xs
xsm
sm
md
lg

กรมการค้าภายในจับตาเนสกาแฟ หวั่นขาดตลาด หลังศาลคุ้มครองห้ามขาย-ผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์เนสกาแฟไม่รับคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการร้านค้าปลีก หลังศาลคุ้มครองชั่วคราวห้ามจำหน่ายและผลิต รวมทั้งรับจ้างผลิต กระทบผู้ประกอบการรายย่อยถึงผู้บริโภค วอนร้านค้าติดป้ายราคาชัดเจนและอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา

วันนี้ (10 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เนสท์เล่ (ไทย) ระบุเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ว่าศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ในคดีที่นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ฟ้องดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ จำนวน 2 คดี และขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในแต่ละคดี กรณีดังกล่าวได้ออกหนังสือแจ้งลูกค้าผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ว่าบริษัทฯ จะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ร้านค้าปลีกที่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่ในร้าน ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ

ทั้งนี้ เนสท์เล่มีความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย ร้านกาแฟขนาดเล็ก รถเข็นขายกาแฟที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจำหน่าย และการปรับเปลี่ยนสูตรการชงและวัตถุดิบที่ใช้ ยังอาจส่งผลต่อรสชาติที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ประจำวันของผู้ประกอบการรายย่อย อีกทั้งยังส่งผลต่อการขาดรายได้ของพนักงานของลูกค้าและคู่ค้าซัปพลายเออร์ที่เคยสามารถจัดส่งวัตถุดิบต่างๆ ให้กับเนสกาแฟแต่ต้องหยุดชะงักลง รวมไปถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟและเกษตรกรโคนม จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นวัตถุดิบให้เนสกาแฟ เนื่องจากคำสั่งศาลห้ามผลิต และว่าจ้างผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย ทุกปีเนสกาแฟรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์โรบัสต้าในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้บริโภคในประเทศไทยและในตลาดส่งออกจะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟดื่ม

"เนสท์เล่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขสถานการณ์นี้ และกำลังดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง" แถลงการณ์เนสกาแฟระบุ

ก่อนหน้านี้ เนสกาแฟได้ผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2533-2567 ผ่านบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งร่วมทุนกับตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมีนายประยุทธ มหากิจศิริ ฉายา "เจ้าพ่อเนสกาแฟ" เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น แต่เนสท์เล่มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ ต่อมาในปี 2564 เนสท์เล่ได้แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส ในการผลิตเนสกาแฟ มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2567 แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส ได้ ทำให้เนสท์เล่ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์สฯ แต่นายเฉลิมชัย ทายาทนายประยุทธซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น ฟ้องดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ จำนวน 2 คดีดังกล่าว

ด้านนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้มีการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้ากาแฟอย่างใกล้ชิด แม้ว่ากาแฟไม่ใช่รายงานสินค้าในบัญชีควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ แต่เพื่อดูแลปัญหาปากท้องประชาชน กรมจึงต้องตรวจสอบเรื่องนี้ โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมออกตรวจสอบปริมาณและราคากาแฟในตลาด รวมถึงมีการกักตุนสินค้าหรือไม่ ทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายปลีกต่างๆ ซึ่งได้รับรายงานจากการตรวจสอบของกรมเอง พบว่ายังมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ และมีการจำหน่ายในราคาปกติ

โดยเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมามีการประชุมหารือกับผู้ค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่น เพื่อติดตามสต๊อกสินค้า ปริมาณการขาย และราคาจำหน่าย ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการค้าส่ง ระบุว่ามีการส่งของตามปกติ และไม่มีการชะลอการขายแต่อย่างใด ในส่วนของสต๊อกสินค้ายังมีปริมาณเพียงพอต่อการจำหน่าย และในส่วนของผู้ค้าปลีกก็ยืนยันว่ายังมีสินค้าสำหรับจำหน่าย และไม่มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันมีการสั่งซื้อกาแฟแบรนด์อื่นที่มีคุณภาพและมาตรฐานหลายยี่ห้อเข้ามาเพิ่มเติม และทางห้างฯ มีการจัดรายการโปรโมชันส่งเสริมการขาย อาทิ ลดราคาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้กาแฟแบรนด์ดังกล่าวจะมีสัดส่วนการตลาดที่สูงกว่าแบรนด์อื่น แต่ปัจจุบันตลาดสินค้ากาแฟมีการแข่งขันสูงทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ ซึ่งจากการจำหน่าย พบว่าผู้บริโภคก็ตอบรับสินค้าในแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น

“ในกรณีดังกล่าว กรมการค้าภายในก็ยังไม่ได้รับการร้องเรียนว่าสินค้ากาแฟขาดตลาดที่จะทำให้มีผลกระทบต่อประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิด ขอให้ห้างร้านหรือร้านจำหน่ายสินค้าทุกประเภทมีการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ หากพบการกระทำผิด เช่น การไม่แสดงราคาสินค้าหรือไม่ปิดป้ายราคาสินค้า จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคา มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากตรวจสอบพบการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่าย จะมีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับประชาชน หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนได้ทางสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ทางแอปพลิเคชันไลน์ @MR.DIT หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ และหากพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด”
กำลังโหลดความคิดเห็น