคาแร็กเตอร์ต่าง ๆ อย่างภาพปูนปั้นลายประดับที่เขาคลังใน เช่น คนแคระแบก ลิงแบก ยักษ์แบก สิงห์แบก วัวแบก เราดึงภาพเหล่านี้ออกมาสร้างเป็นคาแร็กเตอร์ที่ต่อสู้ขัดขวางน้องนะโมเพื่อไม่ให้ผ่านด่านง่าย ๆ ฉะนั้น เมื่อเด็กเล่นเกมแล้วมีโอกาสได้ไปดูของจริงที่ศรีเทพ หรือเห็นจากสื่ออื่น เด็กก็จะเข้าใจโดยอัตโนมัติว่าอันนี้เรียกคนแคระแบก วัวแบก ฯ อันนี้เป็นลายปูนปั้นที่ประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถาน เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในเขาคลังใน”
โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “Sithep Adventure” ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบ ios และ android หรือคอมพิวเตอร์ PC ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร https://finearts.go.th/main
“นอกจากนั้น เรายังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ว่าเกมนี้เด็กนักเรียนสามารถเล่นได้เพราะไม่ใช่เกมแบบรุนแรงและไม่มีความเสียหายหรือสร้างผลกระทบในทางไม่ดี เป็นเกมที่ให้ผลในเชิงบวก เราจะติดต่อกับโรงเรียนและวางเกมเหล่านี้ไว้ในคอมพิวเตอร์โรงเรียน พร้อมทั้งแนะนำให้อาจารย์เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นในช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการเล่นประมาณ 45 นาที หรือหนึ่งชั่วโมง”
ทั้งนี้ นางวิรยาร์กล่าวถึงแผนโครงการระยะยาวของกรมศิลปากรว่า ถ้าเกมชุดนี้ติดตลาดหรือได้รับความสนใจมาก ก็จะทำเกมด่านต่อไปเหมือนเป็นซีรีส์ยาวที่บอกเล่าไทม์ไลน์ของประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
“ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ เราจะรู้ว่า ประวัติศาสตร์ในประเทศไทยจะเริ่มจากก่อนประวัติศาสตร์และเข้าสู่ทวารวดี ซึ่งทวารวดีก็ไม่ได้มีแค่ในภาคกลาง แต่ยังมีที่ภาคอีสาน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี) ที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเหมือนกัน ทั้งนี้ พอพ้นจากยุคทวารวดี ก็เข้าสู่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เราคิดว่า เราสามารถที่จะสร้างสตอรี่ของเกมผ่านไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยได้ ทำให้ผู้เล่นได้รับรู้โดยอัตโนมัติว่าอาณาจักรแต่ละอาณาจักรเรียงมาอย่างไร เป็นการเรียนประวัติศาสตร์ผ่านเกมที่สนุกและเสริมสร้างความสนใจในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น
“นอกจากนั้น ถ้าเราเปิดด่านต่อ ๆ ไป และเกิดการเล่มเกมของกรมศิลปากรอย่างกว้างขวาง เราจะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเท็มของโบราณสถานแต่ละแห่งเพื่อให้ได้พลังจากที่อื่นมาเสริมมาสู้ เช่น เราเคยมีโบราณวัตถุชิ้นนี้แล้วแต่เราต้องการชิ้นอื่น เราอาจจะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เล่นเกมอยู่ด้วยกัน เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กันภายในเกมซึ่งจะนำไปสู่สังคมอุดมความรู้ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีทัศนคติที่ดี มีอุดมการณ์ มีความรักและหวงแหนสิ่งที่เขาค้นพบในเกม
“ในนามกรมศิลปากร เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสนุกที่เราให้ผ่านการเล่นเกม จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มากยิ่งขึ้น เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยตนเองแบบไร้ขีดจำกัด” นางวิรยาร์ กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น
114 ปี กรมศิลปากร กับภารกิจท้าทาย
จาก “อนุรักษ์ สืบทอด” สู่ “ต่อยอด พัฒนา”
