xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนปม “กระทรวงรถไฟจีน” คอร์รัปชันจนถูกยุบ รมต.โดนโทษประหาร แตกหน่อเป็น “ไชน่าเรลเวย์ หมายเลข 10”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนปม “กระทรวงรถไฟจีน” ที่เคยยิ่งใหญ่และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศจีน แต่หลังจากเกิดเหตุรถไฟความเร็วสูงชนกัน และตรวจสอบพบการทุจริตจนรัฐมนตรีถูกตัดสินประหารชีวิต ก็ถูกรัฐบาลสั่งยุบในปี 56 ส่วนหน่วยงานย่อยกลายมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ไชน่าเรลเวย์ เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น” รับงานก่อสร้างทั้งในจีนและต่างประเทศ รวมถึงตึก สตง.ในไทย



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ บริษัท China Railway No.10 ซึ่งเป็นพันธมิตรในกิจการร่วมค้า “ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย)” คู่สัญญารับเหมาก่อสร้างตึกของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมาระหว่างเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตก็คือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการรถไฟแห่งประเทศจีน ที่ถูกสั่งยุบไปเมื่อปี 2556 หรือ 12 ปีที่แล้ว เนื่องจากมีการคอร์รับชันกันอย่างมโหฬาร ถึงขนาดที่อดีตรัฐมนตรีถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินโทษประหารชีวิต

ทั้งนี้ ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนให้ความสำคัญต่อการสร้างทางรถไฟอย่างมาก มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง จนถึงเมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยพรรคก๊กมินตั๋งเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็ยังเน้นการสร้างชาติด้วยการสร้างทางรถไฟ

ดร.ซุนยัดเซ็นเคยประกาศว่า “ภายใน 10 ปีจะสร้างทางรถไฟ 2 แสนกิโลเมตร” ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในยุคสมัยนั้น จนทำให้ ดร.ซุนยัดเซ็นได้ฉายาว่า “ซุนขี้โม้” หรือ “ซุนต้าเพ่า”

หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ได้ปกครองประเทศจีน “กระทรวงการรถไฟ” ถือเป็นหนึ่งในกระทรวงแรกๆ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 และเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติจีน, การสร้างเส้นทางเพื่อส่งกำลังบำรุงทางทหาร และขนย้ายแรงงานเพื่อสร้างชาติจีน


ประธานเหมา เจ๋อตง เคยพูดถึงกระทรวงการรถไฟว่า “เป็นตัวแทนของความเร็ว ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ความตรงต่อเวลา วินัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเป็นมืออาชีพ การทุ่มเท และความกล้าหาญ ในการส่งเสริมอุดมคติของพรรคและรัฐบาล”

กระทรวงการรถไฟถือเป็นกระทรวงที่มีอิทธิพล งบประมาณ กำลังคน และทรัพยากรทุกอย่างสูงที่สุดในหน่วยงานราชการของจีน จะเป็นรองก็แค่กองทัพ เท่านั้น โดยมีทั้งตำรวจรถไฟ, ศาลรถไฟ, คณะผู้พิพากษา เรียกว่ามีกฎหมายเป็นของตัวเอง บังคับใช้กฎหมายได้ด้วยตัวเอง

ประเทศจีนเพิ่งก่อตั้งกระทรวงคมนาคมขึ้นในปี 2551 แต่กระทรวงการรถไฟไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในกระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีในยุคนั้นอ้างว่า “การรถไฟเกี่ยวข้องกับที่ดิน, การป้องกันประเทศ, ความมั่นคง, บูรณภาพของดินแดน และประชาชนเผ่าต่างๆ เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่จำเป็นต้องมีกระทรวงการรถไฟ” แต่แท้จริงแล้วก็รู้กันดีว่ากระทรวงการรถไฟมีผลประโยชน์อย่างมหาศาล

กระทรวงการถไฟของจีนมีหน่วยงานในสังกัดมากมาย เฉพาะ “สำนักงาน” หลักๆ ที่แบ่งกันรับผิดชอบตามภูมิภาคมณฑลต่างๆ ก็มี 18 สำนักงาน และเคยมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมากกว่า 2 ล้านคน


หลังจากยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ กระทรวงการรถไฟได้ขยายธุรกิจไปอย่างกว้างขวาง ทั้งบริษัทขนส่งสินค้า, บริษัทตู้คอนเทนเนอร์, บริษัทประกันภัย, บริษัทเทคโนโลยีการคมนาคม, บริษัทออกแบบเส้นทาง มีแม้กระทั่งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม, ห้างสรรพสินค้า, สำนักพิมพ์ เป็นของตัวเอง

ในปี 2552 กระทรวงการรถไฟได้ออกพันธบัตรระดมทุนเพื่อขยายเส้นทางรถไฟทั่วประเทศจีน มูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านหยวน ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดในยุคนั้น

ก่อนที่กระทรวงจะถูกยุบใน ปี 2556 สินทรัพย์รวมของอดีตกระทรวงรถไฟมีมากเกือบ 4.3 ล้านล้านหยวน หรือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 20 ล้านล้านบาท

อุบัติเหตุครั้งใหญ่ ที่มาของการยุบกระทรวงรถไฟ

ถึงแม้กระทรวงการรถไฟจีนจะมีเรื่องอื้อฉาวและผลประโยชน์มากมาย แต่ก็ไม่มีรัฐบาลจีนยุคไหนกล้าเข้าไปแตะต้อง “แดนสนธยา” แห่งนี้ ทำได้เพียงแค่แยกหน่วยงานบางส่วนออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดการผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์


อุบัติเหตุครั้งนั้นมีรถไฟความเร็วสูง 2 ขบวนชนท้ายกันที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง รถไฟตกลงมาจากสะพานสูง 20 เมตร ร่วงลงสู่พื้นดิน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย บาดเจ็บมากกว่า 190 คน นับเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถไฟความเร็วสูงครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศจีน โดยกระทรวงการรถไฟอ้างว่าสาเหตุเป็นเพราะ “ระบบอาณัติสัญญาณล้มเหลว”

หลังเกิดเหตุมีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่องการจัดการของกระทรวงการรถไฟ และเรียกร้องให้ยุบกระทรวง จนทำให้ที่ประชุมใหญ่สภาประชาชนจีนในยุคของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มีมติยุบกระทรวงการรถไฟเมื่อเดือนมีนาคม 2556 โดยแบ่งงานของกระทรวงการรถไฟเดิมออกเป็น
- ให้กระทรวงคมนาคมดูแลเรื่องความปลอดภัย และกฎระเบียบ
- จัดตั้งรัฐวิสาหกิจ China Railway Corporation รับผิดชอบการก่อสร้าง และบริหารงาน

คดีคอร์รัปชัน รัฐมนตรี “หลิว จื้อจุน” ถูกตัดสินประหาร

หลังจากอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงที่เมืองเวินโจว ปี 2554 นอกจากรัฐบาลจีนจะตรวจสอบเรื่องความบกพร่องในการเดินรถแล้ว การคอร์รับชันในกระทรวงการรถไฟก็ถูกตรวจสอบด้วย โดยรัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟในขณะนั้นชื่อว่า “หลิว จื้อจุน”


ในปี 2532 รัฐบาลจีนได้สั่งให้สำนักงานวิศวกรรม ของกระทรวงการรถไฟ แปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจ คือ China Railway Engineering Corporation หรือ CREC ซึ่งก็คือบริษัทแม่ของ China Railway No.10 ที่มารับสร้างตึกให้ สตง.นั่นเอง

ถึงแม้จะถูกแยก-แปรรูปหน่วยงานบางส่วนออกไป แต่กระทรวงการรถไฟก็ยังมีอิทธิพลและผลประโยชน์สูงมาก จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงชนกัน ที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 หรือ 14 ปีที่แล้ว

นายหลิว จื้อจุน
หลิว จื้อจุน เป็นลูกของกรรมกรสร้างทางรถไฟ เขาเกิดที่มณฑลหูเป่ย แต่เติบโตขึ้นที่มณฑลหูหนาน เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่เป็นวัยรุ่น และเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างในกระทรวงการรถไฟ พร้อมกับเข้าเรียนด้านวิศวกรรม ในโรงเรียนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากนั้นก็ค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นรัฐมนตรีในปี 2546

