“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ไทยตกอยู่ใน “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า“ เพราะติดกับดักวงจรอุบาทว์เชิงซ้อน “ประชาธิปไตยเทียม-ประท้วงต่อต้าน-ปฏิวัติรัฐประหาร” ทางรอดต้องเปลี่ยน “สังคมเพื่อพวกกู” มาเป็น “สังคมเพื่อพวกเรา”
วันนี้ (9 เม.ย.) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee ในหัวข้อ ประเทศไทยกับทศวรรษแห่งความสูญเปล่า : การเผชิญกับวงจรอุบาทว์เชิงซ้อน โดยระบุว่า ประเทศไทยเผชิญกับวงจรอุบาทว์เชิงซ้อน ทำให้พวกเราตกอยู่ใน “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า“ (Thailand‘s Lost Decades) เป็นเวลายาวนาน จนไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง” ได้เริ่มจากวงจรอุบาทว์แรก เรียกว่า “วงจร 3 ป.” คือการที่ประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยเทียม” (Pseudo-Democracy) การลุแก่อำนาจ การบิดเบือนและใช้อำนาจในทางที่มิชอบ คุณธรรมและจริยธรรมบกพร่อง และทุจริตคอร์รัปชัน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมา “ประท้วงต่อต้าน” และนำไปสู่การ “ปฏิวัติรัฐประหาร” และเวียนกลับมาเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำซากวงที่ 1 วงจรนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2490 ต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเทียม ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนด้วยนโยบายประชานิยม ที่มุ่งหวังชนะการเลือกตั้งเพื่อให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วก็วนกลับมาทำให้เกิดเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 2 เป็นวงจรที่เห็นเด่นชัดขึ้นในห้วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน นโยบายประชานิยมทำให้ประชาชนโดยทั่วไป มีระดับการพึ่งพิงภาครัฐที่มากขึ้น ยิ่งพึ่งพิงมากเท่าไหร่ ระดับความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เมื่อเข้าถึงได้ยาก ก็ต้องจมปลักอยู่กับความยากจนต่อไป เมื่อยิ่งยากจน ก็ยิ่งง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ยิ่งทำให้ต้องติดอยู่ในกับดับของนโยบายประชานิยมแบบโงหัวไม่ขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 3
เมื่อระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งไปเสริมระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยม ที่ยังฝังตัวหยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลทำให้อำนาจการผูกขาดทั้งทางด้านการปกครองและด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนารูปแบบการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งมากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 4
ขณะที่อำนาจการผูกขาดทั้งการปกครองและเศรษฐกิจที่เข้มข้น ได้ไปครอบงำกลไกของระบบราชการ ทำให้ระบบราชการเกิดการผิดเพี้ยน จากระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและเน้นระบบคุณธรรมอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นระบบราชการที่เอื้อระบอบทุนนิยมพวกพ้องเสริม ยิ่งเสริมให้ระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมมีความเข้มข้นมากขึ้นกลายเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 5
รูปแบบการกีดกันและการเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้น ทำให้เกิด “แรงต้าน” ต่อการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบ ยังต้องง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เกิด “แรงเฉื่อย” ต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งแรงต้านและแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลให้ เมื่อโลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ยอมปรับ หรือหากจะมีการปรับบ้างก็ปรับในอัตราที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก
การที่โลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ปรับ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนและคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง มองประเทศไทยที่มีอนาคตที่มืดมน จนเกิด “แรงส่ง” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ผลคือแรงส่ง แรงต้าน และแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ตามมาด้วยการประท้วงต่อต้านและไปเสริมให้เกิดวงจรอุบาทว์ในวงที่ 1 ในที่สุด
วงจรอุบาทว์เชิงซ้อนนี้ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มีการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเป็นระบบ มีการกระจุกตัวของอำนาจ ความมั่งคั่ง และโอกาส หรือ Extractive Politics and Economy
โดย Extractive Politics ที่เห็นได้ชัด เช่น การเมืองการปกครองที่ถูกกำกับควบคุมโดยกลุ่มคนจำนวนไม่มาก ไม่กี่กลุ่ม ทั้งทางตรงและทางอ้อม การดำรงอยู่ของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์และอภิสิทธิ์ชน มีกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลดำเนินธุรกิจสีเทา ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย มีการครอบงำสื่อ ควบคุมสื่อ ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ฯลฯ
ขณะที่ Extractive Economy สะท้อนผ่านการดำรงอยู่ของระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่มีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างกลุ่มนายทุนกับนักการเมือง มีการผูกขาดและต่อต้านขัดขวางการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นระบบ มีการเพิกเฉยละเลยต่อผลกระทบที่มีต่อสาธารณะจากการดำเนินงาน
ฉะนั้น การจะนำพาประเทศไทยไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง” ได้ โจทย์ใหญ่คือ จะปรับเปลี่ยนประเทศไทยจาก Extractive Politics and Economy ไปสู่ประเทศที่เป็น Inclusive Politics and Economy เปลี่ยน “สังคมเพื่อพวกกู” (Me Society) มาเป็น “สังคมเพื่อพวกเรา” (We Society) ได้อย่างไร