ขณะที่การอนุรักษ์และสืบทอดมรดกวัฒนธรรม เป็นเนื้องานที่กรมศิลปากรยังคงให้ความสำคัญและดำเนินต่อไปเช่นเดิม แต่ภารกิจที่เพิ่มเติมขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือการ “ต่อยอดและพัฒนา” อันเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันข้อมูลมรดกวัฒนธรรมไปสู่ Digital Content และที่สำคัญคือ ความคาดหวังว่าประชาชนทุกคนจะสามารถนำข้อมูลมรดกวัฒนธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
“เมื่อก่อน เราอาจจะมองว่างานมรดกวัฒนธรรมเป็นเพียงงานอนุรักษ์สืบทอดหรือเป็นงานที่ทำอยู่กับโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ แต่ตอนนี้เมื่อรัฐบาลมีนโยบายว่า ฐานทางด้านวัฒนธรรมสามารถผลักดันไปสู่การต่อยอดทางด้านเศรษฐกิจได้ อย่างที่เรียกว่าเป็น Soft Power เช่น ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร ที่มีการนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาสร้างอยู่เรื่อย ๆ แต่ตอนนี้เรากำลังทำกับอุตสาหกรรมเกม และอยากให้เกมศรีเทพเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นหรือ Pilot Project ซึ่งทำให้เห็นว่า ข้อมูลมรดกวัฒนธรรมทั้งหลายที่ประเทศไทยของเรามีอยู่อย่างเข้มแข็งมากนั้น สามารถต่อยอดและพัฒนาได้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และเกมก็เป็นหนึ่งแนวทางที่ทำได้”
ทั้งนี้ นางวิรยาร์ยืนยันว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมหรือเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจจะสร้างสรรค์และต่อยอดมูลค่าในด้านต่าง ๆ จากมรดกวัฒนธรรม กรมศิลปากรก็พร้อมจะเป็นขุมพลังในการซัพพอร์ตข้อมูลอย่างเต็มที่
“เรามองว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปรียบเสมือนเป็นต้นน้ำ หมายถึงต้นน้ำด้านข้อมูลมรดกวัฒนธรรม ซึ่งทุกคนสามารถเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ไปต่อยอดได้ และเราก็ยินดีที่จะเป็นผู้สนับสนุนด้านสตอรี่หรือจัดวางคอนเทนต์ และยินดีที่จะแบ่งปันมุมมองความเห็นว่าคอนเทนต์เหล่านี้ควรจะนำเสนออย่างไรเพื่อให้เด็กและเยาวชนรวมทั้งคนไทยทุกคนได้เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมอย่างเพลิดเพลิน”
แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของกรมศิลปากรในการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในยุคปัจจุบันซึ่งต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
“ต้องยอมรับว่า กำลังคนที่จะทำงานด้านอนุรักษ์นั้นมีอยู่น้อย ขณะที่ทั่วประเทศมีแหล่งที่ต้องอนุรักษ์ 8 พันกว่าแหล่ง เราจะอนุรักษ์ยังไงให้เพียงพอต่อกำลังที่เรามีอยู่ การส่งผ่านความรู้เหล่านี้ไปสู่เยาวชนรุ่นใหม่ ๆ หรือสู่ประชาชน ถือเป็นการช่วยทางอ้อม หมายความว่า เมื่อเราเกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในมรดกวัฒนธรรม ผ่านเกม ผ่านสื่อ หรือผ่านอะไรก็ตามแต่ มันจะกระตุ้นให้เราซึมซับและเกิดจิตสำนึกรักโดยอัตโนมัติ และเมื่อคนเกิดสำนึกรักในมรดกวัฒนธรรม ก็จะช่วยกันดูแลรักษาโดยอัตโนมัติเช่นกัน”
ด้วยเหตุนั้น หนึ่งในความคาดหวังของการสร้างสรรค์เกมศรีเทพ ผจญภัย ขึ้นมา จึงเป็นเรื่องของการสั่งสมความภาคภูมิใจ ความรักในมรดกวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่ “พลังร่วม” ในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมต่อไป