หลังจากขึ้นเป็นรัฐมนตรี หลิว จื้อจุน เสนอแผนการสร้าง “รถไฟความเร็วสูง” ทั่วประเทศจีน รัฐบาลกลางสนับสนุนแผนของหลิว และจัดสรรงบประมาณให้มากกว่า 2 ล้านล้านหยวน เป็นเวลาหลายปี ทำให้แผนของหลิวเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีเงินทุนมากที่สุดในโลก

หลิว จื้อจุน ตั้งเป้าหมายสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของจีนให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2551 จึงสั่งให้พนักงานของกระทรวงรถไฟทำงานตลอดเวลา และประกาศว่า “เพื่อให้บรรลุก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ จำเป็นต้องเสียสละคนทั้งรุ่น”

นอกจากโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว หลิวยังดูแลการอัปเกรดระบบรถไฟทั่วประเทศจีน และดูแลการสร้างเส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลก


รถไฟความเร็วสูงระบบแรกของจีนเสร็จสิ้นการทดสอบวิ่งครั้งแรกใน เดือนมิถุนายน 2551 มีค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณถึง 75 % แต่หลิวจื้อจุนกลับได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้สร้างความภาคภูมิใจของชาติ”

ความสำเร็จของรถไฟความเร็วสูงสายแรกของจีน ทำให้รัฐบาลจีนได้เพิ่มงบประมาณของกระทรวงการรถไฟเป็นสองเท่า ทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยจากวิกฤตซับไพรม์

ในปี 2553 งบประมาณของกระทรวงการรถไฟสูงกว่า 7 แสนล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทย 3.5 ล้านล้านบาท) ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ถึงกับบอกว่า “ระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน เป็นหลักฐานว่าโครงสร้างพื้นฐานของอเมริกาไม่ดีที่สุดในโลกอีกต่อไป”

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังมาดูงานรถไฟความเร็วสูงของจีน และจับมือนายหลิว จื้อจุน ในปี 2552


ผลงานของ นายหลิว จื้อจุน ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟนานถึง 8 ปี (2546-2554) ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีคนก่อนๆ จะอยู่ในตำแหน่งราว 5 ปีเท่านั้น โดยในช่วงการดำรงตำแหน่งของนายหลิว งบประมาณของกระทรวงการรถไฟเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์

แต่เบื้องหลัง “ความภาคภูมิใจ” ของผู้สร้างระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้นก็มีด้านมืด คือ
- ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่ถูกต้องกับบริษัทขนาดใหญ่
- การกดขี่เอาเปรียบแรงงาน
- การฉวยโอกาสหากำไรช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับบ้านในเทศกาลตรุษจีน
- อุบัติเหตุทางรถไฟที่เกิดขึ้นหลายครั้ง รวมถึงการเพิกเฉยต่อคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟของญี่ปุ่นที่ว่า รถไฟของนายหลิววิ่งด้วยความเร็วมากกว่ามาตรฐานความปลอดภัยในญี่ปุ่นถึง 25% ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุที่เมืองเวินโจว และหลังจากนั้นรถไฟความเร็วสูงของจีนทั้งหมดก็ถูกสั่งให้ลดความเร็วลง


นายหลิว จื้อจุน ยังถูกวิจารณ์เรื่องการจัดตำแหน่งระดับสูงภายในหน่วยงานการรถไฟให้กับ นายหลิว จื้อเสียง น้องชายของเขา ซึ่งต่อมาถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกง รับสินบน และวางแผนสังหารผู้รับเหมาที่ตั้งใจจะเปิดโปงการทุจริตของเขา

ก่อนจะถูกจับกุม หลิว จื้อเสียง สะสมทรัพย์สมบัติได้มากถึง 400 ล้านหยวนที่เป็นเงินสด อสังหาริมทรัพย์ 374 แห่ง เขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาได้รับการปรับโทษเป็นจำคุก

หลังจากน้องชายถูกจัดการ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หลิว จื้อจุน ก็ถูกคณะกรรมการตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ สอบสวนในข้อกล่าวหาว่า ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อรับสินบน, และยังวางแผนจะติดสินบนเพื่อให้ตัวเขาไปเข้าสู่โปลิตบูโร เขาถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีในทันที

ในระหว่างการสอบสวนกำลังดำเนินอยู่ ก็เกิดอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงที่เมืองเวินโจว มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐมนตรีหลิวถูกกล่าวหาเพิ่มเติมอีกว่ามีการทุจริตอย่างเป็นระบบและไร้ความสามารถในการบริหารกระทรวง ซึ่งพยายามปกปิดรายละเอียดของอุบัติเหตุแต่ไม่สำเร็จ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนทำให้ นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ต้องเดินทางไปยังที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง และประกาศกวาดล้างความฉ้อฉลในกระทรวงการรถไฟ

นายหลิว จื้อจุน
เดือนเมษายน 2556 นายหลิว จื้อจุน ถูกดำเนินคดีรับทรัพย์สินโดยผิดกฎหมายมากกว่า 64 ล้านหยวน, ใช้อำนาจในทางมิชอบ และมี "พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม" โดยพบว่าเขาสมรสซ้อนหลายครั้ง และมีเมียน้อยมากถึง 18 คน

นายหลิว จื้อจุน ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต จากนั้นได้รับการลดหย่อนโทษเป็น จำคุกตลอดชีวิต และยังอยู่ในเรือนจำจนถึงขณะนี้

กรณีอื้อฉาวนี้ทำให้กระทรวงการรถไฟต้องถึงคราวอวสาน แต่รัฐบาลจีนก็ไม่ได้ปกปิดแต่อย่างใด ใน พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนที่กรุงปักกิ่งยังมีป้ายรายชื่อของ อดีตรัฐมนตรี หลิว จื้อจุน แต่ได้บันทึกไว้ด้วยว่า “ได้รับโทษในคดีอาญา”

กำเนิดบริษัทก่อสร้างการรถไฟจีน

กระทรวงการรถไฟ อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ถูกสภาประชาชนแห่งชาติในยุคของ สี จิ้นผิง สั่งยุบทิ้งและแยกสลายกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ คือ China Railway Corporation ซึ่งเป็น “อภิมหาวิสาหกิจ” (Super conglomerates) มีบริษัทลูก-บริษัทหลาน ซับซ้อนหลายพันแห่ง


ปัจจุบัน China Railway Corporation อยู่ภายใต้การกำกับของ “คณะกรรมการกำกับและบริหารทรัพย์สินของรัฐ” ในสังกัดคณะรัฐมนตรีจีน

สำหรับบริษัท China Railway No.10 ซึ่งรับผิดชอบในการสร้างตึกของ สตง.เป็นบริษัทย่อยของ China Railway Engineering Corporation หรือก็คือ สำนักวิศวกรรม ของกระทรวงการถไฟในอดีต ซึ่งภายใต้ China Railway Engineering Corporation ก็ยังแยก “กองงาน” ที่เคยรับผิดชอบงานในภูมิภาคมณฑลต่างๆ ของจีน ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัท ตั้งแต่กองงานหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 25


สำหรับกองงานที่ 10 นั้นถูกแปรรูปมาเป็น China Railway No.10 ที่ร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียน ไทยฯ กลายเป็น ITD-CREC No.10 ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารของ สตง. รวมถึงอีกหลายโครงการอย่างรถไฟความเร็วสูงด้วย

ในประเทศจีน บริษัท China Railway No.10 จดทะเบียนจัดตั้งในเมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 มีบริษัทลูกมากกว่า 20 แห่ง มีพนักงานมากกว่า 14,000 คน


บริษัท China Railway No.10 เป็นผู้ก่อสร้างสถานีรถไฟและทางรถไฟหลายแห่งในประเทศจีน และยังรับเหมาก่อสร้างที่อยู่อาศัย, ทางหลวง, สะพาน, ท่าเรือ, เขื่อนพลังงานน้ำ, เหมืองแร่ นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงการในต่างประเทศ เช่น เบลารุส เวเนซุเอลา ซูดานใต้ ยูกันดา เคนยา ศรีลังกา ฯลฯ สร้างรายได้ต่อปีมากกว่า 30,000 ล้านหยวน

สะพานถล่มในเคนยา ผลงานฉาวก่อนสร้างตึก สตง.

แม้จะมีผลงานมากมาย แต่ China Railway No.10 ก็เคยเผชิญข้อครหาและคำวิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพการก่อสร้างในบางโครงการ โดยเฉพาะกรณีสะพานสิกีรี (Sigiri) ในเคนยา ที่ถล่มในปี 2560


สะพาน Sigiri ในประเทศเคนยา เป็นโครงการมูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 380 ล้านบาท) ซึ่ง China Railway No.10 ได้รับสัญญาให้ก่อสร้างร่วมกับ China Overseas Engineering Company (COVEC) โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2558 และมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อข้ามแม่น้ำ “โนโซเอีย” (Nzoia) หลังจากเกิดเหตุเรือล่มในปี 2557 ที่คร่าชีวิตผู้คน 11 ราย สะพานนี้จึงถูกมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่รัฐบาลเคนยาคาดหวังว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุ และพัฒนาการคมนาคมในภูมิภาค

ทว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 สะพาน Sigiri ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ได้พังถล่มลงมา (คล้ายกับกรณีอาคาร สตง.ของไทย) ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 27 ราย เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงและจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในเคนยา และต่างประเทศ


หน่วยงานของรัฐบาลเคนยาได้ส่งทีมวิศวกรเข้าไปสอบสวนสาเหตุของการถล่ม โดยมีการตรวจสอบทั้งด้านธรณีเทคนิค และโครงสร้าง พบว่าสาเหตุหลักเกิดจากการเรียงลำดับการเทคอนกรีตที่ผิดพลาด ซึ่งทำให้เกิดแรงที่ไม่สมดุล ส่งผลให้โครงสร้างไม่มั่นคงและพังทลายลงมา นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการออกแบบ และขั้นตอนการก่อสร้างที่เหมาะสม

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดข้อครหาต่อคุณภาพงานของ China Railway No.10 และบริษัทก่อสร้างจีนในแอฟริกา ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาว่ารัฐบาลเคนยาเร่งรัดโครงการเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพ มีการทุจริตในการประกวดราคา นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกแบบและการใช้วัสดุ เช่น การที่มีเสาค้ำน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับน้ำหนักของสะพาน และคอนกรีตยังไม่แข็งตัวเต็มที่เนื่องจากความรีบเร่งในการก่อสร้าง

ด้าน China Railway No.10 ยอมรับความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง โดยสัญญาว่าจะชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บาดเจ็บ และรับผิดชอบการซ่อมแซมสะพาน แต่ปฏิเสธว่าเป็นความผิดพลาดจากฝั่งบริษัทเพียงฝ่ายเดียว โดยอ้างว่าอาจมี “การจงใจทำลาย” สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของเคนยา และของบริษัท

สรุป นับตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำจีนเมื่อปี 2556 ได้ชูนโยบายปราบคอร์รัปชัน ได้ยุบ-แยกสลาย กระทรวงการรถไฟจีน ซึ่งมีทรัพย์สินมหาศาล แต่ก็มีทุจริตฉ้อฉลอย่างมากมายเช่นกัน


การกระจายอำนาจและทรัพยากรเช่นนี้ทำให้การทุจริตลดน้อยลงในเชิงทฤษฎี แต่พอหน่วยราชการต้องแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจ-บริษัท ก็ต้องหารายได้ ทำกำไร และยังต้องตอบสนองต่อนโยบายยุทธศาสตร์อย่าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ด้วย

นี่ก็คือสาเหตุที่บริษัทรถไฟจีนต้องไปทำมาหากินในต่างแดน ซึ่งรัฐบาลจีนก็ยากที่จะควบคุมได้เหมือนสมัยเป็นหน่วยราชการ สิ่งที่ทำไม่ได้ในเมืองจีน แต่กลับทำได้ในต่างแดน ของคุณภาพต่ำที่ขายไม่ได้ในเมืองจีน แต่กลับขายได้ในต่างแดน

ตึก สตง.ที่ถล่มราพณาสูร คือซากปรักหักพังจากระบบราชการไทยที่ทุจริตอย่างใหญ่หลวง ถึงขนาดที่ทำให้รัฐวิสาหกิจที่ยิ่งใหญ่ของจีน กลายเป็น “จีนเทา” ไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น