“เกมศรีเทพที่เราสร้างขึ้นมา ส่วนหนึ่งเราก็หวังว่า อยากให้ชุมชนโดยรอบ รวมทั้งเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ภูมิใจในความเป็นศรีเทพว่ามีเกมศรีเทพที่เล่นกันทั่วประเทศและทั่วโลกเลยนะ เขาจะเกิดความภูมิใจว่าเขาอยู่ในที่ที่มีคนสนใจมาก ก็จะสร้างความรู้สึกรักและหวงแหนในสิ่งนี้ จิตสำนึกจะมาโดยอัตโนมัติ และการดูแลโบราณสถานจะไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนช่วยกันดูแล”
ขณะเดียวกัน ผลลัพธ์อีกประการที่คาดหวังให้เกิดขึ้นตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลในด้าน Soft Power คือการใช้ฐานทางวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ในการเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศ
“เราคาดหวังว่า ถ้ามีคนเล่นเกมแล้วมีจำนวนคนไปเที่ยวศรีเทพเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ก็ถือว่าศรีเทพและชุมชนในศรีเทพได้มีการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เพราะในเกมนี้ ขอสปอยล์สักเล็กน้อยว่า เรามีการวางไอเท็มลับพิเศษที่ผู้เล่นต้องไปเก็บในสถานที่จริง และเนื่องจากเกมของเราเป็นเกมที่เล่นได้ทั้งครอบครัว พ่อแม่ก็อาจจะพาเด็ก ๆ ไปศรีเทพด้วยกันได้ นอกจากนั้น เกมยังมีภาษาอังกฤษที่ต่างชาติเล่นได้ เราจะเอาเกมนี้ไปไว้ในแพลตฟอร์มเกมทั่วโลก เพื่อให้ต่างชาติมีโอกาสเห็นและมีโอกาสเล่น และกระตุ้นความสนใจให้เขามาเที่ยวศรีเทพมากขึ้น คือคุณเล่นเกม คุณสนุก คุณอยากมาดูสถานที่จริงหรือมาเช็กอินเล่นเกมเพื่อเก็บไอเท็มพิเศษ ประเทศก็จะเกิดรายได้จากการท่องเที่ยวตามมา”
ทั้งนี้ ในวาระที่กรมศิลปากรมีอายุครบรอบ 114 ปี นางวิรยาร์ได้กล่าวถึงภาพรวมแนวทางการทำงานในอนาคตของกรมศิลปากร และการพัฒนา Soft Power ว่าการผลิตสื่อสีขาวที่มีคุณค่าต่อคนไทยและประเทศไทยถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยหวังให้เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย อุดมด้วยความรู้ แต่มีความสนุกน่าสนใจเป็นองค์ประกอบ สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและชาติ เกิดสุนทรียะ และพัฒนาต่อยอดสู่การเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้และแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“สำหรับตัวเกม เราอาจจะไม่ได้เล่นไปตลอดชีวิต เพราะพอเล่นจบแล้วก็ต้องเลิกไป แต่คำว่ายั่งยืน หมายความว่า ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในมรดกวัฒนธรรมและนำไปต่อยอดเองได้ จึงจะเรียกว่ายั่งยืน คือไม่จำเป็นต้องรอให้กรมศิลปากรหรือรัฐบาลพูดว่า ต่อไปให้ทำอันนี้ ๆ แต่ประชาชนสามารถคิดเองได้หรือเกิดไอเดียว่าอยากจะหยิบคอนเทนต์ตรงนั้นตรงนี้ไปใช้ด้วยตนเองเพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเองหรือชุมชนตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแค่คนเดียวหรือบริษัทเดียว เป็นชุมชนก็ได้ ร่วมกันทำก็ได้ แบบนี้จึงจะเรียกว่ายั่งยืนอย่างแท้จริง”
นางวิรยาร์ ชำนาญพล กล่าวย้ำในตอนท้าย พร้อมเชิญชวนให้คนไทยลองมาชิมรสชาติการท่องเที่ยวมรดกโลกรูปแบบใหม่ด้วยการออกเดินทางผจญภัยไปกับ “น้องนะโม” ไม่แน่ว่า เมื่อเล่นเกมนี้แล้ว คุณอาจจะเปิดใจรักมรดกวัฒนธรรมจากเกมนี้ หรือแม้กระทั่งเกิดไอเดียดี ๆ ที่จะลุกขึ้นมา “พัฒนา” และ “ต่อยอด” มรดกวัฒนธรรมในรูปแบบอื่น ๆ ที่คุณคิดว่าน่าสนใจก็เป็นได้
ย้ำอีกครั้งในท้าย สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “Sithep Adventure” ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบ ios และ android หรือคอมพิวเตอร์ PC ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร https://finearts.go.th/main แล้วผจญภัยในโลกแห่งมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าไปด้วยกัน